
วันนี้รู้ใจอยากพูดถึง “การดูแลหัวใจ” กันสักหน่อย แต่ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์รักใคร่แต่อย่างใด หัวใจที่จะพูดถึงคืออวัยวะที่สำคัญ รวมไปถึงสัญญาณชีพจรที่มีความเกี่ยวข้องด้วย โดยนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หัวใจและชีพจรมักจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แล้วการที่หัวใจแข็งแรงส่งผลต่อชีพจรยังไง และชีพจรมีความสำคัญยังไง บทความนี้มีคำตอบ
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- ชีพจรสำคัญยังไง?
- เช็คชีพจรยังไง?
- ชีพจรกับการทำงานของหัวใจเกี่ยวข้องกันยังไง?
- ชีพจรปกติจะมีค่าเท่าไหร่?
- ทำไมนักกีฬา-คนออกกำลังกายบ่อย ถึงชีพจรต่ำ?
- นักกีฬา-คนออกกำลังกายบ่อย ชีพจรต่ำอันตรายหรือไม่?
ชีพจรสำคัญยังไง?
ชีพจร หรือ สัญญาณ Pulse คือ อัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อหัวใจของเราสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการขยายตัวเป็นจังหวะเดียวกันกับหัวใจ สิ่งนี้เองที่จะสามารถบอกได้ว่าหัวใจของเราแข็งแรงและสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ อัตราของสัญญาณชีพจรที่วัดได้ของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน และถึงแม้ว่าจะเป็นคนเดียวกัน แต่หากวัดค่าชีพจรในเวลาต่างกันก็จะมีค่าไม่เท่ากัน เพราะการเต้นของชีพจรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ด้วย เช่น วัดหลังออกกำลังกาย วัดเมื่อตื่นนอน หรือวัดก่อนนอน
เช็คชีพจรยังไง?
ตำแหน่งของชีพจรแต่ละตำแหน่งมีดังนี้
- Radial Pulse – จะอยู่ที่บริเวณข้อมือด้านใน (หงายข้อมือขึ้น) ฝั่งนิ้วโป้ง ซึ่งจุดนี้เป็นตำแหน่งที่นิยมใช้จับชีพจรมากที่สุด เพราะเป็นจุดที่จับสัญญาณการเต้นของชีพจรได้ง่าย
- Dorsalis Pedis Pulse – จุดนี้จะอยู่ที่บริเวณหลังเท้า ช่วงตรงกลางระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ สำหรับการตรวจจับชีพจร ณ จุดนี้เพื่อต้องการเช็คการทำงานของหลอดเลือดเแดงส่วนปลาย
- Carotid Pulse – จะเป็นตำแหน่งข้างลำคอที่เราเห็นกันในซีรีย์บ่อย ๆ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง และยังเป็นอีกตำแหน่งยอดนิยมที่คลำหาชีพจรได้ง่ายและให้ผลที่ชัดเจนในการกู้ชีพ
- Brachial Artery – ตำแหน่งนี้จะอยู่ด้านในกล้ามเนื้อไบเซ็บบริเวณต้นแขน จุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถจับชีพจรได้อย่างแม่นยำ แต่อาจคลำหาได้ยากในบางคน
- Femoral Pulse – จะอยู่ตรงกึ่งกลางของขาหนีบ เป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ เพราะมันไม่สะดวก และอาจสร้างความอับอาย หรือความลำบากใจให้กับผู้ป่วย
- Popliteal Artery – ตำแหน่งจะอยู่ตรงกลางข้อพับหัวเข่า และก็เป็นตำแหน่งที่ไม่ค่อยนิยมหาชีพจรกันสักเท่าไหร่ เพราะคลำหาได้ยากและไม่สะดวกกับผู้ป่วย
- Postterior Tibia – อยู่ที่หลังตาตุ่มตรงข้อเท้าด้านใน หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็อาจคลำหาได้ยาก แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการวัดชีพจรของตัวเอง ให้จับที่ตำแหน่งข้อมือจะสะดวกกว่า
ชีพจรกับการทำงานของหัวใจเกี่ยวข้องกันยังไง?
แน่นอนว่าทั้งสองอย่างนี้ทำงานสอดคล้องกัน โดยชีพจรก็คืออัตราการเต้นของหัวใจนั่นเอง ดังนั้นชีพจรก็เป็นตัวบอกการทำงานของหัวใจอยู่นั่นเองว่าปกติอยู่หรือไม่ ซึ่งหากชีพจรของเราเต้นเร็วหรือช้าเกินไป นั่นหมายความว่า การทำงานของหัวใจ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายทำได้ไม่สมบูรณ์หรือไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย เช่น อาการของโรคหัวใจ โรคความดันสูง ไทรอยด์ ซึ่งหากสังเกตว่าการทำงานของหัวใจผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
ชีพจรปกติจะมีค่าเท่าไหร่?
สำหรับชีพจรของคนปกติในวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ในขณะที่กำลังพักผ่อนจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที แต่หากเป็นช่วงที่ทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา ออกกกำลังกาย อัตราการเต้นก็จะสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่อาการของโรคหัวใจแต่อย่างใด
นอกจากนั้นนักกีฬาที่มีการฝึกฝนสม่ำเสมออาจมีอัตราการเต้นของชีพจรต่ำกว่า 60 ขณะพักได้เหมือนกัน ส่วนในเด็กจะมีอัตราการเต้นของชีพจรสูงกว่าผู้ใหญ่ ในเด็กอายุ 1-2 ปี จะมีอัตราการเต้นของชีพจรอยู่ที่ 80-130 ครั้ง/นาที และอัตราการเต้นของชีพจรจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นโดยจะอยู่ที่ประมาณ 75-120 ครั้ง/นาที
ทำไมนักกีฬา-คนออกกำลังกายบ่อย ถึงชีพจรต่ำ?
นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายบ่อย มักมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักต่ำกว่าเพราะหัวใจแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดต่อการบีบตัว 1 ครั้งได้มากขึ้น และเพิ่มการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ทำให้หัวใจเต้นช้าลงทั้งขณะออกกำลังกายที่ความหนักเท่าเดิมและขณะพัก โดยนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายบ่อยจะมีอัตราชีพจรต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที (เทียบกับค่าปกติของผู้ใหญ่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที)
นักกีฬา-คนออกกำลังกายบ่อย ชีพจรต่ำอันตรายหรือไม่?
ปกติแล้ว ชีพจรต่ำในนักกีฬาไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราการเต้นของชีพจรต่ำกว่า 60 ซึ่งชีพจรต่ำนี้เกิดจากระบบหัวใจจะสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเต้นเร็วเหมือนคนที่ไม่ออกกำลังกาย โดยนักกีฬาชายจะมีอัตราการเต้นของชีพจรต่ำกว่านักกีฬาหญิง นอกจากนั้นนักกีฬาแต่ละประเภทก็มีอัตราชีพจรที่แตกต่างกันตามประเภทกีฬา โดย
- นักกีฬาวิ่งชีพจรจะอยู่ที่ประมาณ 40 ครั้ง/นาที
- นักกีฬาฟุตบอล นักกีฬาว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน จะมีอัตราการเต้นของชีพจรเฉลี่ยที่ 50-60 ครั้ง/นาที
Tips: อัตราการเต้นของหัวใจสำคัญกับนักกีฬายังไง?
ชีพจรเป็นดัชนีที่มีความสำคัญ ทั้งสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬา นักกีฬา และคนที่อยากสุขภาพแข็งแรง เพราะสามารถบ่งบอกถึงสภาพร่างกายและความพร้อมในการออกกำลังกายได้ โดย
- ช่วยประเมินสุขภาพร่างกายและวินิจฉัยปัญหาสุขภาพเบื้องต้น
- ช่วยประเมินการพักฟื้นและการฟื้นสภาพร่างกายของนักกีฬา
- ช่วยประเมินความสามารถในการใช้ออกซิเจนและการทำงานของร่างกายในขณะออกกำลังกาย
การตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจจะช่วยให้สามารถพัฒนาความสามารถและประสิทธิภาพของนักกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นคำตอบสำหรับข้อสงสัยว่าทำไมนักกีฬาและคนที่ออกกำลังกายบ่อย ๆ จึงมีชีพจรต่ำ และสำหรับนักกีฬาและคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ก็อย่าลืม ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และไม่ควรหักโหม เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักผ่อน และหากใครหัวใจเต้นผิดปกติ การไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยบกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ไบเซ็บ | คือกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณต้นแขนด้านหน้า ซึ่งมีหน้าที่หลักในการช่วยยืดและหดแขน โดยกล้ามเนื้อไบเซ็บประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองส่วน |
ไทรอยด์ | เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ในบริเวณลำคอด้านหน้าใต้กล่องเสียง (larynx) และมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ขนาดของมันจะประมาณขนาดของปีกผีเสื้อที่คลี่ออก ต่อมไทรอยด์มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในเรื่องของการเผาผลาญพลังงานและการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย |