Roojai

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบไร้สัญญาณเตือน ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกหัก

โรคกระดูกพรุน ผู้สูงอายุเสี่ยงกระดูกหักง่าย | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

ทราบหรือไม่ว่า โรคกระดูกพรุนเป็นมหันตภัยเงียบที่องค์การอนามัยโลก WHO ให้ความสำคัญ โดยรายงานว่าพบผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขติดอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 1 ใน 3 ของผู้หญิง 1 ใน 8 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน และโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ จนกระทั่งกระดูกหักจึงรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

มวลกระดูกจะมีความหนาแน่นที่สุดในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ความหนาแน่นของกระดูกจะเริ่มลดลง โดยการสลายของกระดูกจะเร็วกว่าการสร้างกระดูกเมื่อเทียบกับวัยเด็ก ทำให้กระดูกเริ่มบางลงและอ่อนแอจนเข้าสู่ภาวะโรคกระดูกพรุน วิธีการรักษากระดูกเปราะหรือกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนรักษาหายไหม วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง อ่านด้านล่างเลย

โรคกระดูกพรุน คืออะไร?

กระดูกพรุน (Osteoporosis) กระดูกพรุน เกิดจากภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกเริ่มลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง กระดูกเปราะแตกหักง่ายแม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย โดยมักจะไม่มีอาการเตือนใด ๆ ส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวก็ตอนที่กระดูกหักไปแล้ว สิ่งที่ควรทราบคือ โรคกระดูกพรุนไม่ได้เป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น คนอายุน้อย ๆ ก็มีสิทธิ์เป็นได้หากไม่ดูแล

สำหรับใครที่รู้ตัวหรือสงสัยว่า อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ควรเข้ารับการคัดกรองภาวะกระดูกพรุน จะช่วยให้รู้ทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และจะสามารถป้องกันและหาทางรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

การตรวจหาความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะจะช่วยให้ทราบได้ว่า สุขภาพของกระดูกนั้นมีความแข็งแรงอยู่ในระดับใด มีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ 

ทำไมโรคกระดูกพรุนถึงน่ากลัว?

ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของโรคกระดูกพรุน ซึ่งกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุน มากกว่า 200 ล้านคน โดยผู้หญิงจะเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกิดจากการที่ไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ หากไม่ตรวจคัดกรอง กว่าจะรู้ตัวคือต้องเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กระดูกหัก และค่ารักษาโรคนี้สูงเฉลี่ยราว 300,000 บาทต่อคน/ปี (ที่มา: dmh.go.th) และสิ่งที่อันตรายที่สุดของโรคนี้ คือ หากล้มแม้แต่ครั้งเดียว หรือแค่ล้มเบา ๆ ก็เสี่ยงกระดูกหัก เช่น กระดูกสะโพกหัก กระดูกซี่โครงหัก กระดูกข้อมือหัก ซึ่งเสี่ยงทั้งกลับมาเดินไม่ได้ พิการ และเสียชีวิต

กระดูกพรุน เกิดจากอะไร | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

การคัดกรองโรคกระดูกพรุน โดยการตรวจวัดมวลกระดูก

การตรวจมวลกระดูก จะช่วยทำให้สามารถทราบได้ว่า กระดูกในร่างกายของเรายังสมบูรณ์ดีหรือไม่ และสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก คือ 

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 
  • ผู้ที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี 
  • ผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
  • ผู้ชายที่อายุไม่ถึง 50 ปี แต่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคตับ โรครูมาตอยด์
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ไม่โดนแดด ทำให้ขาดวิตามินดี 
  • ผู้ที่น้ำหนักตัวน้อยจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินดีและแคลเซียม
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ 

อาการโรคกระดูกพรุน

อาการโรคกระดูกพรุนในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่พอกระดูกเริ่มอ่อนแอลง อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • ปวดหลัง เนื่องจากกระดูกสันหลังหักหรือยุบตัว
  • ความสูงลดลง 
  • หลังโก่ง หรือเริ่มเดินตัวตรงไม่ได้
  • คนเป็นโรคกระดูกพรุนเสี่ยงอุบัติเหตุที่บาดเจ็บหนัก เพราะกระดูกแตกหักง่ายมาก แม้จะเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย

กระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะ มักไม่แสดงอาการ ทำให้หลายคนไม่รู้หากไม่หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ มารู้อีกทีในวันที่เกิดอุบัติเหตุจนแค่ล้มเบา ๆ ก็เสี่ยงแขนขาหัก ดีกว่ามั้ยถ้ามีประกันอุบัติเหตุมาช่วยลดความเสี่ยงทางการเงิน ป้องกันเงินในกระเป๋าคุณไม่ให้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ที่รู้ใจมีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ปรับแผนเองได้ตามใจ คุ้มครองคุณทุกไลฟ์สไตล์

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

  1. ความผิดปกติในด้านการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไต และตับ
  2. โรคและอาการเจ็บป่วยต่าง เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก

5 อาหารใกล้ตัว ยิ่งกินยิ่งเสี่ยงกระดูกพรุน

รู้มั้ย? มีอาหารบางชนิดที่ยิ่งเรากินยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน อาหารเหล่านี้จะทำให้ระบบทางเดินอาหารของเราดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และยังเพิ่มการขับแคลเซียวออกทางปัสสาวะอีกด้วย โดยอาหารเหล่านี้ได้แก่ น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากลดหรือหลักเลี่ยงได้ก็จะทำให้ความเสี่ยงกระดูกพรุนน้อยลง (ที่มา: รพ.นวเวช)

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

ปกติแล้ว กระดูกในร่างกายของเราจะมีการสร้างมวลกระดูกขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการสร้างมวลกระดูกขึ้นมาใหม่ กระดูกเก่าก็จะสลายหายไปตามกลไกของร่างกาย ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่นเป็นช่วงที่กระดูกมีการสร้างใหม่อย่างรวดเร็ว แต่พอหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป กระบวนการสร้างกระดูกอาจจะช้าลงตามอายุ ทำให้มีแนวโน้มของการเกิดโรคกระดูกพรุน และยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกดังนี้

  • เพศ – เพศหญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย
  • อายุ – อายุที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
  • เชื้อชาติ พันธุกรรม – ชาวผิวขาวจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าชาวผิวดำ ชาวเอเชียจะมีการเก็บสะสมเนื้อกระดูกได้มากกว่าชาวผิวขาว แต่ก็ยังน้อยกว่าชาวผิวดำ
  • ประวัติครอบครัว – หากมีประวัติคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ เป็นโรคนี้มาก่อน ลูกจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่มีประวัติ
  • ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายได้รับและเก็บไว้ – เช่น วัยรุ่น 10-19 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นต้น
  • สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก – สารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก มีดังนี้ โปรตีนฟลูออไรด์ แมกนีเซียมและโพแทสเซียม
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต – การขาดการออกกำลังกาย กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ 
วิธีรักษาโรคกระดูกพรุน | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

โรคกระดูกพรุน รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง?

สำหรับวิธีรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีหลายวิธี เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่าง 

  1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต 
  2. การจัดตารางออกกำลังกาย ให้มีกิจกรรมที่ทำกลางแจ้งให้ร่างกายได้โดนแดดบ้าง
  3. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีหลายกลุ่มที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการสลายของกระดูก การรับฮอร์โมน และการให้เเร่ธาตุเสริมต่าง ๆ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา และที่สำคัญอาจส่งผลข้างเคียงกับผู้ป่วยได้ 

การป้องกันกระดูกพรุน

การหลีกเลี่ยงและป้องกันกระดูกพรุน อาหารที่รับประทานเป็นส่วนสำคัญต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน และออกกำลังกาย สำหรับด้านโภชนาการจะขออธิบายดังนี้

1. แคลเซียม

สำหรับเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-50 ปี ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการต่อวันประมาณ 1,000 มล. เพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเพศชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ต้องเพิ่มปริมาณแคลเซียมต่อวันเป็น 1,200 มล.ต่อวัน ซึ่งแคลเซียมนั้นมาจากอาหารต่าง ๆ ดังนี้ 

  • นมไขมันต่ำ
  • ผักใบเขียว
  • แซลมอน 
  • น้ำเต้าหู้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง
  • ซีเรียลเสริมแคลเซียม

แต่หากไม่อยากยุ่งยากในการจัดหาอาหารให้ครบคุณค่าทางโภชนาการ การรับประทานอาหารเสริมอย่างแคลเซียม ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องระวังเรื่องร่างกายได้รับแคลเซียมมากจนเกินไป อาจส่งผลต่อนิ่วในไต ยิ่งในคนที่มีโรคประจำตัวก่อนการซื้ออาหารเสริมกินเองควรปรึกษาแพทย์

2. วิตามินดี

วิตามินดีมีอยู่ในแสงแดดยามเช้า วิตามินดีจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมแคลเซียม ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง แหล่งวิตามินดีที่นอกจากในแสงแดดแล้ว ยังสามารถหาวิตามินดีได้จากอาหาร เช่น น้ำมันตับปลา ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ นม และธัญพืชทั้งหลาย 

คนส่วนใหญ่ร่างกายต้องการวิตามินดีอย่างน้อย 600 IU/วัน หากใครที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป อาจต้องเพิ่มปริมาณเป็น 800 IU/วัน ปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับใครที่อยากจะลองกินวิตามินดี ไม่ควรเกิน 600-800 IU/วัน 

3. การออกกำลังกาย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วถึงเรื่องการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง รวมถึงทำให้กระดูกแข็งแรงและช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ด้วย การหลีกเลี่ยงกระดูกพรุน ออกกําลังกายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ โดยต้องมีการผสมกันระหว่างคาร์ดิโอกับเวทเทรนนิ่ง เช่น เช้าเดินออกกำลังกาย 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงบ่ายอีก 30 นาที ทำเวทเทรนนิ่งเองที่บ้าน การออกกำลังกายจะเป็นการฝึกความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของเรา ทั้งเรื่องของการสร้างกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่จะมาช่วยข้อต่อในร่างกายของเราในการรับน้ำหนัก กล้ามเนื้อยังสามารถช่วยพยุงหลังของเราได้ดีอีกด้วย 

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

แคลเซียม แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในร่างกาย โดยเฉพาะในกระดูกและฟัน รับเข้าร่างกายโดยการทานอาหาร
วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองใต้ชั้นผิวหนังด้วยการกระตุ้นจากแสงแดดโดยเฉพาะตอนเช้าหรือรับจากการทานอาหาร มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย เช่น ช่วยร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสโฟรัส