Roojai

เจาะลึก! ความดันต่ำ VS ความดันสูง แบบไหนอันตรายกว่ากัน?

ความดันต่ำดีกว่าความดันสูงจริงหรือไม่ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

เคยสังเกตผู้สูงอายุ หรือคุณพ่อ คุณแม่ เวลาจะลุกจะนั่งสักทีต้องค่อย ๆ ลุก สาเหตุไม่ได้มาจากแค่ความตึงของกล้ามเนื้อ หรืออาการปวดขัดกระดูกเท่าน้้น แต่มีเรื่องของความดันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากนั่งและลุกขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดอาการเซหรือล้ม นั่นแปลว่าความดันต่ำ ส่วนความดันสูงก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมอง ดังนั้น จึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องความดันต่ำและความดันสูง แบบไหนที่อันตรายกว่ากัน เพื่อจะได้เข้าใจและรับมือหากสมาชิกในบ้านเป็นโรคนี้

ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจเรื่องความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำคืออะไร มีอาการและสาเหตุจากอะไร เรามาทำความเข้าใจระบบในร่างกายกันสักหน่อย หัวใจทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดและออกซิเจน รวมไปถึงสารอาหารต่างๆ ผ่านหลอดเลือดแดง ส่งไปเลี้ยงยังทุกส่วนของร่างกาย โดยมีความเกี่ยวข้องกับความดันโลหิต

ความดันโลหิต คืออะไร?

ความดันโลหิตคือ ค่าของความดันกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังของหลอดเลือดแดง ที่เกิดจากกระบวนการทำงานของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่ความผิดปกติที่เกิดขึ้น จะแบ่งออกได้เป็น ความดันต่ำและความดันสูง โดยค่าความดันจะวัดเป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท โดยสามารถวัดได้ 2 ค่า ได้แก่

  • ความดันโลหิตตัวบนหรือค่าบน  – เป็นแรงดันโลหิตที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจอย่างเต็มที่
  • ความดันโลหิตตัวล่างหรือค่าล่าง – เป็นแรงดันโลหิตที่เกิดจากการคลายตัวของหัวใจ

ค่าความดันปกติอยู่ที่เท่าไหร่?

ค่าความดันโลหิตปกติจะอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยค่าความดันอาจขึ้นลงทั้งวัน เมื่อวัดแล้วอาจไม่เท่ากัน โดยความดันโลหิตอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม เช่น อายุของแต่ละบุคคลยิ่งมาก ความดันโลหิตจะสูงขึ้น แต่ก็อาจไม่สูง

  • คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรมีความดันต่ำกว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท
  • คนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี หรือผู้ป่วยเบาหวาน ไตเสื่อม ค่าความดันที่ควรมีคือ ต้องต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

ความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension คืออะไร?

ความดันสูงหมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงเพิ่มขึ้น หากวัดได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันสูง

ระดับความดันโลหิต ตัวบน ตัวล่าง
ความดันปกติ 120 – 139 80 – 89
ความดันสูง ระดับ 1 140 – 159 90 – 99
ความดันสูง ระดับ 2 160 – 179 100 – 109
ความดันสูง ระดับ 3 มากกว่า 180 มากกว่า 109

สาเหตุความดันสูง เกิดจากอะไร?

ส่วนใหญ่คนที่มีภาวะความดันสูงมักจะไม่แสดงอาการและจะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่หากมีการตรวจพบมักจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องอาจนำไปสู่ความพิการ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ใครมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง?

  • อายุที่เพิ่มขึ้นมีความเสี่ยงของความดันสูง
  • มักจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเพศหญิงมีแนวโน้มจะเป็นความดันสูงหลังอายุ 65 ปี
  • พันธุกรรม
  • การเลือกรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
  • การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
  • คนที่ไม่ออกกำลังกาย
ความอันตรายของความดันโลหิตสูง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อาการความดันสูงเป็นยังไง?

ในผู้ป่วยที่มีความดันสูงส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการ แม้ว่าค่าความดันสูงที่อ่านได้จะสูงถึงระดับที่เสี่ยงอันตรายก็ตาม บางกรณีอาจพบอาการวิงเวียนศีรษะ ตึงที่ต้นคอ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าหรือหลังตื่นนอน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย ตาพร่า หรือมีเลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อความดันสูงมีอาการรุนแรงมากแล้ว หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

หากตรวจวัดความดันได้ 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะภายในร่างกายจากอาการความดันสูง รวมไปถึงการตรวจความเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาควบคุมความดันสูงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • การรับประทานยาลดความดัน
  • การพบแพทย์เป็นประจำตามนัดหมาย

ความดันสูงเสี่ยงโรคร้ายแรงมากขึ้นหรือไม่?

