หากพูดถึงผู้ติดเชื้อ HIV คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมไปว่า HIV คือผู้ที่เป็นโรคเอดส์ และเมื่อพูดถึงโรคเอดส์ คนก็จะโยงไปที่กลุ่มผู้ใหญ่นักท่องเที่ยวที่ชอบซื้อบริการทางเพศ และรวมไปถึงนักดื่มกินเที่ยวยามราตรี
มีรายงานจากรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ในปี 2564 จำนวน 520,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 6,500 คนต่อประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15 – 24 ปี แต่ดูจากสถิตินี้น่าตกใจว่ากลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่อายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเรื่องการติดเชื้อ HIV เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ HIV ระยะ HIV รวมถึงโรคเอดส์ สาเหตุคืออะไร แตกต่างจากการติดเชื้อ HIV ยังไง มาช่วยกันสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกัน
เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนอยู่ระหว่างผู้ที่มีเชื้อ HIV กับผู้ป่วยโรคเอดส์ วันนี้รู้ใจชวนคุณมาทำความเข้าใจเรื่อง HIV โรคใกล้ตัวที่คุณควรระวัง
เอชไอวี (HIV) คืออะไร?
เอชไอวี หรือ Human Immunodeficiency Virus (HIV) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไวรัสที่สามารถส่งต่อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ จากการที่ไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันและจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เลือด อสุจิ น้ำเหลือง รวมถึงน้ำนมแม่
เอชไอวี (HIV) สาเหตุเกิดจากอะไร?
ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV มาแล้วประมาณ 14 – 28 วัน จะมีอาการคล้ายกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่หรือมีอาการคล้ายกับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับเชื้อทำงานบกพร่อง ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติ
เชื้อเอชไอวีในปัจจุบันมีมากกว่า 10 สายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วโลก โดยที่สายพันธุ์ดั้งเดิมสามารถแบ่งตามลักษณะทางพันธุกรรมออกได้เป็น 2 ชนิด
- HIV-1 – พบมากทางแถบประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง
- HIV-2 – พบมากในประเทศอินเดีย และแอฟริกาตะวันตก
ในเชื้อเอชไอวีจะมี p24 antigen หรือสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีที่เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สร้างภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ต่อไวรัสนี้ และส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย หากร่างกายได้รับเชื้อแล้วจะไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้ และเชื้อเอชไอวีจะคงอยู่ตลอดไป
เช็คตัวเองยังไงว่าเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวี จะแสดงอาการ HIV หลังการรับเชื้อประมาณ 14 – 28 วัน โดยจะมีอาการเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- มีอาการไอเรื้อรัง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ปวดศีรษะ เวียนหัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผิวหนังเป็นผื่นหรืออักเสบ มีรอยฟกช้ำเป็นจุด ๆ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง
- เหงื่อออกมากจนผิดปกติ
หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ HIV ในเลือด หากผลแสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาในลำดับต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น
ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่ใช่โรคเอดส์
มีคนอีกจำนวนมากที่คิดว่าการติดเชื้อเอชไอวี นั่นหมายความว่าเป็น “เอดส์” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ผิด
HIV คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่ไปทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้วมันจะไปยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากไม่ทำการรักษาระดับ CD4 จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และนำไปสู่การเป็นโรคเอดส์ได้
AIDS คือ โรคเอดส์ สาเหตุจากการติดเชื้อ HIV ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 ระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรคได้ หรือเรียกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งง่ายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ
ระยะของการติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็นระยะ HIV ต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ระยะ 1 – เป็นระยะ HIV ที่เริ่มติดเชื้อ ร่างกายจะไม่ค่อยแสดงอาการ HIV มาก
- ระยะ 2 – ระยะ HIV นี้จะเริ่มมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในปาก ลิ้น หรือเป็นงูสวัด
- ระยะ 3 – เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์เต็มตัว ระยะ HIV นี้อาจมีการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อราขึ้นสมอง วัณโรค
ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จะเป็นระยะที่เรียกว่าติดเชื้อ HIV ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่หากเริ่มก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการติดเชื้อ HIV จะเรียกว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์
ดังนั้นหากรู้ตัวว่ามีเชื้อ HIV จึงควรรีบทำการรักษา การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษา และทำให้ห่างไกลจากโรคเอดส์ได้และผู้ป่วย HIV ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป
เอชไอวี (HIV) ติดต่อได้ทางไหนบ้าง?
- ทางการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- ทางการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย อสุจิ เสมหะ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำนมแม่
- ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลเปิด แผลเริม และแผลติดเชื้อ
- จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น เข็มเจาะหู หรือ เข็มที่ใช้ในการสักลงบนผิวหนัง
- การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (Vertical Transmission)
วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- หากต้องการสักหรือเจาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้ตรวจสอบร้านหรือสถานบริการนั้นจนมั่นใจว่า สะอาด ปลอดภัย มีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกต้อง
- ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อด้วยกันทั้งสิ้นควรป้องกันตัวเองอย่างรอบคอบ
- ตรวจเลือดก่อนการแต่งงานและควรตรวจก่อนการตัดสินใจจะมีลูก
- ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง
- หากรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ ผู้ที่โดนล่วงละเมิดทางเพศหรือลืมป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีหรือยา Prep ที่ช่วยป้องกัน ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อและช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ยา Prep คืออะไร ใช้ตอนไหน?
ยา Prep หรือ Pre-exposure prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อ ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี เช่น กลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือคู่นอนมีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยยา Prep นี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% แต่ต้องรับประทานอย่างถูกต้อง
ก่อนการใช้ยา Prep ควรมีการตรวจ HIV ก่อนเสมอว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน โดยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อประสิทธิภาพของยา
- ทานยา Prep วันละ 1 เม็ด และต้องทานยาให้ตรงเวลาเดิมของทุกวัน
- ต้องทานติดกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการมีเพศสัมพันธ์และทานต่อเนื่องต่ออีก 3 เดือนเต็ม
- กรณีที่มีการทานยาอื่น ๆ อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ต้องแจ้งข้อมูลนี้กับแพทย์ให้ทราบ
- ไม่ควรทานยา Prep 2 เม็ดในวันเดียว หากลืมทานยาให้ทานเม็ดที่ลืมเมื่อนึกขึ้นได้ทันที หากใกล้เวลาทานเม็ดต่อไปแล้ว ให้ทานยาเม็ดถัดไปตามปกติ
- ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากตรวจพบว่าตนเองมีความเสี่ยงคล้ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ยา Prep อาจมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ น้ำหนักลด
- แม้ว่าทานยา Prep แล้ว แต่ยังคงต้องสวมถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่ออื่น ๆ
สิ่งสำคัญที่สุดคือการระวังตัวเองจากความเสี่ยงของการติดเชื้อ หากมีความเสี่ยงที่จะติดควรรีบไปตรวจ HIV เพราะเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อก็จะอยู่กับคุณไปตลอด ควรรีบรักษาก่อนลุกลาม ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด กินยาสม่ำเสมอ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)