Roojai

สรุปการทำงานของหัวใจ 4 ห้อง รู้ทันความผิดปกติได้ถ้ารู้ใจตัวเอง

สรุประบบการทำงานของหัวใจ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

หัวใจเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการคงชีวิตของมนุษย์ หน้าที่ของหัวใจคือสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย เพื่อให้เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น บทความนี้จึงอยากชวนให้คุณได้รู้จักใจของตัวเองว่าหลักการทำงานของหัวใจทั้ง 4 ห้องนั้นมีความสำคัญยังไง โครงสร้างของหัวใจ ความผิดปกติที่ควรสังเกตได้ด้วยตัวเอง และการป้องกัน 

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

ทำไมเราต้องรู้และให้ความสำคัญเรื่องหัวใจ?

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคหัวใจสะสมถึง 2.5 แสนคน เสียชีวิตกว่า 4 หมื่นคน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 5 คน ตามอ้างอิงจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center)

สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจในระดับโลก นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลจากสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation, WHF) ซึ่งระบุว่า “โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี และร้อยละ 85 ของการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง” (ที่มา: กรมควบคุมโรค)

หัวใจของคนเรามีกี่ห้อง และมีหน้าที่อะไรบ้าง?

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของมนุษย์ หน้าที่ของหัวใจคือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หัวใจมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 4 ห้อง ได้แก่ หัวใจห้องบน 2 ห้อง และหัวใจห้องล่าง 2 ห้อง โดยห้องทั้ง 4 ของหัวใจ ทำหน้าที่ร่วมกันในการสูบฉีดเลือดและแบ่งออกเป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับเลือด (เอเตรียม) และส่วนที่ส่งเลือดออกจากหัวใจ (เวนทริเคิล) ดังนี้

ระบบการทำงานของหัวใจห้องบน (Atrium)

1. หัวใจห้องบนซ้าย หรือเอเตรียมซ้าย (Left Atrium) ทำหน้าที่รับเลือดที่มีออกซิเจนจากปอดผ่านทางหลอดเลือดพัลโมนารี (Pulmonary Veins) และส่งเลือดนี้ไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย

2. หัวใจห้องบนขวา หรือเอเตรียมขวา (Right Atrium) ทำหน้าที่รับเลือดที่ร่างกายใช้เสร็จแล้ว (ขาดออกซิเจน) ผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ (Superior และ Inferior Vena Cava) และส่งต่อเลือดไปยังหัวใจห้องล่างขวา

ระบบการทำงานของหัวใจห้องล่าง (Ventricle)

3. หัวใจห้องล่างซ้าย หรือเวนทริเคิลซ้าย (Left Ventricle) ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปทั่วร่างกายผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) เพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารให้กับเซลล์ต่างๆ

4. หัวใจห้องล่างขวา หรือเวนทริเคิลขวา (Right Ventricle) ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่ขาดออกซิเจนไปยังปอดผ่านหลอดเลือดพัลโมนารี (Pulmonary Artery) เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซและรับออกซิเจน

โครงสร้างและระบบการทำงานของหัวใจ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

วงจรการทำงานของหัวใจ 4 ห้อง

ระบบการทำงานของหัวใจ 4 ห้องนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นวงจร ดังนี้

  1. เลือดที่ร่างกายใช้แล้วจะไหลจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา
  2. จากนั้นเลือดจะถูกส่งไปยังหัวใจห้องล่างขวา เพื่อสูบฉีดไปยังปอด
  3. เลือดที่ผ่านการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย
  4. หัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
  5. วงจรนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ

โครงสร้างของหัวใจมีอะไรบ้าง?

หัวใจประกอบด้วยโครงสร้างหลักที่สำคัญ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) เป็นชั้นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือด
  • ลิ้นหัวใจ (Heart Valves) ลิ้นหัวใจทำหน้าที่เป็นประตู เปิดให้เลือดไหลจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง และปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ โดยมี 4 ลิ้นหัวใจที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนเลือด ไม่ให้ย้อนกลับทางเดิม คือ
    • ลิ้นเอออร์ติก (Aortic Valve) กั้นหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดใหญ่ที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
    • ลิ้นพัลโมนารี (Pulmonary Valve) กั้นหัวใจห้องล่างขวากับหลอดเลือดแดงปอด
    • ลิ้นไตรคัสปิด (Tricuspid Valve) กั้นหัวใจห้องบนขวากับหัวใจห้องล่างขวา
    • ลิ้นไมทรัล (Mitral Valve) กั้นหัวใจห้องบนซ้ายกับหัวใจห้องล่างซ้าย
  • หลอดเลือดหัวใจ (Coronary Arteries) ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
  • เส้นประสาทหัวใจ ที่ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ
รู้ทันอาการผิดปกติของหัวใจ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

รู้ทันความผิดปกติของหัวใจตัวเองยังไง?

การรู้เท่าทันอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับหัวใจสามารถช่วยให้คุณได้รับการดูแลที่รวดเร็วและป้องกันความรุนแรง ป้องกันความเสี่ยงโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เรามาดูสัญญาณเตือนที่ควรสังเกตได้เอง มีดังนี้

1. เจ็บหน้าอก

อาการเจ็บแน่นหรือปวดที่หน้าอกเป็นสัญญาณสำคัญของปัญหาหัวใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขณะออกแรงหรือเครียด ควรรีบพบแพทย์หากมีอาการนี้

2. หายใจลำบาก

หากหายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจเป็นอาการของโรคหัวใจล้มเหลวหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

3. หัวใจเต้นผิดปกติ

หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ อาจบ่งบอกถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าของหัวใจ

4. มีอาการบวมที่ขาหรือเท้า

หากขาหรือเท้าบวมโดยไม่มีสาเหตุ เช่น อาการบวมน้ำ อาจเกิดจากหัวใจทำงานไม่เต็มที่ ทำให้การไหลเวียนเลือดมีปัญหา

5. เวียนศีรษะหรือเป็นลมบ่อย

การเวียนศีรษะหรือเป็นลมบ่อยอาจบ่งบอกถึงภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ

วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

วิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ควรเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารแปรรูป เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และปลาที่มีไขมันดี เช่น แซลมอนและปลาทูน่า

เทคนิคกินดี ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง!

นอกจากเรียนรู้การทำงานของหัวใจทั้ง 4 ห้องแล้ว การทานอาหารนี่แหละที่ช่วยบำรุงหัวใจ มีส่วนช่วยลดสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงซึ่งทำให้การเลือดไหลเวียนได้ลำบาก โดยอาหารที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ได้แก่

  • ปลาที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอนและปลาทูน่า อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  • ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง มีเส้นใยอาหารและวิตามินบีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบอร์รี และบร็อคโคลี ซึ่งสามารถช่วยลดการอักเสบและปกป้องหัวใจ
  • ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ และเมล็ดเจีย มีประโยชน์ต่อหัวใจเช่นกัน เพราะมีไขมันดีและเส้นใยอาหาร

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เพื่อเพิ่มการทำงานของหัวใจและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

3. ควบคุมน้ำหนัก

การมีน้ำหนักที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ

4. เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์

บุหรี่และแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้หลอดเลือดตีบตัน ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ

5. ควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล

ควรตรวจเช็คความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำ หากพบว่าค่าดังกล่าวสูง ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษา

6. ลดความเครียด

ความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ควรหาเวลาผ่อนคลายด้วยการนั่งสมาธิหรือทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

7. ตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและสามารถป้องกันโรคหัวใจได้ตั้งแต่ระยะแรก

นอกจากการดูแลตัวเองทั้ง 7 ข้อนี้แล้ว การวางแผนอนาคตโดยการเลือกทำประกันโรคร้ายเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เป็นการป้องกันที่ดีอีกหนึ่ง ประกันโรคร้ายแรงที่รู้ใจคุ้มครอง 4 กลุ่มโรคร้ายแรง มีความคุ้มครองโรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด และอีกหลายโรคมากกว่า 80+ โรค เลือกปรับแผนได้ตามใจ เช็คราคาไม่ต้องใส่เบอร์หรืออีเมลได้เลย

การทำงานของหัวใจทั้ง 4 ห้องมีความสำคัญในการรักษาการไหลเวียนเลือดและการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ การดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียด และตรวจสุขภาพประจำปี เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ การดูแลหัวใจไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี แต่ยังช่วยให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ความดันโลหิต แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดเลือดของหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความดัน
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นและสามารถพบได้ในอาหารบางชนิด โดยคอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกายในการสร้างเซลล์และฮอร์โมนต่าง ๆ มีทั้งชนิดที่ดี (HDL) และไม่ดี (LDL) หากมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด