
แม้ว่ายาจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ แต่การรับประทานยาเป็นประจำและต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปี ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อย่างเช่น ผู้ป่วยไทรอยด์ที่ต้องกินยารักษาไทรอยด์อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ วันนี้ รู้ใจมีคำตอบให้ในบทความนี้
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- โรคไทยรอยด์อะไรบ้างที่พบบ่อย?
- วิธีเช็คต่อมไทรอยด์เบื้องต้นง่าย ๆ ด้วยตนเอง
- การกินยารักษาไทรอยด์เป็นเวลานานอันตรายไหม?
- ข้อควรระวังสำหรับการกินยาไทรอยด์มีอะไรบ้าง?
โรคไทยรอยด์อะไรบ้างที่พบบ่อย?
ไทรอยด์ (Thyroid) คือต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณคอ มีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ ต่อมนี้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน การเจริญเติบโต และการทำงานของร่างกาย
โรคไทรอยด์เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในคนไทยและทั่วโลก โดยต่อมไทรอยด์มีบทบาทสำคัญในการผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การเผาผลาญพลังงาน การควบคุมอุณหภูมิ และการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชนิดหลักที่พบบ่อย ดังนี้
1. ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือที่เรียกว่าภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Overactive Thyroid) ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจำเป็น อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย
- เหงื่อออกง่าย
- นอนหลับยาก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาโปน ระคายเคืองตา ไวต่อแสง มองเห็นภาพไม่ชัด
การรักษาไทรอยด์เป็นพิษนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ นอกจากนั้นหากรุนแรงถึงภาวะที่ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตและปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ในปริมาณมากเกินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียนและท้องเสีย เหงื่อออกมากผิดปกติ สับสนหรือหมดสติ ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)
ภาวะนี้ตรงกันข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คือ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
- เหนื่อยง่าย
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไวต่ออากาศเย็น
- ผมแห้ง ผมบาง ผิวแห้ง
- เสียงแหบ หน้าบวม
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ความจำเสื่อม
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- มีภาวะซึมเศร้า เหนื่อยง่าย
อาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการรักษาภาวะนี้มักจะเป็นการทานยาฮอร์โมนไทรอยด์เสริมเพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้อยู่ในภาวะสมดุล
3. ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (Thyroid Nodules)
การมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์เกิดขึ้นเมื่อมีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ แต่ไม่ใช่มะเร็ง ก้อนนี้พบได้บ่อยและมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และไม่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ แต่จะสามารถสังเกตเห็นเป็นก้อนบริเวณคอ หากก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีหลายก้อน อาจทำให้กลืนอาหารลำบาก อย่างไรก็ตามในบางกรณีก้อนอาจทำให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ การตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์เพื่อดูว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือไม่
4. มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Cancer)
มะเร็งต่อมไทรอยด์พบได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary ซึ่งมักจะเติบโตอย่างช้า ๆ และรักษาได้ดีเมื่อได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยมะเร็งไทยรอยด์เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเติบโตขึ้นในต่อมไทรอยด์ โดยจะมีอาการ เช่น คอโตหรือมีก้อนที่คอ ความรู้สึกแน่นที่คอ หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก เสียงแหบ และอาการเหล่านี้จะชัดเจนมากขึ้นเมื่อมะเร็งขยายตัว
วิธีการรักษามะเร็งไทรอยด์มักจะเป็นการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกตามด้วยการรักษาด้วยไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่
5. ภาวะไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis)
ภาวะไทรอยด์อักเสบเป็นการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อหรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักคือ ชนิดเรื้อรัง (Chronic Thyroiditis) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคฮาชิโมโตะ” (Hashimoto’s disease) ซึ่งเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune disease) ที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และชนิดกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Thyroiditis) ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อ และอาจทำให้มีอาการเจ็บที่ต่อมไทรอยด์ ร่วมกับอาการไทรอยด์เป็นพิษชั่วคราว
Tips : วิธีเช็คต่อมไทรอยด์เบื้องต้นง่าย ๆ ด้วยตนเอง
เราสามารถเช็คความผิดปกติของไทรอยด์เบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยมี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
วิธีที่ 1 ส่องกระจกเช็กความผิดปกติ
- ยืนตัวตรงหน้ากระจก แหงนศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย เพื่อให้เห็นลำคอส่วนล่างได้ชัดเจน
- ดื่มน้ำหรือกลืนน้ำลาย ขณะที่แหงนศีรษะไปทางด้านหลัง
- สังเกตลำคอขณะกลืนน้ำ ให้สังเกตว่ามีก้อนนูนบริเวณลำคอส่วนล่างหรือไม่ ซึ่งตำแหน่งอาจจะอยู่ตรงกลาง หรือค่อนไปทางด้านซ้ายหรือขวาเล็กน้อย โดยก้อนนี้จะขยับขณะกลืนน้ำ
วิธีที่ 2 การคลำหาความผิดปกติ
- ยืนตัวตรงหน้ากระจก แหงนศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย จากนั้นหันไปด้านซ้ายและขวาช้า ๆ สังเกตว่าลำคอมีก้อนนูนขึ้นมาหรือไม่
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลาง ค่อย ๆ กดคลำตรงลำคอพร้อม ๆ กัน จากบนลงล่าง และจากด้านหลังไปด้านหน้า
- หากสัมผัสกับก้อนเนื้อนูน ให้ลองคลึงเบา ๆ หากพบว่าก้อนนั้นบวมผิดปกติ อาจสันนิษฐานได้ว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
การกินยารักษาไทรอยด์เป็นเวลานานอันตรายไหม?
ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิตเสมอไป แต่ก็ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานพอควรอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ซึ่งในบางกรณีอาจส่งผลข้างเคียงให้กับผู้ป่วยได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ เช่น
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ มีไข้สูง เจ็บคอ
- ค่าการทำงานของตับสูง โดยจะสังเกตได้จากการคลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลืองและตัวเหลือง
- ภาวะหลอดเลือดอักเสบ อย่างเช่น มีไข้ ไอเป็นเลือด ปวดตามข้อ และปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปน
ข้อควรระวังสำหรับการกินยาไทรอยด์มีอะไรบ้าง?
โดยปกติแล้วหากเรากินยาตามที่แพทย์าสั่งนั้นจะไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเกิดขึ้นกับร่างกายเลย ดังนั้นข้อควรระวังสำหรับการกินยาไทรอยด์จึงมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง เพราะว่าเราไม่รู้ว่าโรคที่เราเป็นที่จริงคืออะไรกันแน่ การซื้อยามากินเองอาจส่งผลกระทบที่แย่กับร่างกายมากกว่าผลดี
- กินยาตามที่แพทย์กำหนด การทานยาที่มากหรือน้อยเกินกว่าที่ควรได้รับนั้นส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำการกินยาของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพตัวเองอย่างครบถ้วน เราควรให้ข้อมูลสุขภาพแพทย์ทุกอย่างเช่น โรคประจำตัว โรคอื่น ๆ อาการแพ้ยา เพื่อแพทย์จะได้สั่งยาให้เหมาะสมกับสุขภาพของเราและไม่ส่งผลเสียอื่น ๆ กับร่างกาย
โรคไทรอยด์สามารถรักษาได้หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การใส่ใจในสุขภาพและปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่หากชะล่าใจเกินไป จนต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ฉะนั้น หากรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์ควรรีบทำการรักษา และการทำประกันมะเร็งเอาไว้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะมาซัพพอร์ตค่ารักษาพยาบาลให้คุณได้เช่นกัน
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยบกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)
คำจำกัดความ
พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ | เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้างและหลั่งฮอร์โมนได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หรือต่อมใต้สมองที่ไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานได้ตามปกติ |
ชนิดกึ่งเฉียบพลัน | ไทรอยด์ชนิดกึ่งเฉียบพลัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่อไทรอยด์โตด้วย เมื่อใช้มือคลำบริเวณต่อมไทรอยด์จะรู้สึกเจ็บ หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ |