เรื่องของความเศร้า ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องอกหักรักคุดแค่อย่างเดียว ความเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น ตกงาน แมวตาย เจ้านายไม่ดี ความสูญเสีย สอบไม่ติด ฯลฯ เรามาเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเศร้ากันในบทความนี้ และความเศร้ากับภาวะซึมเศร้าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าได้มั้ย เราไปหาคำตอบกัน
เพราะสิ่งกระตุ้นอารมณ์เศร้าของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนสามารถทนได้แม้จะประสบกับเหตุการณ์รุนแรงก็สามารถนำตัวเองและความคิดออกจากเหตุการณ์นั้นได้ แต่ในบางคนที่ไม่สามารถจัดการกับความเศร้าได้ วนลูบอยู่กับความเศร้าจนทำให้สมองกลายเป็นสมองเศร้า สมองเมื่อเศร้านานวันเข้า ก็จะเริ่มกลายเป็นโรคซึมเศร้า
แน่นอนว่าความเศร้ามักจะมาพร้อมความสูญเสียอะไรบางอย่าง แต่ความเศร้าก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะความเศร้าจะทำให้เรารู้จัก “ความสุข” เมื่อเราได้จัดการความเศร้าและพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้แล้ว ความเศร้าที่มีมันจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นความสุข การได้รับรู้ถึงความแตกต่างสองขั้นนี้ มนุษย์เท่านั้นที่จะเข้าใจมัน
สถานการณ์ใดบ้างที่อาจจะนำเราเข้าไปสู่ความเศร้า
- มีปัญหาทะเลาะกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก
- รู้สึกโดนกดดันในที่ทำงาน หรือ ที่โรงเรียน
- สูญเสียคนรัก ของรัก เพื่อนรัก
- ต้องดูแลคนป่วย
- ป่วยหรือดูแลคนที่ป่วย
- ปัญหาเหตุการณ์บ้านเมือง ธุรกิจ
- ปัญหาทางการเงิน ฐานะการเงิน
ปัจจัยเหล่านี้ มักจะเป็นปัจจัยที่คนทั่วไปพบเจอในชีวิตประจำวัน และเป็นสาเหตุของอาการเศร้า เสียใจ และความเศร้านี้มันแตกต่างหรือเหมือนกับคนเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เราจะแยกความแตกต่างความเศร้าของทั้งสองประเภทให้ได้ทราบกัน
ความเศร้ากับภาวะซึมเศร้าแตกต่างกันอย่างไร
การรู้สึกเศร้าไม่ได้หมายความว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า เพียงแต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เศร้า แต่ถ้าความเศร้าเหล่านั้นเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงาน ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นแสดงว่า เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า
ความเศร้า
- ความเศร้าถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่มีทั้งสุขและเศร้า
- เกิดจากปฏิกิริยาทั่วไปของมนุษย์ เช่น เศร้าเพราะพ่ายแพ้ ไม่ถูกรางวัลก็เศร้า เป็นต้น
- ความเศร้าจะเป็นอามรณ์เชิงลบ เหมือนความผิดหวัง แต่ไม่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ภาวะซึมเศร้า
- ขาดความเป็นตัวเอง เช่น จากที่เคยเป็นคนมั่นใจ กลับกลายเป็นคนไม่มั่นใจ
- รู้สึกชีวิตไร้ค่า ไม่มีความหมาย เป็นภาระของคนอื่น
- ร้องไห้ติด ๆ กันโดยไม่มีสาเหตุมากกว่า 2 อาทิตย์ขึ้นไป
- ไม่มีแรง อ่อนเพลีย อยากนอนอย่างเดียว
- ในบางกรณี จะแสดงออกมาทางการช้อปปิ้ง ซื้อของทุกอย่าง อย่างไม่มีเหตุผล
- นอนไม่หลับจากที่เคยเป็นคนนอนหลับง่าย
- น้ำหนักลดลง เบื่ออาหาร
- เก็บตัว ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากพูดคุยกับใคร
- ไม่มีสมาธิในสิ่งที่ทำ
- ทนต่อความกดดันไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยทนได้
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง
คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะไม่ทำร้ายคนอื่น คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า คือ คนบ้า คือ คนโรคจิต อยู่ใกล้ ๆ แล้วกลัวจะโดนทำร้าย จริง ๆ แล้วคนที่เป็นโรคซึมเศร้า มองเผิน ๆ อาจจะดูไม่ออก เพราะเขาเหล่านั้นก็คือคนปกติคนหนึ่ง แต่เมื่อสารเคมีในสมองมันเปลี่ยน คนเหล่านี้จะตกอยู่ในภาวะ “ดิ่ง” คือตกไปในหลุมของความเศร้า จะคิดวนไปวนมาอยู่ในเรื่องเดิม ๆ และแต่ละคนจะแสดงออกต่างกันตามความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าอยู่ในขั้นเป็นโรคซึมเศร้าหนัก ๆ อาจจะมีการทำร้ายตัวเอง กินยาฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายในรูปแบบอื่น ๆ เพราะสมองคิดแค่ว่า อยู่ไปก็เป็นภาระ นี่คือความคิดของคนเป็นโรคซึมเศร้า ที่แตกต่างจากคนที่เศร้าแบบปกติที่ไม่ได้มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
วิธีรับมือกับความเศร้า
1.ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น
การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก หรือแม้กระทั่งสอบไม่ติดก็ตาม หากเรายอมรับมันได้ว่า เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ ยอมรับเพื่อให้ตัวเองพร้อมที่จะก้าวไปสู่บทใหม่ ๆ ของชีวิต การทำใจยอมรับนี้ เป็นเหมือนการให้กำลังใจตัวเองเพื่อให้รอดจากความเศร้านี้ไปได้
