Roojai

8 ความเชื่อผิดๆ ของการกินยาฆ่าเชื้อ กินผิดเสี่ยงดื้อยา!

ความเข้าใจผิดของการกินยาฆ่าเชื้อ | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

ช่วง Green Season แบบนี้ อากาศชื้นฝน ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยกันค่อนข้างเยอะพอสมควร การรับประทานยาเพื่อลดอาการไข้นั้น เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกบ้านหรือทุกคนเข้าใจ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องของการรับประทานยาแบบไม่ถูกต้องอยู่ เช่น การกินยาแก้อักเสบแทนยาฆ่าเชื้อ เพราะคิดว่ามันกินทดแทนกันได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการกินยาฆ่าเชื้ออีกหลายข้อ ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการกินยาไม่ถูกต้องและเกิดอาการแพ้อาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ บทความนี้เรามาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันใหม่เกี่ยวกับยาฆ่าเชื้อกัน

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

“ยา”  เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ช่วยในการรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคและอาการป่วยต่าง ๆ ทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นตามฤทธิ์และสรรพคุณของยา เช่น ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดความดันโลหิต รักษาการติดเชื้อ ฯลฯ  หลักการใช้ยานั้น ควรใช้ยาอย่างถูกวิธี ตามขนาดและระยะเวลาของการรักษา ที่เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำ 

แต่หลายครั้งที่ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ รวมถึงความเชื่อผิด ๆ อาจส่งผลให้การใช้ยาก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เกิดผลข้างเคียงเนื่องจากได้รับยาเกินขนาดหรือยาหลายตัวออกฤทธิ์ต้านกัน อาจเกิดอาการแพ้ยา ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงถึงแก่ชีวิต หรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บจากยา โดยเฉพาะตับ ไต กระเพาะอาหาร และสมอง

ความแตกต่างของยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อ | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบต่างกันยังไง?

เมื่อเราเจ็บป่วย มักจะเจอยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบอยู่บ่อย ๆ รวมถึงบางคนอาจเชื่อผิด ๆ ว่าทั้งสองคือชนิดเดียวกัน กินแทนกันได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบต่างกัน ดังนี้

1. ยาแก้อักเสบ

ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่ใช้เพื่อลดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งการอักเสบนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือโรคบางชนิด ยาแก้อักเสบช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และลดความร้อนในบริเวณที่มีการอักเสบ ยาแก้อักเสบแบ่งเป็นสองประเภทหลัก

  • ยาสเตียรอยด์ (Steroidal Anti-inflammatory Drugs)  ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ซึ่งใช้ในการลดการอักเสบที่รุนแรงหรือเรื้อรัง
  • ยาไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) ยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งมักใช้ในการลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่รุนแรง

2. ยาฆ่าเชื้อ

ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) เป็นยาที่ใช้ในการฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อมีหลายประเภทที่ออกฤทธิ์แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค เช่น ยาฆ่าเชื้อเมื่อท้องเสีย     ยาฆ่าเชื้อเมื่อเจ็บคอ เป็นต้น โดยยาฆ่าเชื้อสามารถแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น

  1. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาฆ่าเชื้ออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) เพนิซิลลิน (Penicillin) ที่มุ่งเน้นการกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
  2. ยาฆ่าเชื้อรา เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อรา
  3. ยาฆ่าเชื้อไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด

สรุปได้ว่า ยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อมีบทบาทในการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้เหมาะสมกับประเภทของโรคและอาการที่พบ โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

8 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าเชื้อที่อาจทำร้ายตัวเองอยู่!

การใช้ยาฆ่าเชื้อ แก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะยังคงเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน ซึ่งการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้ตับและไตทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวได้ ต่อไปนี้คือความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าเชื้อ

1. ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบมีสรรพคุณเหมือนกัน

ยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ในขณะที่ยาแก้อักเสบช่วยลดการอักเสบ ลดไข้ และบรรเทาอาการปวด ดังนั้นยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ 2 ชนิดนี้จึงมีสรรพคุณและหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่สามารถใช้แทนกันได้

กินยาฆ่าเชื้อแทนยาแก้อักเสบได้หรือไม่ | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

2. เป็นไข้หวัดกินยาฆ่าเชื้อช่วยได้

ไข้หวัดและอาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อโดยตรง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไข้หวัด 70-80% เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งต้องการเพียงยารักษาตามอาการ การใช้ยาฆ่าเชื้อในกรณีนี้จึงไม่ช่วยเท่าไหร่ ยกเว้นในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งต้องให้แพทย์วินิจฉัยก่อน

3. ยาฆ่าเชื้อไม่อันตราย ซื้อกินเองได้

การซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองอาจเสี่ยงต่อการแพ้ยา เกิดโรคแทรกซ้อน หรือแม้กระทั่งการดื้อยา นอกจากนี้ยังอาจทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดีในร่างกาย ดังนั้นควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ว่ามีผลข้างเคียงของยาฆ่าเชื้อหรือไม่ หรือยาฆ่าเชื้อควรกินตอนไหน เพราะยาฆ่าเชื้อบางชนิดกินก่อนหรือหลังอาหารต่างกัน และต้องทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ภัยใกล้ตัว! ดื้อยา คืออะไร? อันตรายแค่ไหน?

หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับคำว่า “ดื้อยา” โดยคิดว่าร่างกายของเราเป็นฝ่ายดื้อยา แต่ความจริงแล้ว “ดื้อยา” หมายถึงการที่เชื้อโรคดื้อต่อยาที่ใช้รักษา ซึ่งเรียกว่า “เชื้อดื้อยา” ซึ่งอันตรายมากกว่าที่คิดเพราะ หากเกิดเชื้อดื้อยาแล้ว ยาฆ่าเชื้อที่เคยใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้อีกต่อไป แพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพด้อยกว่า มีผลข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเดิม แล้วหากดื้อแล้วดื้ออีกก็จะรักษายากขึ้นหรือไม่มียาที่สามารถรักษาได้อีก

4. พอหายป่วยแล้วสามารถหยุดยาฆ่าเชื้อเองได้

หลายคนอาจสงสัยว่ายาฆ่าเชื้อ กินกี่วัน? คำตอบคือแพทย์ต้องเป็นคนกำหนดจำนวนวันรวมถึงปริมาณที่ทาน และการหยุดยาฆ่าเชื้อก่อนที่แพทย์กำหนดอาจทำให้เชื้อโรคถูกกำจัดไม่หมด ทำให้เกิดการดื้อยาได้ในอนาคต ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด

5. ยาฆ่าเชื้อเก็บไว้กินทีหลังได้ ฆ่าเชื้อได้ทั้งร่างกาย

การเก็บยาฆ่าเชื้อไว้ใช้ในภายหลังอาจไม่ได้ผล เพราะการติดเชื้อแต่ละครั้งเกิดจากเชื้อที่แตกต่างกัน ยาฆ่าเชื้อแต่ละตัวก็มีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ยาฆ่าเชื้อต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

6. กินยาเยอะ ๆ จะได้หายเร็ว ๆ

การกินยาเยอะเกินไปหรือ Overdose ไม่ว่าจะยาฆ่าเชื้อหรือยาอื่น ๆ ด้วยความตั้งใจ หรือความเผลอหรือมีความคิดที่ว่ายิ่งกินยาเยอะ ยิ่งหายไว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ การรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์จึงสำคัญ

7. แบ่งยากับคนอื่น แม้เป็นโรคเดียวกันก็ไม่ควรทำ

หลายครั้งที่เราหายจากโรคแล้ว แต่ยังมียาเหลืออยู่ จึงแบ่งยาให้กับคนอื่นที่มีอาการคล้ายกัน สิ่งนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว การทำงานของตับและไต รวมถึงน้ำหนักตัว ล้วนส่งผลต่อชนิดและขนาดของยาที่เหมาะสม การแบ่งยาจึงอาจทำให้ผู้รับยาได้รับผลกระทบที่ไม่คาดคิด

นอกจากนี้ การแบ่งยาของผู้ใหญ่ให้เด็กโดยใช้วิธีแบ่งครึ่งเม็ดยานั้นอันตรายมาก เนื่องจากระบบร่างกายของเด็กตอบสนองต่อยาต่างจากผู้ใหญ่ และการได้รับยาเกินขนาดเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อเด็กได้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ก็ไม่ควรรับประทานยาของผู้อื่นโดยเด็ดขาด

8. การกินยากับเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

การกินยาให้ได้ผลดีที่สุด ควรกินกับน้ำเปล่าที่สะอาด เพราะการกินยาร่วมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและลดประสิทธิภาพของยาได้ ส่วนยาฆ่าเชื้อ ห้ามกินกับอะไร ต้องอ่านด้านล่างนี้เลย

Q: กินยากับนมได้มั้ย?

A: ไม่ควรเพราะแคลเซียม โปรตีน และเหล็กในนมอาจจับกับตัวยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะและยาลดกรด ทำให้การดูดซึมยาลดลงและยาไม่ออกฤทธิ์เต็มที่

Q: กินยากับกาแฟได้มั้ย? 

A: คาเฟอีนในกาแฟกระตุ้นระบบประสาท หากกินร่วมกับยาที่กระตุ้นระบบประสาทเช่นกัน อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเป็นลมได้

Q: กินยากับน้ำผลไม้ได้มั้ย?

A: น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว อาจเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้องหากกินร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะ นอกจากนี้ยังอาจรบกวนการดูดซึมของยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงและยารักษาโรคภูมิแพ้

Q: กินยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มั้ย?

A: ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและปัสสาวะมากขึ้น หากกินร่วมกับยาขยายหลอดเลือดหรือยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำและมึนงง การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับอักเสบหรือตับแข็ง และทำให้ตับได้รับความเสียหายมากขึ้นเมื่อกินยาหลายชนิด

Q: กินยากับน้ำอัดลมได้มั้ย? 

A: มีกรดและน้ำตาลสูง ซึ่งอาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดและยาขยายหลอดลม

ความเข้าใจผิดเหล่านี้อาจดูเล็กน้อย แต่ผลกระทบต่อสุขภาพอาจรุนแรงกว่าที่คิด หากเกิดอาการไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ควรซื้อยากินเอง ไม่ใช่แค่ยาฆ่าเชื้อ แต่ยังรวมถึงยาทุกประเภท ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

อาการดื้อยา อาการดื้อยา คือ อาการที่เกิดจากเชื้อโรคมีความทนต่อฤทธิ์ของยาที่เคยใช้ได้ผลในการฆ่าเชื้อโรคชนิดนั้นมาก่อน โดยอาจต้องปรับตัวยาที่แรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
สเตียรอยด์ สเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้เองแต่ในปริมาณเล็กน้อย เพื่อช่วยในการทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ จะต่างจากสเตียรอยด์สังเคราะห์ โดยสเตียรอยด์สังเคราะห์มักถูกสรัางขึ้นจากห้องแล็บ เพื่อเลียนแบบสเตียรอยด์ธรรมชาติ ให้ผลการรักษาโรคได้ดีและเร็ว แต่จะส่งผลต่อสุขภาพและเป็นอันตรายมากกว่า