Roojai

คุณความดันสูงหรือเปล่า? เช็คอาการ พร้อมวิธีควบคุมด้วยการกิน

เช็คอาการความดันสูง พร้อมวิธีควบคุมด้วยการกิน | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

ทุกคนน่าจะรู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันเป็นอย่างดี เพราะอาจจะเคยเห็นผู้ใหญ่ในบ้านรับประทานยาลดความดันกันมาบ้าง แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคความดันสูงเกิดจากสาเหตุใด และความดันโลหิตสูงนั้นยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอะไรบ้าง สามารถหาคำตอบทั้งหมดได้ในบทความนี้

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?

โรคความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง มักจะตรวจพบได้โดยการวัดความดันโลหิต หากวัดได้ในระดับที่สูงกว่าปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็เรียกได้ว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง 

โรคความดันโลหิตสูงอันตรายหรือไม่?

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความดันเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ดังนี้ “ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอท จัดว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง” สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และไม่ได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ
  • โรคหลอดเลือดในสมองแตก 
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคหัวใจวาย
  • โรคไตวาย
  • หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง 

ปัจจัยที่ทำให้ความดันสูง

  1. อายุ เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น เช่น ย้อนไปตอนนาย A อายุ 18 ปี วัดความดันได้ 120/70 มม.ปรอท แต่เมื่อนาย A อายุ 60 ปี ค่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นเป็น 140/90 เป็นต้น แต่ไม่ได้การันตีว่าทุกคนที่อายุ 60 จะต้องมีค่าความดันตามที่กล่าวมา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองด้วย อาจจะวัดได้เท่าเดิมก็ได้ หากดูแลรักษาสุขภาพตัวเองดีมาโดยตลอด
  2. เวลา ความดันโลหิตตลอดทั้งวันจะมีค่าที่ไม่เท่ากัน มันจะขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น ความดันตัวบนชื่อซิสโตลิก วัดตอนเช้าได้ 130 มม.ปรอท มาช่วงบ่ายความดันอาจสูงขึ้นวัดได้ 140 มม.ปรอท และเมื่อถึงเวลานอน วัดความดันขณะหลับอาจลดลงมาอยู่ที่ 100 มม.ปรอท ก็ได็เช่นกัน
  3. จิตใจและอารมณ์ จิตใจและอารมณ์มีผลต่อความดันโลหิตเป็นอย่างมาก อาจเป็นสาเหตุความดันสูง เช่น วัดความดันตอนเครียดอาจได้สูงกว่าปกติถึง 30 มม.ปรอท แต่หากหายเครียดแล้ว กลับมาอยู่ในโหมดพักผ่อนปกติ อาจแก้ความดันสูงให้ค่าความดันลดลงมาอยู่ในช่วงปกติ เช่นเดียวกันกับความเจ็บปวดก็สามารถทำให้ค่าความดันเพิ่มสูงได้เช่นกัน
  4. เพศ โรคความดันโลหิตสูงจะพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  5. พันธุกรรมและสิ่งเเวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นความดัน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เครียดจนเกินไป ก็อาจเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน
  6. สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองที่มีการแข่งขันกับเวลา จะมีภาวะเครียดจากหน้าที่การทำงานจึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่าผู้ที่อาศัยอยู่แถบ ๆ ชนบท
  7. เชื้อชาติ ชาวแอฟริกันอเมริกันจะมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
  8. การกินรสเค็ม ผู้ที่กินเกลือหรือรสเค็มมาก มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่าผู้ที่ไม่รับประทานอาหารรสเค็ม
กินอาหารลดความดันสูง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

ระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง

  • ระดับที่ 1 – ระยะเริ่มแรก ค่าความดันจะอยู่ระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 2 – ระยะกลาง ค่าความดันจะอยู่ระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 3 – ระยะรุนแรง ค่าความดันจะอยู่ระหว่าง 180/110 มม.ปรอท ขึ้นไป 

สำหรับการวัดความดันโลหิต ควรวัดขณะที่นั่งพัก และควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง ตามขั้นตอนและเทคนิคที่ถูกต้อง 

รู้มั้ย 5 พฤติกรรมเสี่ยงความดันสูง ทำบ่อยจนไม่ทันรู้ตัว

พฤติกรรมที่เราทำทุกวัน บางครั้งไม่รู้ตัวว่าทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจนตามมาด้วยโรคร้ายแรงต่าง ๆ ทั้งการที่มีน้ำหนักมาก ติดนิสัยกินเค็ม ความเครียดสูง ไม่ยอมออกกำลังกาย และสูบบุหรี่จัด ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่บางคนอาจทำบ่อยโดยไม่ทันรู้ตัว ดังนั้นก่อนที่โรคร้ายแรงจะถามหา ควรเริ่มปรับพฤติกรรม และที่สำคัญคือเตรียมพร้อมรับมือทางการเงินหากโรคร้ายแรงเกิดขึ้น เราต้องมีค่ารักษาพยาบาล! ที่รู้ใจมีประกันโรคร้ายแรง เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท คุ้มครองถึง 4 กลุ่มโรคร้าย มะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ กลุ่มอาการทางระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะอวัยวะล้มเหลว