2.ให้เวลากับตัวเองได้ทบทวน
Lesson Learned ผิดเป็นครู! เรียนรู้ถึงความผิดพลาด เพื่อเอาความผิดพลาดนั้นมาเป็นครูเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก ช่วงเวลาแห่งการทบทวนข้อผิดพลาดนี้ หากอยากจะร้องไห้ ก็จงร้องออกมาซะ! เพราะการร้องไห้เป็นการปลดปล่อยพลังงานลบออกจากตัว เมื่อร้องไห้แล้วจะรู้สึกดีขึ้น ทำให้เรารู้สึกสมองโล่ง สิ่งที่อัดอั้นเหมือนได้ปล่อยออกมา เขียนบันทึกประจำวัน ฟังเพลง ใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัว หรือวาดภาพเพื่อระบายความรู้สึกเศร้า
3.หันมาใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น
หากอยากจะก้าวออกจากความเศร้า ลองหันมาใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น เช่น เข้าร้านทำเล็บ หาของอร่อย ๆ กิน พาตัวเองไปในที่ ๆ ไม่เคยไป ลองเล่นกีฬาที่ไม่เคยเล่นมาก่อน ซื้อคอร์สออกกำลังกายเพื่อจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนใหม่ กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คือการ Healing ชั้นดีที่หาได้จากตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
4.นัดแก๊งค์เพื่อนสนิท
นัดพบปะสังสรร ระบายความทุกข์ ความเศร้ากับกลุ่มเพื่อนสนิท การได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจให้กับคนที่เราไว้ใจฟัง เราจะได้รับมุมมองใหม่ ๆ ที่บางทีปัญหาเราเองก็แค่เส้นผมบังภูเขา นำมุมมองเหล่านั้นมาปรับใช้กับตัวเราถือเป็นการคลายความเศร้าอย่างหนึ่ง
จะเห็นว่าตั้งแต่อ่านบรรทัดแรกจนมาถึงบรรทัดนี้ ไม่มีข้อไหนที่บอกให้พยายามลืมเรื่องเศร้า จากผลการวิจัยชี้ว่า การพยายามบังคับตัวเองให้ลืมบางเหตุการณ์นั้น ยิ่งจะทำให้เรากดดันตัวเองและระบบประสาทอาจทำงานเยอะขึ้น ทำให้การพยายามลืมนั้นยิ่งทำร้ายจิตใจมากกว่าเดิม
ทำยังไงให้หายเศร้า เคล็ดลับเชิ่ดใส่ความเศร้า ก้าวเข้าความสุข
- ต้องเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ มันมีสองด้าน มีขึ้นก็มีลง มีเศร้าเดี๋ยวก็จะมีสุข
- ลองนั่งลิสต์ถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และค่อย ๆ ทำกิจกรรมเหล่านั้นทีละข้อ ทีละข้อ จนครบทุกข้อ มันเหมือนการชาเลนจ์ตัวเองอย่างหนึ่ง เมื่อเราทำสำเร็จ เราจะรู้สึกดีกับตัวเอง และรู้สึกสนุกกับชาเลนจ์นี้
- ค่อย ๆ จัดการกับปัญหาทีละเรื่อง ไม่ควรนำปัญหาทุกอย่างมารวมกัน ให้จัดการกับสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเรามากที่สุดก่อน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ แก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป เชื่อเถอะว่า “ทุกทางเข้า มันมีทางออกเสมอ!”
- หากิจกรรมเพื่อสังคมทำ การได้ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม เป็นการเยียวยาจิตใจของเราเช่นกัน
- ลองแสดงความเศร้าในวิธีที่ต่างออกไป เช่น แทนที่จะระบายอารมณ์ความรู้สึกนั้นลงโซเชียลมีเดีย ลองเปลี่ยนมาระบายความรู้สึกเหล่านั้นในไดอารี่ การเขียนไดอารี่นอกจากจะช่วยระบายอารมณ์และความรู้สึกไม่ดีออกไปได้แล้ว เมื่อเรากลับมาอ่าน มันจะเป็นบทเรียนชั้นดีให้กับตัวเราเอง หรือลองหาสมุดมาระบายสี เพื่อขจัดอารมณ์เศร้า วิธีนี้ ถือเป็นการใช้ศิลปะบำบัด
- หากทำวิธีต่าง ๆ แล้วยังไม่ได้ผล ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตบำบัด เพื่อหาทางช่วยระบายความเศร้าออกจากตัว
แต่หากมีภาวะคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายขึ้นมาเมื่อไหร่ แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ากระบวนการรักษาทันที เพื่อป้องกันความสูญเสียหรือการบาดเจ็บในร่างกาย
สุดท้าย เราไม่สามารถปฏิเสธความทุกข์ได้ แต่ถ้าเรามีวิธีที่จะรับมือกับมัน เข้าใจธรรมชาติของความเป็นคนที่ต้องมีทั้งสุขและทุกข์ พยายามดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรา รูทันอารมณ์ของตัวเอง เท่านี้ก็จะช่วยให้เรามีความสุขได้
รู้ใจขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีในทุก ๆ วัน บางคนพบความเศร้าจากการดูแลคนป่วย หรือการเผชิญหน้ากับโรคร้าย ท้อแท้สิ้นหวังกับการรักษาตัว หรือมีความกังวลทางการเงินจากการรักษาโรคร้ายแรง การเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคร้าย ด้วยประกันมะเร็ง คุ้มครองมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ แม้ตรวจเจอโรคร้ายก็ยังอุ่นใจ เพราะหากตรวจเจอรับเงินก้อนสูงสุดหลักล้านทันที รู้ใจพร้อมช่วยเซฟคุณและคนที่คุณรักจากความเครียดและค่าใช้จ่ายจากการรักษาตัวด้วยโรคมะเร็ง
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)