เมื่อได้ยินคำว่า “น้ำเหลือง” ฟังดูแล้วน่าขนลุกและไม่น่าฟังต่อสักเท่าไหร่ เพราะมันมักจะถูกจินตนาการไปถึงเรื่องผีบ้าง ไม่ก็เรื่องบาดแผลเรื้อรังบ้าง แค่เกริ่นมาแค่นี้ก็ชักจะไม่น่าอ่านต่อแล้ว แต่รู้ใจอยากให้คุณอ่านต่อ เพราะวันนี้เราจะมาให้ความรู้กันถึงเรื่องของน้ำเหลืองในร่างกายของเรา ประโยชน์ของน้ำเหลืองที่มีต่อร่างกาย และโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำเหลือง อย่างที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าน้ำเหลืองไม่ดี ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการที่ปรากฏ รวมไปถึงว่าหากต่อมน้ำเหลืองอักเสบ อาการร้ายแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่
คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าน้ำเหลืองในร่างกายของเรา ทำหน้าที่อะไรและมันมีประโยชน์อะไรต่อร่างกาย ในคนที่มีภาวะบวมน้ำเหลืองเกิดจากสาเหตุอะไร ก่อนที่เราจะไปลงรายละเอียดในเรื่องของอาการภาวะบวมน้ำเหลือง เราขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของน้ำเหลืองก่อนดังนี้
น้ำเหลือง หรือ Lymphatic System
คือ หนึ่งในระบบการทำงานย่อยของระบบไหลเวียนโลหิต มีหน้าที่ลำเลียงสาร เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสารและก๊าซต่าง ๆ และยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา หน้าที่ที่สำคัญน้ำเหลือง คือ เป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และยังช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายของเรา รวมทั้งยังนำของเหลวที่ซึมออกมาจากหลอดเลือดฝอยส่งกลับเช้าสู่หลอดเลือดดำในระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งการอุดตันของการไหลเวียนน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดอาการบวมขึันมาได้
ภาวะบวมน้ำเหลือง หรือ Lymphedema
คือภาวะที่มีการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองในชั้นใต้ผิวหนัง ที่เกิดจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกันอุดตันหรือถูกทำลาย สามารถเกิดขึ้นได้ที่บริเวณแขน ขา ใบหน้า ลำคอ หน้าท้อง และอวัยวะเพศ
อาการบวมจากการคั่งของน้ำเหลืองอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อรักษาโรคมะเร็ง อาการบวมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน หรืออาจจะค่อย ๆ บวมขึ้นในช่วง 2-3 เดือนหลังการผ่าตัด ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่แน่ชัด หากตรวจพบเร็ว และได้มีการดูแล รักษา อย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการไม่ให้แย่ลงได้
สาเหตุของการเกิดภาวะบวมน้ำเหลือง
- เกิดจากหลังการผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง เช่น ผ่าตัดมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ และภายหลังการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบ รักแร้
- ผิวหนังเกิดการติดเชื้อ และอักเสบรุนแรง และเป็นซ้ำ ๆ ในจุดเดิม
- ได้รับอุบัติเหตุจนเกิดแผลที่ลึก
- ภาวะหลอดเลือดดำขอดหรือตีบตันบริเวณขา
- เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือมีความผิดปกติของท่อน้ำเหลืองตั้งแต่เกิด
และภาวะบวมน้ำเหลือง ยังอาจเกิดในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น จากการทำงาน โรคอ้วน น้ำหนักเกิน และโรคข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ และโรคสะเก็ดเงินที่นำมาซึ่งภาวะข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ภาวะบวมน้ำเหลือง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทปฐมภูมิ และประเภททุติยภูมิ ซึ่งภาวะทุติยภูมิ เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด
ภาวะบวมน้ำเหลืองปฐมภูมิ (Primary Lymphedema)
ภาวะนี้เป็นประเภทที่พบได้ยาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติในระบบน้ำเหลืองเอง ไม่มีโรคอื่นหรือภาวะอื่น ๆ มาทำให้เกิดขึ้น มักจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับความผิดปกติของพัฒนาการของท่อส่งน้ำเหลือง ซึ่งสามารถเเบ่งย่อยได้ดังนี้
- โรค Milroy’s Disease เป็นภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองมีความผิดปกติตั้งแต่เเรกเกิด
- โรค Meige’s Disease ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะบวมน้ำเหลือง มักจะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นหรือระหว่างการตั้งครรภ์ มีแค่บางกรณีเท่านั้นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยหลัง 35 ปี และมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- ภาวะบวมน้ำเหลืองในช่วงหลัง (Lymphedema Tarda) มักพบในช่วงอายุ 35 ปีเป็นต้นไป และเป็นประเภทที่พบเจอได้น้อย
ภาวะบวมน้ำเหลืองแบบทุติยภูมิ (Secendary Lymphedema)
ภาวะบวมน้ำเหลืองแบบทุติยภูมิ เกิดจากความเสียหายของต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลืองจากสภาวะของโรคอื่น หรืออาจเกิดจากกระบวนการรักษาโรคบางชนิด เช่น
- เกิดจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลืองที่เสียหายออก เช่น การผ่าตัดอันเนื่องจากมะเร็งเต้านม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายบริเวณต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดบริเวณแขน
- เกิดจากการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง ที่อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองหรือท่อน้ำเหลืองเสียหายและเป็นแผล
- เซลล์มะเร็งปิดกั้นท่อน้ำเหลือง เช่น มีเนื่องอกที่โตขึ้นใกล้ต่อมน้ำเหลืองหรือใกล้ท่อน้ำเหลือง และเซลล์นั้นขยายตัวใหญ่ขึ้นจนไปปิดกั้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง
- เกิดจากการติดเชื้อปรสิตที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะในโรคเท้าช้างที่มียุงเป็นพาหะ
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำเหลือง
อาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับ สามารถแบ่งอาการของผู้ป่วยได้เป็นระยะต่างๆ ดังนี้
- ผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเหลืองในระยะแรก จะไม่แสดงอาการใด ๆ เมื่อผ่านไปสักระยะจะเริ่มมีอาการบวม ให้สังเกตว่า หากเราลองเอานิ้วกดลงไปที่บริเวณผิวที่บวมขึ้นมาแล้วเป็นรอยบุ๋ม ให้สันนิษฐานก่อนว่า มันไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ
- สังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น มีการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนังมาก ผิวหนังมีสีคล้ำและหนาขึ้น
- หากมีอาการอักเสบบริเวณผิวหนังเป็นเวลานาน และไม่ได้รักษา อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ ซึ่งมันจะนำพาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น
สำหรับการวินิจฉัยภาวะบวมน้ำเหลือง แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยและประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว และจะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องทิ้งไป เช่น อาการบวมน้ำ ที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะอื่น ๆ รวมไปถึงตรวจสอบประวัติการรักษามะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องกับต่อมน้ำเหลือง แต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา และยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธิต่อไปนี้
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI – เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ เพื่อให้ได้ผลออกมาเป็นภาพสามมิติที่สามารถแสดงรายละเอียดของอาการได้ดียิ่งขึ้น
- ตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan – เป็นการเอกซเรย์แสดงภาพตัดขวางของโครงสร้างในร่างกาย ช่วยให้เห็นภาพการทำงานของระบบน้ำเหลืองที่อุดตัน
- การทำ Doppler Ultrasound – เป็นวิธีการอัลตร้าซาวด์ที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูความดันและระบบการหมุนเวียนของโลหิต และยังใช้ตรวจหาการอุดตันที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะบวมน้ำเหลืองได้
- การตรวจหาภาวะบวมน้ำเหลือง – อีกวิธีในการตรวจหาภาวะบวมน้ำเหลืองคือการฉีดสีเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและตรวจด้วยเครื่องสแกน เพื่อประเมินการไหลเวียนหรือการอุดกั้นของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
การรักษาและป้องกันภาวะบวมน้ำเหลือง
การรักษาจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยและอาการที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีวิธีการรักษาภาวะบวมน้ำเหลือง ดังนี้
- ยกอวัยวะที่บวมน้ำเหลืองขึ้นสูง ช่วยให้น้ำเหลืองที่คั่งอยู่กลับคืนเข้าสู่ระบบในร่างกาย
- การนวดบริเวณที่มีน้ำเหลืองคั่ง จะสามารถช่วยระบายน้ำเหลืองบริเวณนั้นได้
- สวมปลอกรัดที่มีลักษณะคล้ายถุงน่องออกกำลังกาย เพื่อเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง
- งดกินอาหารที่เค็มจัดและมีไขมันสูง
- ขันชะเนาะเพื่อเป็นการลดอาการบวม
- การใช้เครื่องนวดอัดแรงลม
- การรักษาด้วยวิธีแบบผสมผสาน เป็นการบำบัดร่างกายร่วมกับการปรับพฤติกรรม วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อัมพาต หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีการติด เชื้ออย่างเฉียบพลัน
- รักษาด้วยการผ่าตัด แต่วิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะรุนแรงเท่านั้น เป็นการผ่าเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินบริเวณแขนหรือขาที่บวมออก
ภาวะบวมน้ำเหลืองหากเราตรวจพบในเวลาอันรวดเร็ว สามารถรักษาและบรรเทาอาการได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้มีการดูแลและรักษาที่ถูกต้อง แน่นอนว่า มันส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเราแน่นอน
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)