สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว คงจะศึกษาการเตรียมตัวก่อนขึ้นเครื่องบินอย่างดี ถึงเรื่องของเงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ในการนำสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน หรือโรคบางโรคที่ยังไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบิน แต่สำหรับมือใหม่หัดเที่ยวห้ามลืมเช็คโรคที่ควรเฝ้าระวังและอาการของโรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบินเด็ดขาด ซึ่งในบทความนี้เราจะรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ยังไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้มาให้ได้ทราบกัน เพื่อเตรียมตัวท่องเที่ยวช่วงเทศกาลหยุดยาวต่างๆ
1. โรคหัวใจ | 8. โรคติดเชื้อ |
2. ผู้ที่ผ่าตัดบายพาหลอดเลือดหัวใจ | 9. โรคหลอดเลือดสมอง |
3. โรคความดันโลหิตสูง | 10. โรคลมชัก |
4. โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ | 11. โรคโลหิตจาง |
5. โรคหืด | 12. โรคเบาหวาน |
6. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง | 13. โรคทางจิตเวช |
7. โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด | 14. ผู้ป่วยผ่าตัด |
ก่อนดูโรคที่ควรเฝ้าระวังเมื่อขึ้นเครื่องบินต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า อากาศหรือออกซิเจนที่เราหายใจภายในห้องโดยสารเครื่องบินนั้น เป็นระบบหมุนเวียนอากาศ ลองนึกภาพดูว่า หากมีผู้โดยสารหนึ่งคนที่เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ผ่านทางการสูดดม นั่นน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ ๆ
เอายาขึ้นเครื่องได้ไหม? คือคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่งการเดินทางสามาถนำยาขึ้นเครื่องบินได้และจำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวทุกคนที่ต้องมีการเตรียมตัวก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยทริคสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรพกยาไปด้วย และหากคุณแยกยาออกจากถุงใหญ่ ควรถ่ายรูปถุงใส่ยาด้วย เพราะจะดีกว่าการจดชื่อยาแล้วเดินทางไปต่างประเทศ เพราะตัวยาบางตัวอาจหาซื้อไม่ได้ตามร้านขายยา จำเป็นต้องซื้อที่โรงพยาบาลเท่านั้น การนำรูปถุงยาที่มีชื่อนามสุกลของเรา รวมถึงชื่อสถานพยาบาลจะทำให้สามารถยืนยันได้ว่าเราเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับยาชนิดนี้จริง ๆ เมื่อรู้ทริคแล้ว เรามาดูกันว่า มีโรคที่ควรเฝ้าระวังก่อนขึ้นเครื่องบินหรืออาการของโรคโรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบิน มีอะไรบ้าง?
1. โรคหัวใจ
สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจล้มเหลว ควรตรวจร่างกายก่อนเดินทาง โดยต้องไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือไม่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนขึ้นเครื่องบิน หากมีอาการของโรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบินโดยเด็ดขาด แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางจริง ควรรอให้อาการต่าง ๆ หายไป และรับการตรวจร่างกายโดยให้แพทย์ลงความเห็นว่าสามารถเดินทางได้เเล้วเท่านั้น
2. ผู้ที่ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ
สาเหตุที่ต้องระวังผู้ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพราะการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอากาศในโพรงช่องหน้าอก จึงควรรอให้อากาศถูกดูดซึมไปให้หมดก่อน หรือภายใน 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และควรเตรียมยาติดไว้ในกระเป๋าขึ้นเครื่อง ตรวจดูปริมาณยาให้เพียงพอต่อการเดินทางทั้งตอนที่อยู่บนเครื่องและระหว่างทริปทั้งหมด และควรจดชื่อยาหรือถ่ายรูปหน้าถุงยาทั้งหมดเอาไว้ กรณีเกิดทำยาหายระหว่างการท่องเที่ยว จะได้หาซื้อยามาทดแทนได้
3. โรคความดันโลหิตสูง
สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถขึ้นเครื่องบินได้ แต่ต้องคอยควบคุมความดันโลหิตโดยการรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากความดันไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรงดหรือเลื่อนการเดินทางด้วยเครื่องบินออกไปก่อน และควรเตรียมยาขึ้นเครื่องบิน ไปด้วยให้พอกับระยะเวลาเดินทาง
4. โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณขา
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มักจะเกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่อุดกั้นหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด
ผู้โดยสารเครื่องบินมักจะประสบปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายในกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งจากการศึกษาของ WHO รายงานไว้ว่า ความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำนั้น จะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าหลังจากการโดยสารเครื่องบินนานกว่า 4 ชั่วโมง
5. โรคหืด
สำหรับโรคหืดกรณีที่มีอาการรุนแรงไม่สามารถควบคุมได้ หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล เป็นอาการของโรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบิน แต่หากอาการไม่รุนแรง มีการปรึกษาแพทย์ และแพทย์อนุญาตให้เดินทางได้ ควรเตรียมยาติดตัวไปด้วย โดยเฉพาะยาพ่น
6. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ผู้ป่วยปอดอุดกั้น มักจะมีอาการเมื่ออยู่ในภาวะพร่องออกซิเจนหรือการที่ร่างกายภาวะพร่องออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ยิ่งโดยสารเครื่องบินด้วยแล้ว อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ หากจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบินจริง ๆ ควรพกยาขยายหลอดลม และแจ้งให้ทางสายการบินทราบถึงอาการเจ็บป่วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมอุปกรณ์เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
7. โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด คือภาวะที่มีลมค้างในช่องเยื่อหุ้มปอด ส่งผลให้กระบวนการหายใจผิดปกติ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใส่ท่อระบายลมออกจากปอด หลังจากนั้น ควรต้องรอให้ปอดขยายตัวเต็มที่อย่างน้อย 7 วัน โดยการ x-ray ปอดก่อนการเดินทาง
8. โรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อหรือติดต่อไปยังผู้อื่นได้ เป็นโรคที่ห้ามขึ้นเครื่องบินโดยเด็ดขาด เนื่องจากการแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นระหว่างโดยสารเครื่องบิน และนั่งอยู่ในพื้นที่ปิดเดียวกันในห้องโดยสาร ซึ่งมักจะมีการไอหรือจามเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ควรเลื่อนการเดินทางออกไป จนกว่าสุขภาพจะกลับมาปกติ โรคติดเชื้อเช่น อีสุกอีใส โรคหัด โรคคางทูม โรคไอกรน โรคงูสวัด เป็นต้น
9. โรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ได้แก่ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ ภาวะเลือดออกในสมอง และภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เซลล์สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เมื่อโดยสารเครื่องบินภาวะบกพร่องออกซิเจนจะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้อาการกำเริบ ฉะนั้น ก่อนการเดินทางควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และควรให้ร่างกายอยู่ในอาการคงที่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง
10. โรคลมชัก
โรคลมชักอาการมักจะกำเริบได้ง่ายหากอยู่ในสถานที่ที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือในภาวะออกซิเจนบกพร่อง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย วิตกกังวลและรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลา ควรพบแพทย์เพื่อทำการเตรียมยายาขึ้นเครื่องบินไปด้วย หรืออาจเพิ่มโดสยา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าสามารถควบคุมอาการตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน และ ไม่ควรเดินทางหลังจากมีอาการชัก หมดสติ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
11. โรคโลหิตจาง
ในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง ร่างกายจะมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายลดลง เสี่ยงต่อภาวะพร่องออกซิเจนบนเครื่องบิน และ ไม่ควรขึ้นเครื่องบิน หากปริมาณฮีโมโกลบินน้อยกว่า 7.5 กรัม/เดซิลิตร
12. โรคเบาหวาน
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เรื่องการโดยการเครื่องบินอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักอาจอยู่ที่เวลาที่แตกต่างกันของประเทศนั้น ๆ มากกว่า ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับประทานยาเบาหวาน รวมไปถึงประเภทของอาหารก็มีสิทธิส่งผลกระทบต่อโรคได้เช่นกัน ผู้ป่วยควรเตรียมยาไปให้พร้อม ทั้งยารับประทานและยาฉีด รวมถึงการแจ้งทางสายการบินเรื่องโรคประจำตัว อาการเจ็บป่วย และอาหารที่ต้องระวัง
13. โรคทางจิตเวช
ก่อนการเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องได้รับคำรับรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนว่า อาการสงบแล้วหรือยัง สามารถเดินทางได้แล้วใช่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้โดยสารคนอื่น ๆ โดยแพทย์อาจสั่งยานอนหลับหรือยาระงับประสาทให้กินระหว่างการเดินทาง
14. ผู้ป่วยผ่าตัด
แผลจากการผ่าตัดอาจมีอากาศหรือก๊าซหลงเหลืออยู่ เช่น การผ่าตัดช่องท้องและทางเดินอาหาร การผ่าตัดกะโหลกศีรษะและใบหน้า รวมถึงการผ่าตัดตาที่เกี่ยวข้องกับลูกตา ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา และแพทย์จะอนุญาติให้ขึ้นเครื่องได้ต่อเมื่ออาการต่าง ๆ เริ่มคงที่
นอกเหนือจากอาการดังกล่าวที่ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นเครื่องบินแล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยอาการอื่น ๆ ที่ยังไม่ควรโดยสารเครื่องบิน
- ผู้ป่วยโรคตาบางชนิด อาทิ จอประสาทตาร่อนน้อยกว่า 3 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง ต้อหินกำเริบ โรคกระจกตาอักเสบที่แผลยังไม่หายสนิท
- ไซนัสหรือโรคหูอักเสบเฉียบพลัน
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดหูไม่ถึง 3 เดือน
- โรคที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เป็นเงื่อนไขต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน
- ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง
- ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ยังต้องรอดูอาการแทรกซ้อน
- ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดข้อมายังไม่ถึง 7 วัน
- ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการใส่เฝือกใหม่ ๆ
- ผู้ป่วยที่มีแผลขนาดใหญ่ แผลไฟไหม้ หรือแผลจากน้ำร้อนลวกที่อาการยังไม่ดี
- ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อาจอาการทรุดระหว่างการเดินทาง
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)