สัญญาณเตือนความดันโลหิตสูง

  • ปวดท้ายทอย หรือตึงที่ต้นคอ
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะตุบ ๆ หรือปวดแบบเฉียบพลัน
  • ใจสั่น ชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • นอนไม่หลับ
  • มือชา เท้าชา ตาพร่า
  • มีภาวะเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน

วิธีควบคุมความดันสูงด้วยการกิน

เมื่อเป็นความดันสูง ควรทําอย่างไร? หากมีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงรสเค็ม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน งดสูบบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมอาหาร ความดันสูง ดังนี้

1. ควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร

อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงต่างๆ จะมีปริมาณโซเดียมมาก ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทนี้ หรือไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน 

2. ข้าวและธัญพืชไม่ขัดสี

ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เลี่ยงข้าวขาว และปริมาณที่แนะนำคือ 6-8 ทัพพี/วัน การรับประทานข้าวไม่ขัดสีจะช่วยเพิ่มใยอาหาร ซึ่งใยอาหารมีหน้าที่ดูดซึมไขมันเข้าสู่กระเเสเลือด สามารถควบคุมไขมันในเลือดได้ และใยอาหารยังทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นด้วย 

3. ต้องมีผักในอาหารทุกมื้อ

ปริมาณที่แนะนำคือ 4-5 ถ้วยตวง ในผักจะอุดมไปด้วยโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ที่เป็นแร่ธาตุที่สามารถช่วยควบคุมระดับความดันเลือดได้ และควรเลือกรับประทานผักหลากสี เช่น แครอต ฟักทอง บีทรูท และผักใบเขียว

สาเหตุความดันสูงและวิธีควบคุมด้วยการกิน | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

4. ผลไม้ดีต่อสุขภาพ

รับประทานให้ได้วันละ 6-8 ชิ้นคำ หรือ 1 ผล ในผลไม้จะมีวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงโพแทสเซียมและแมกนีเซียม

5. เลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ

เช่น เนื้อปลา เนื้ออกไก่ ไข่ขาว ปลาทู การเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไขมันต่ำ จะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวและคลอเลสเตอรอลลงได้ 

6. ถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้ง

4-5 กำมือ/วัน ในถั่วจะมีแร่ธาตุโพแทสเซียม และแมกนีเซียมอยู่สูง และยังมีใยอาหารอีกด้วย แต่ควรรับประทานแต่พอดี หากรับประทานมากไปจะทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ 

7. จำกัดปริมาณไขมันในอาหาร

เช่น น้ำมันไม่ควรเกิน 3 ช้อนชาต่อวัน อาจจะเลี่ยงอาหารที่ไม่จำเป็นต้องปรุงด้วยน้ำมัน เช่น นึ่ง ต้ม อบ เป็นต้น 

8. ดื่มนมไขมันต่ำ

แคลเซียมในนมมีประโยชน์ในการควบคุมความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี ปริมาณที่แนะนำคือ 2-3 แก้วต่อวัน และควรเลือกดื่มนมรสจืดเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำตาล

ตัวอย่างเมนู 13 อาหารลดความดันโลหิตสูง

  1. กระเพาะปลา
  2. ก๋วยเตี๋ยวน้ำไก่ มะระตุ๋น (น้ำใส) 
  3. ราดหน้าผักรวมอกไก่
  4. ข้าวกล้องต้มปลา/ไก่
  5. โจ๊กอกไก่บด
  6. ซุปมันฝรั่ง อกไก่ มะเขือเทศ
  7. ซุปเต้าหู้อ่อน
  8. ซุปฟักทอง
  9. แกงจืดตำลึงอกไก่บด
  10. แกงจืดเต้าหู้หมูสับ
  11. แกงจืดมะระ
  12. ไข่น้ำ 
  13. ปลานึ่งขิงขึ้นฉ่าย

ความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงโรคร้ายแรงหลายโรค ทั้งโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองอุดตันและแตก ดังนั้นเราจึงต้องควบคุมไม่ให้ความดันสูง โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว การหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองและคนที่เรารักตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงหากเป็นแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพและหลีกเลี่ยงโรคร้ายแรง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ใยอาหาร ส่วนที่เป็นกากอาหารของพืชผัก ผลไม้ ธัญพืชและเมล็ดพืชต่าง ๆ ที่คนไม่สามารถย่อยได้ จึงถูกขับออกมาทางอุจจาระ มีประโยชน์ต่อร่างกายต้องได้รับในปริมาณที่เพียงพอ
เฉียบพลัน อาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และมักมีระยะเวลาสั้น มักใช้กับอาการของโรค