หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ไขมันในเลือดสูง” แต่ยังไม่เข้าใจจริง ๆ ว่ามันคืออะไร และทำไมถึงเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของเราได้อย่างร้ายแรง ไขมันในเลือดสูงยังเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนไทย ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามเนื่องจากไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่กลับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- ไขมันในเลือดสูงคืออะไร?
- ไขมันในร่างกายมีกี่แบบ แบบไหนที่อันตราย?
- ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร?
- พฤติกรรมเสี่ยงแบบไหน นำไปสู่ไขมันในเลือดสูง?
- ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไขมันในเลือดสูง?
- ไขมันในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรงอะไรบ้าง?
- มีวิธีรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงยังไงบ้าง?
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค จากกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตระหนักถึงความสำคัญของโรคเหล่านี้” เพราะสถิติในประเทศไทยมีประชากรที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตรวจพบผู้ป่วย 8.4 คนต่อประชากร 100 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงวางมาตรการการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย บทความนี้จึงอยากนำสาระความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไขมันในเลือดสูงว่าอันตรายแค่ไหน และมันสามารถนำเราไปสู่โรคร้ายอะไรได้บ้าง
ไขมันในเลือดสูงคืออะไร?
ภาวะไขมันในเลือดสูง หมายถึง ภาวะที่ระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดสูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้ไขมันไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตันได้ง่ายขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
ไขมันในร่างกายมีกี่แบบ แบบไหนที่อันตราย?
ไขมันในร่างกายแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่ที่เกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูง ได้แก่
- ไขมัน LDL (Low-density lipoprotein) – หรือที่เรียกว่า “ไขมันเลว” เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด
- ไขมัน HDL (High-density lipoprotein) – หรือที่เรียกว่า “ไขมันดี” มีหน้าที่ช่วยกำจัดไขมันเลวออกจากหลอดเลือด
- ไตรกลีเซอไรด์ – เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่เมื่อระดับสูงเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร?
สาเหตุของไขมันในเลือดสูงมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย ได้แก่
- พันธุกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดระดับไขมันในเลือด
- พฤติกรรมการกิน การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อแดง ไข่แดง กะทิ นมข้นหวาน
- ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายน้อยหรือไม่สม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ไม่ดี
- โรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ และโรคตับ เป็นต้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้ตับสร้างไขมันมากขึ้น
- การสูบบุหรี่ บุหรี่จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
พฤติกรรมเสี่ยงแบบไหน นำไปสู่ไขมันในเลือดสูง?
นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคนก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน เช่น
- การรับประทานอาหารรสจัด อาหารรสจัดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรสเผ็ดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง รสหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด และในอาหารเหล่านี้มักจะมีไขมันสูงและโซเดียมสูง
- การดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มเหล่านี้มีแคลอรี่สูงและไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารฟาสต์ฟู้ดมักจะมีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง
- การนอนดึก ใครว่าการนอนไม่สำคัญ หากร่างกายนอนพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไขมันในเลือดสูง?
คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ได้แก่
- คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูง
- คนที่มีอายุมากขึ้น
- คนที่เป็นโรคอ้วน
- คนที่สูบบุหรี่
- คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- คนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- คนที่มีความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรงอะไรบ้าง?
ภาวะไขมันในเลือดสูงหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เช่น
- โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- โรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดสมองแตก
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เช่น โรคเส้นเลือดตีบในขา
- โรคไตวายเรื้อรัง
การทำประกันโรคร้ายแรงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนสุขภาพและลดความเสี่ยงทางการเงินในวันที่เป็นโรคร้ายแรง เพราะโรคร้ายไม่ได้เสี่ยงเป็นจากแค่ไขมันในเลือดสูงเท่านั้น พฤติกรรมเสี่ยงประจำวันของเรานี่แหละที่เพิ่มโอกาสโรคร้ายได้เป็นอย่างดี ทั้งความเครียด การไม่ออกกำลังกาย ไปจนถึงความชอบกินอาหารไขมันสูง ฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ประกันโรคร้ายแรงที่รู้ใจคุ้มครอง 4 กลุ่มโรคร้าย รวมมากกว่า 80+ โรค เช็คราคาและปรับแต่งแผนได้ 24 ชม. โดยไม่ต้องใส่ข้อมูลติดต่อ ไม่ต้องใส่เบอร์โทร
มีวิธีรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงยังไงบ้าง?