หากมีภาวะเรื่องโรคความดันโลหิตสูงและไม่รักษา ปล่อยทิ้งเอาไว้ให้ความดันอยู่ในระดับเดิมนาน ๆ อาจส่งผลต่ออวัยวะภายในร่างกายเสื่อมสภาพลงได้ และความดันสูงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจตีบตันถึง 3-4 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่า ของผู้ที่มีความดันปกติ การทำประกันภัยโรคร้ายแรงที่คุ้มครองโรคร้ายแรงอย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็เป็นอีกทางเลือกที่จะมาช่วยค่ารักษาในวันที่เจ็บป่วย ประกันโรคร้ายแรงที่รู้ใจ คุ้มครองโรคร้ายแรง 80+ โรค เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท

ความดันสูงแบบไหนที่เรียกว่าวิกฤต?

วิกฤติความดันสูง คือ ค่าความดันโลหิตที่วัดได้สูงมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท และหากวัดความดันแล้วได้ค่าตามนี้ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เนื่องจากภาวะลักษณะนี้เป็นสัญญาณของความเสียหายของอวัยวะภายใน ยิ่งหากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดหลัง ขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว และพูดไม่ชัด ยิ่งต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างทันที

เป็นความดันสูง ควรทําอย่างไร?

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารลดความดันควรเลี่ยงอาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ขนมถุง อาหารหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป
  • งดแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพิ่มความสดใสให้กับร่างกายและจิตใจ
  • พบแพทย์ตามนัด รับยา และรับประทานยาอย่างเคร่งครัด

ความดันโลหิตต่ำ หรือ Hypotension คืออะไร?

โดยทางการแพทย์ ผู้ใหญ่ที่มีความดันต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นผู้ที่มีความดันต่ำ และหากค่าความดันยังต่ำอย่างสม่ำเสมอ และร่างกายก็ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แพทย์อาจจะแค่ทำการตรวจติดตามผลในการตรวจร่างกายประจำปีเท่านั้น

ถึงแม้ว่าความดันโลหิตต่ำจะไม่รุนแรงและถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่จัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพ แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่ความดันต่ำนั้นทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ กรณีที่รุนแรงมาก อาจเสียชีวิต ได้เช่นกัน

วิธีออกกำลังกายของคนความดันต่ำ และความดันสูง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

ความดันโลหิตต่ำ เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดความดันต่ำนั้น อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ ไปจนถึงความผิดปกติทางการแพทย์ที่ร้ายแรง การหาสาเหตุของความดันต่ำนั้นเพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุ ดังนี้

  • ภาวะการตั้งครรภ์ ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างการตั้งครรภ์ ความดันจึงมีแนวโน้มลดต่ำลง แต่ความดันจะกลับสู่ภาวะปกติหลังจากคลอด
  • โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจ หัวใจวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลกระทบที่มาจากโรคอื่น ๆ เช่น ปัญหาโรคต่อมไร้ท่อ พาราไทรอยด์ ภาวะต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดจากโรคเบาหวาน
  • การขาดน้ำ ทำให้เกิดการอ่อนแรง เวียนหัว และอ่อนเพลีย
  • การเสียเลือดมาก เช่น การบาดเจ็บสาหัส เลือดออกภายในร่างกาย ส่งผลให้ความดันลดลงอย่างรุนแรง
  • การติดเชื้อรุนแรงบางชนิด
  • ภาวะขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน บี-12  โฟเลต ธาตุเหล็ก ที่อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เพียงพอ
  • การรับประทานยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากล่อมประสาทบางตัว หรือยาสำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน

อาการความดันต่ำเป็นยังไง?

ในบางกรณี การมีความดันต่ำอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาภายใน และอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม
  • มองไม่ชัด ตาพร่า
  • คลื่นไส้
  • ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
  • ไม่มีสมาธิ
  • เกิดอาการช็อก

เป็นความดันต่ำ ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

  • แบ่งการรับประทานอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น ปกติทาน 3 มื้อ ให้แบ่งย่อยทาน 5 มื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกาย
  • เลี่ยงการนอนดึก
  • ไม่ควรหนุนหมอนที่ต่ำจนเกินไป
  • เลี่ยงการยืนนาน ๆ หรือการเปลี่ยนท่าที่เร็วเกินไป
  • ใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลต่อความดันต่ำ และควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่ามีภาวะความดันต่ำ

ความดันต่ำแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?

อาการควรไปพบแพทย์เพื่อการรักษาความดันต่ำ คือ หากมีอาการเวียนหัว หน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน ควรวัดความดันในท่ายืนด้วย โดยเริ่มจากการวัดความดันในท่านอนก่อน และให้วัดอีกครั้งในท่ายืน โดยวัดความดันภายใน 1-3 นาที หลังจากลุกยืน หากวัดแล้วความดันในท่ายืนต่ำกว่าท่านอน 20 มิลลิเมตรปรอท นั่นแสดงว่ามีภาวะความดันต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ Orthostatic Hypotension ซึ่งอาจทำเป็นลมได้ เนื่องจากสมองไดัรับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และอาการที่เป็นสัญญาณเตือนถึงความร้ายแรงต่าง ๆ ได้แก่

  • เกิดความสับสน โดยเฉพาะในผู้สูงวัย
  • ตัวเย็นและซีด
  • หายใจถี่และตื้น
  • ชีพจนอ่อน หรือเต้นเร็วจนผิดปกติ
  • มีอาการช็อก

ความดันต่ำ VS ความดันสูง แบบไหนอันตรายกว่ากัน?

โรคความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าความดันโลหิตต่ำ จึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจหากเกิดภาวะความดันสูง แต่ใช่ว่าความดันต่ำจะไม่อันตราย เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด และอ่อนแรง เสี่ยงต่อการหกล้มและบาดเจ็บได้เช่นกัน

มีงานวิจัยจากโรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ โดยจะมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันสูงจำนวน 123 คน ผลการศึกษาโดยสรุปได้ว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันสูง ได้แก่

  • ระยะเวลาในการเป็นโรค
  • การรับรู้โอกาสเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของโรค
  • การรับรู้ถึงความรุนแรงของโรค
  • การรับรู้ถึงการปฏิบัติตนอย่างไรให้ถูกต้อง

จากงานวิจัยชิ้นนี้ จะเห็นได้ว่า ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังไม่ทราบถึงความอันตรายและความเสี่ยงของโรคความดันโลหิต หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้กับประชาชนในท้องที่ของตนเอง

ความดันสูง ความดันต่ำ ควรออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะ?

  • ความดันสูง – ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิค เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงหนักมากจนเกินไป
  • ความดันต่ำ – เหมาะกับการออกกำลังกายแบบเดินเร็ว หรือเดินขึ้นลงบันได เพราะจะช่วยยืดกล้ามเนื้อน่อง ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น

การไม่มีโรคเลยเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลก แต่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นโรค หรือเจ็บป่วยได้ มีแต่เพียงการป้องกันไว้ทุกทางที่ทำได้เท่านั้น ที่นอกจากการระมัดระวังตัวเอง ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากอายุเริ่มเยอะให้เลือกรับประทานอาหารที่รสไม่จัดเพื่อช่วยยืดเวลาให้กระเพาะ ตับ ไตของเรา และการซื้อประกันโรคร้ายป้องกันเอาไว้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา เพราะอย่าลืมว่า โรคความดัน ทั้ง ความดันสูงก็อาจเส้นเลือดในสมองแตก หรือแม้แต่ความดันต่ำ คุณอาจจะลุกแล้วหกล้มหัวฟาดพื้นก็เป็นไปได้ทั้งหมด การเตรียมพร้อมค่ารักษาด้วยประกันภัย ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับครอบครัวที่ไม่ต้องรับภาระการเงินในวันที่เจ็บป่วย

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ (หรือเอทานอล) ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักหรือกลั่นวัตถุดิบที่มีน้ำตาลหรือแป้ง เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้า วอดก้า ยาดอง
อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำหรือโลว์คาร์บ คือ การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยจำกัดการบริโภคอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพื่อลดปริมาณกลูโคสในกระแสเลือด ให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่เก็บไว้แทน โดยทานอาหาร เช่น ผักไม่มีแป้ง ผักใบเขียว ดอกกะหล่ำ ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ไขมันดีอย่างอะโวคาโด งา เป็นต้น
อาหารรสจัด อาหารที่มีรสชาติที่เข้มข้น และมีรสเผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม หรือมันมากกว่าปกติ