เพราะแกนกลางลำตัวเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้ร่างกายของเราตั้งตรงได้ แกนกลางลำตัวที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ คือกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังมีหน้าที่ช่วยพยุงร่างกายให้ตั้งตรง ก้ม หรือบิดตัวได้ วันนี้รู้ใจ อยากจะชวนเพื่อน ๆ พนักงานออฟฟิศและทุก ๆ คน มาเช็ค 4 สัญญาณอันตรายที่ร่างกายกำลังบอกว่า เรากำลังมีปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ทราบหรือไม่ว่า ร่างกายคนเรามีกระดูกทั้งหมดกี่ชิ้น ? เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าร่างกายของเรามีกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น สำหรับในผู้ใหญ่ และในเด็กจะมีกระดูกทั้งหมด 350 ชิ้น ที่เด็กมีกระดูกมากกว่าในวัยผู้ใหญ่ก็เพราะว่า ในวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต กระดูกจึงมีความสำคัญมากในช่วงวัยนี้ และเมื่อร่างกายของเด็ก ๆ เริ่มพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ กระดูกเหล่านี้จะค่อย ๆ เชื่อมต่อกันจนรวมเป็นชิ้นเดียว
กระดูกมี 206 ชิ้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม
- กระดูกแกน – หน้าที่คือช่วยปกป้องอวัยวะสำคัญ ๆ ในร่างกาย เช่น กะโหลกศีรษะปกป้องสมอง กระดูกสันหลังปกป้องไขสันหลัง กระดูกอกและซี่โครงทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะในช่องอก ซึ่งกระดูกแกนจะเป็นกระดูกที่อยู่บริเวณกลางลำตัว มีทั้งหมด 80 ชิ้น ที่ช่วยพยุงร่างกายของเราเอาไว้
- กระดูกกระโหลกศีรษะ 29 ชิ้น (ไม่นับรวมกับฟัน)
- กระดูกสันหลัง 29 ชิ้น
- กระดูกซี่โครง 24 ชิ้น
- กระดูกหน้าอก 1 ชิ้น
- กระดูกรยางค์ – จัดว่าเป็นกระดูกที่ยื่นจากกระดูกแกนออกไป ทำหน้าที่ในการค้ำจุนร่างกายและปกป้องอวัยวะภายในเช่นกระดูกแกน มีทั้งหมด 126 ชิ้น
- กระดูกแขน 60 ชิ้น (ข้างละ 30 ชิ้น)
- กระดูกขา 60 ชิ้น (ข้างละ 30 ชิัน)
- กระดูกสบัก 2 ชิ้น (ข้างละ 1 ชิ้น)
- กระดูกเชิงกราน 2 ชิ้น (ข้างละ 1 ชิ้น)
- กระดูกไหปลาร้า 2 ชิ้น (ข้างละ 1 ชิ้น)
ความเชื่อที่ไม่เป็นความจริงก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า กระดูกจะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว แคลเซียมในกระดูกของคนเรา มีการสร้างและการสลายตัวอยู่ตลอดเวลา อายุหลัง 30 ปีขึ้นไป การสลายตัวของเเคลเซียมจะมีมากกว่าการสร้างใหม่ ข้อพึงระวังก็คือ หากกระดูกเราไม่เเข็งแรง จะทำให้เกิดปัญหาโรคกระดูกเปราะหรือกระดูกพรุน และอาจทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ไขข้ออักเสบ ข้อเสื่อม ปวดหลัง หรือร่างกายเคลื่อนไหวได้ลำบาก เป็นต้น
เมื่อเราได้ทำความเข้าใจภาพรวมของกระดูกในร่างกายของเรากันไปแล้ว เรามาลงรายละเอียดเกี่ยวกับกระดูกสันหลังของเราให้มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร
หมอนรองกระดูกสันหลังมีชื่อทางภาษาอังกฤษว่า Intervertebral Disc เป็นอวัยวะที่ขั้นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ หน้าที่คือเป็นตัวรับน้ำหนักและคอยซับเเรงกระแทกที่ถ่ายทอดจากกระดูกสันหลังชิ้นบนลงมาถึงกระดูกสันหลังชิ้นล่าง หรือให้นึกถึงรถที่มีโช๊คอัพคอยรับแรงกระแทกนั่นเอง
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ โรคที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูก ยังนับรวมไปถึงการแตกของหมอนรองกระดูกหรือการที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา หากหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรอยู่แต่ยังไม่ทับเส้นประสาท จะทำให้เรามีอาการปวดเพียงอย่างเดียว เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดสะโพก แต่ถ้าหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาทเมื่อไหร่ จะทำให้เรามีอาการค่อนข้างมาก เช่น ปวดขาและมีอาการชา บวกกับอ่อนแรงโดยเฉพาะบริเวณเท้าและข้อเท้า
เช็คอาการปวด เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้ทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทที่โดนกดทับนั้นเกิดการอักเสบ ลองเช็คสัญญาณบอกโรคจากอาการดังต่อไปนี้
- มักจะมีอาการปวดของกล้ามเนื้อหลัง บริเวณกลางหลังหรือเอวด้านล่าง มักจะมีสาเหตุจากการยกของหนัก ๆ ที่ผิดท่า ออกกำลังกายผิดท่า หรือนั่งทำงานนาน ๆ โดยนั่งท่าที่ไม่ถูกต้อง
- หากกดตามแนวกล้ามเนื้อจะรู้สึกเจ็บ
- ปวดเอวและหลังส่วนล่าง รวมไปถึงสะโพกและกระเบนเหน็บ อาการปวดจะร้าวลงไปที่ต้นขาด้านหลัง
- มักจะมีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย
- เวลาไอ จาม หรือเบ่ง จะยิ่งปวดมาก เนื่องจากเกิดแรงดันในไขสันหลัง
- บางรายจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมการขับถ่ายด้วย
แนวทางการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ซักประวัติของผู้ป่วย รวมถึงอาการปวด
- ระยะเวลาของอาการปวด เช่น ปวดแบบเฉียบพลันหรือไม่ หรือปวดจากอุบัติเหตุ ยกของ หรือเอี้ยวตัวแล้วรู้สึกปวด
- มีอาการปวดแบบรุนแรงและร้าวลงขาหรือไม่
- ส่งเข้าห้องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI จะทำให้มองเห็นพยาธิสภาพได้ชัดเจนว่ามีหมอนรองกระดูกเคลื่อนมาทับเส้นประสาทหรือไม่
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาหายหรือไม่
การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย หากเป็นระยะแรก ๆ ไม่ได้ปวดมาก แพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย เช่น การทำกายภาพบำบัด และการประคบร้อน ในรายที่ปล่อยให้อาการปวดรุนแรงโดยไม่รักษาตั้งแต่แรก อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด
ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกพัฒนาขึ้นมากจากสมัยก่อน แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก โดยจะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ใส่เครื่องมือและทำการผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปหยิบหมอนรองกระดูกที่แตกออก แผลผ่าตัดจะเล็ก ผู้ป่วยจะเจ็บน้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
การฟื้นฟูหลังการผ่าตัด
- ปรับพฤติกรรม เช่น ไม่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานเกิน 1 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการก้ม เงย หรือยกของหนัก ๆ
- ออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหลังและหน้าท้องให้เเข็งแรง เช่น พิลาทิส
- ฝึกยืดกล้ามเนื้อหลัง เพื่อเป็นการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง
- ทำกายภาพบำบัด
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจำพวก ปลา นม ผลไม้ นมถั่วเหลือง เพื่อช่วยเพิ่มแคลเซียมให้กับกระดูก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์
หากเพื่อน ๆ ผู้อ่านมีอาการตามข้างต้นที่กล่าวมานี้ อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย การพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและมีโอกาสหายได้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองด้วย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)