การรักษาและวิธีลดไขมันในเลือดหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยการเลือกวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยทั่วไปมีดังนี้
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีลดไขมันในเลือดนี้เป็นวิธีพื้นฐานในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง และยังสามารถช่วยลดระดับไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย แต่! ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยควรทำตามดังนี้
- การลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนควรลดน้ำหนักเพื่อช่วยลดไขมันในเลือด
- การปรับเปลี่ยนอาหาร ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ โดยหันไปเลือกอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลาทะเล น้ำมันมะกอก อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืชไม่ขัดสี
- การออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) และลดไขมันไม่ดี (LDL)
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงของการสะสมไขมันและทำให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเสื่อมลง
รู้มั้ย? กินดาร์กช็อกโกแลตมีส่วนช่วยลดไขมันในเลือดสูงได้
ดาร์กช็อกโกแลตมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง รวมถึงการช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ด้วย เพราะในดาร์กช็อกโกแลตมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ และโพลีฟีนอล ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL) ในเลือด นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อย่างช่วยลดการอักเสบและการก่อตัวของลิ่มเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ไม่ใช่เห็นว่าดีแล้วจะกินเยอะ ๆ ได้ เพราะหากกินมากเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน ดาร์กช็อกโกแลตยังมีแคลอรี่และน้ำตาลอยู่บ้าง การกินมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันได้
2. การรักษาด้วยยา
หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เพียงพอในการควบคุมระดับไขมันในเลือด แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือด ซึ่งมียาหลายกลุ่มที่ช่วยลดไขมันในเลือด
- ยากลุ่มสแตติน (Statins) ยากลุ่มนี้ช่วยลดการสร้างคอเลสเตอรอลในตับและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น ยา Atorvastatin, Simvastatin
- ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrates) ยานี้ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและเพิ่มไขมันดี (HDL) เช่น ยา Fenofibrate, Gemfibrozil
- ยากลุ่มยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล (Cholesterol Absorption Inhibitors) ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหาร เช่น Ezetimibe
- ยากลุ่มยับยั้ง PCSK9 (PCSK9 Inhibitors) เป็นยาฉีดที่ใช้สำหรับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากและตอบสนองต่อยาสแตตินไม่ดี เช่น Alirocumab, Evolocumab
3. การติดตามผลการรักษา
การรักษาไขมันในเลือดสูงไม่ใช่การรักษาครั้งเดียวแล้วจบ การติดตามผลการรักษาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำและต้องมีวินัย โดยแพทย์จะตรวจระดับไขมันในเลือดและปรับวิธีการรักษาตามความเหมาะสม ผู้ป่วยเองควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นโรคที่สามารถป้องกันและควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานยาลดไขมันในเลือดตามที่แพทย์สั่ง การตรวจเลือดและสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้เราตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ได้ หากคุณมีความเสี่ยงต่อโรค การเข้าพบและปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
โรคหลอดเลือดสมอง | เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องด้วยหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองนั้นตีบและอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย และการทำงานของสมองจะหยุดชะงัก |
คอเลสเตอรอล | เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายค่ะ มันเป็นส่วนประกอบของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ และมีบทบาทในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด นอกจากนี้ยังช่วยในการสังเคราะห์วิตามินและกรดน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร แบ่งออกเป็นสองชนิดหลัก ๆ คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) |
สารต้านอนุมูลอิสระ | สารหรือกลุ่มสารที่ช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกาย ซึ่งปฏิกิริยาออกซิเดชันนี้สามารถทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ที่เป็นอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อ |