นิ่วในไต หนึ่งในโรคที่ทุกคนมีความเสี่ยง สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่หากปล่อยไว้นานไม่รักษาอาจติดเชื้อจนเนื้อไตเสีย ไตเสื่อม และรุนแรงถึงการเกิดไตวายเรื้อรังได้เลย สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดนิ่วมีอะไรบ้าง นิ่วในไตอันตรายไหม รวมทั้งวิธีการรักษานิ่วในไต รู้ใจจะอธิบายให้ทราบกัน
- นิ่วในไตคืออะไร?
- นิ่วเกิดจากอะไรและมีกี่ชนิด?
- นิ่วในไตอาการเป็นยังไง?
- ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นนิ่วในไต?
- การตรวจวินิจฉัยนิ่วในไต
- การรักษานิ่วในไต
- นิ่วในไตอันตรายไหม?
- ทำยังไงไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ?
- วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันการเกิดนิ่วในไต
ประโยคติดปากที่มักจะได้ยินคุณพ่อ คุณแม่ หรือเพื่อนๆ พูดกัน “อย่าอั้นปัสสาวะนะ ถ้าอั้นเดี๋ยวเป็นนิ่ว” จริง ๆ แล้ว นิ่วไม่ได้เกิดจากการอั้นปัสสาวะโดยตรง การอั้นปัสสาวะเป็นสาเหตุให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดการติดเชื้อ และอาจจะทำให้เป็นนิ่วในไตได้
นิ่วในไตคืออะไร?
นิ่วในไต (Kidney stones) เป็นโรคนิ่วที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุแข็งชนิดต่าง ๆ จนกลายเป็นก้อนแข็งที่มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกัน โดยมักจะพบที่บริเวณกรวยไต และระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นจนเกินไป และตกตะกอนกลายเป็นนิ่ว อาจเป็นนิ่วในท่อไต นิ่วในไต หรือนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ แม้จะรักษาหายแล้ว แต่หากดูแลตัวเองไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกได้
นิ่วเกิดจากอะไรและมีกี่ชนิด?
นิ่วสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ทั้งหมด 4 ชนิด ดังนี้
- เกลือแคลเซียม (Calcium Stones) – นิ่วชนิดนี้จะเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างแคลเซียมและออกซาเลต (Oxalates) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง จึงส่งผลให้ระดับแคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้น แล้วนำไปสู่นิ่วในไต หรือฟอสเฟตในปัสสาวะ แล้วตกตะกอนเป็นนิ่ว หากจะพูดถึงปัจจัยเสี่ยงของ การเกิดนิ่วแคลเซียมนั้น มีดังนี้
- ดื่มน้ำน้อย
- ผู้ป่วยที่มีการขับแคลเซียมมากจนเกินไป
- ผู้ที่มีการขับออกซาเลตในปัสสาวะมากเกินไป
- ผู้ที่มีสารซิเตรทในปัสสาวะน้อยจนเกินไป
- ผู้ที่ปัสสาวะมีสภาพเป็นด่างมาก
- การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ
- การกินวิตามินมากจนเกินไป
- ภาวะการทำงานมากเกินไปของต่อมพาราไทรอยด์
- โรคเกาต์ โรคอ้วน โรคลำไส้หรือการผ่าตัดลำไส้บางประเภท และโรคไต
- เกลือสตรูไวท์ (Struvite Stones) – เกิดจากการรวมตัวกันของแมกนีเซียม แอมโมเนียม และฟอสเฟต โดยนิ่วชนิดนี้สามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ ถ้ามีขนาดใหญ่อาจมีลักษณะเหมือนเขากวาง พบมากในผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งการรักษาจะไม่หายขาดหากไม่ได้นำนิ่วออกก่อน และปัสสาวะของผู้ที่เป็นนิ่วชนิดนี้มักจะเป็นด่าง
- นิ่วกรดยูริก (Uric acid Stones) – มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องใน สัตว์ปีก ปัสสาวะที่มีภาวะเป็นกรดที่เกิดจากการบริโภคผักและผลไม้น้อย เป็นสาเหตุ ให้เกิดนิ่ชนิดนี้
- นิ่วซิสทีน (Cystine Stones) – เกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการดูดซึมของสารซิสทีน ทำให้มีสารนี้ในปัสสาวะมากและทำให้เกิดก้อนนิ่ว
นิ่วในไตอาการเป็นยังไง?
ผู้ป่วยอาจมีก้อนนิ่วเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่ได้แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่อาจบังเอิญตรวจพบก้อนนิ่วจากการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพจากโรคอื่น เมื่อร่างกายขับก้อนนิ่วผ่านไปยังระบบทางเดินปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดอาการ ดังนี้
- หากก้อนนิ่วนั้นไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย หรือรุนแรง อาการจะไม่สามารถหายได้เอง ต้องได้รับการรักษาเท่านั้น ซึ่งอาการปวดของนิ่วในไตอาจนานถึง 20-60 นาที จะเริ่มปวดจากด้านข้างหรือหน้าท้องส่วนล่าง และแผ่ไปถึงขาหนีบ รวมถึงอาจมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจจะเป็นสีชมพูหรือสีแดง และอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะสามารถตรวจได้จากห้องปฏิบัติการ
- ปัสสาวะพร้อมมีเศษคล้ายก้อนกรวดที่เกิดจากนิ่วแตกเป็นก้อนเล็ก ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อย
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นนิ่วในไต?
สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตนั้น มักจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย – ในผู้ที่ดื่มน้ำน้อยและต้องทำงานในที่แจ้งที่ต้องเสียเหงื่อปริมาณมาก ๆ ยิ่งประเทศบ้านเราเป็นประเทศร้อน ทำให้เหงื่อที่ออกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ปัสสาวะลดลง ส่งผลให้เกิดสารตั้งต้นในการเกิดนิ่วสะสมในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
- ผู้ที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า – คนที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำอะไรก็ได้บนโลกนี้ที่ไม่ใช่น้ำเปล่า เช่น ดื่มน้ำชาทุกวัน ๆ ละมาก ๆ แทนการดื่มน้ำเปล่า โดยเฉพาะในชาดำ (Black Tea) ในชาดำจะมีสารที่ชื่อว่า ออกซาเลต ซึ่งมีอยู่ในชาดำปริมาณที่สูง เมื่อมันไปรวมตัวกับแคลเซียมจะทำให้กลายเป็นผลึกนิ่วได้ในที่สุด
- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสจัด – คนที่มีพฤติกรรมทานอาหารรสจัดทั้งหมด ไม่ว่าจะหวานจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เค็มจัด โดยเฉพาะอาหารรสเค็ม เช่น หน่อไม้ดอง ปลาร้า ปลาเค็ม อาหารรสเค็มเหล่านี้ส่งผลให้ไตทำงานหนัก และไปกระตุ้นให้เกิดการเป็นนิ่วตามมา
- ผู้ที่รับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ – แคลเซียมเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของนิ่วก็จริง แต่การทานแคลเซียมไม่ได้ไปกระตุ้นให้เกิดนิ่วในไต ในทางตรงกันข้าม การที่ร่างกายขาดแคลเซียมจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมกลับเข้ามา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในไต
- ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อแดง – สำหรับสายเนื้อ ต้องระวังนิ่วยูริก เนื่องจากในอาหารที่มีพิวรีนสูง จะทำให้เกิดสารสะสมกรดยูริกในร่างกาย นอกจากจะทำให้เกิดโรคเกาต์แล้ว กรดยูริกนี้ยังสะสมในไตทำให้เกิดนิ่วในไตได้อีกด้วย ฉะนั้นควรเลี่ยงเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ และเบียร์
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในไต
- ซักประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกาย
- เอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์แบบไม่ให้สารทึบแสง
- ทำอัลตราซาวนด์ วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่ต้องหลีกเลี่ยงการได้รับรังสี เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์
วิธีการรักษานิ่วในไต
- การรักษาตัวเองที่บ้าน
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ NSAIDs
- รับประทานยาขับก้อนนิ่ว ยาขับก้อนนิ่วจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อท่อไต ช่วยให้นิ่วถูกขับออกไปได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยอาตต้องรับประทานยาเป็นเวลา 2-3 วันหรือสัปดาห์ เพราะนิ่วจะไม่สามารถถูกกำจัดให้หมดไปได้ในทันที
- การกรองปัสสาวะเพื่อเก็บก้อนนิ่วมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การตรวจหาประเภทของก้อนนิ่วจะช่วยในเรื่องของการวางแผนรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- การรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- การส่องกล้องสลายนิ่ว โดยใช้กล่องสอดผ่านท่อและกระเพาะปัสสาวะเข้าไปยังท่อไตที่เชื่อมกับกระเพาะปัสสาวะและไต เพื่อลดขนาดหรือสลายนิ่วในท่อไตและไต
- การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก เป็นการส่งคลื่นเสียงความเข้มสูงไปสลายนิ่ว เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมา วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีนิ่วขนาดไม่เกิน 1 ซม. ไม่เหมาะกับนิ่วก้อนใหญ่และเเข็ง
- การผ่าตัดนิ่วในไตโดยการส่องกล้องผ่านไต เป็นการผ่าตัดเอานิ่วออกด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก เหมาะกับนิ่วที่มีความซับซ้อนและมีขนาดใหญ่
นิ่วในไตอันตรายไหม?
หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะไม่น่ากลัวและไม่อันตราย แต่หากรู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นนิ่ว และไม่ยอมทำการรักษาใด ๆ มีโอกาสที่ก้อนนิ่วจะไปอุดตันท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง และหากนิ่วอุดตันเป็นเวลานานจะทำให้ไตข้างนั้นเสื่อมหรือไตวายในที่สุด นอกจากนั้นไม่แนะนำการกินยาสลายนิ่วด้วยตัวเองจากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต การรักษาควรอยู่ในการควบคุมดูแลและการแนะนำของแพทย์
ทำยังไงไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ?
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว
- กินแคลเซียมจากธรรมชาติให้เพียงพอ
- เลี่ยงอาหารรสเค็ม
- จำกัดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ เนย และนม
- รับประทานผักให้เพียงพอ เพื่อโอกาสการเกิดนิ่ว
- อย่ากลั้นปัสสาวะ
- ติดตามโรคสม่ำเสมอทุก 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันการเกิดนิ่วในไต
คำถามที่ว่าเป็นนิ่วกินอะไรหาย? คำตอบคือ การได้รับการรักษาตามอาการและการวินิจฉัยของแพทย์อย่างถูกต้องจึงจะรักษาหาย แต่ก็ยังมีการปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการเป็นนิ่วในไต
- ดื่มน้ำปริมาณมากในหนึ่งวัน
- ทานอาหารจำพวกที่มีกากใยเยอะ ๆ
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการทานวิตามินหรือเกลือแร่ และอาหารเสริมต่าง ๆ
- ลดอาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด
- เพิ่มการทานอาหารที่มีแคลเซียม
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)