Roojai

เช็คอาการสูญเสียการได้ยิน หูตึง หูหนวก หูดับ สาเหตุ-วิธีรักษา

อาการของการสูญเสียการได้ยิน หูตึง หูหนวก หูดับ| ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

อาการหูตึง หูหนวก ที่พบเห็นกันบ่อย ๆ มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นประสาทหูก็จะเสื่อม ลงตามวัย แต่ในบางกรณี ในวัยหนุ่มสาวก็สามารถเกิดหูดับเฉียบพลันได้เช่นกัน หรือในบางคนที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม แต่การสูญเสียการได้ยินเช่นนี้ แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย วันนี้รู้ใจมาอธิบายถึงสาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน วิธีการรักษา

อาการหูดับ หูตึง หูหนวก  หรือการสูญเสียการได้ยิน คืออะไร?

อาการหูดับ หูตึง หูหนวก หรือการสูญเสียการได้ยิน (Hearing Loss, Deaf) คือ ภาวะที่ความสามารถทางการได้ยินหรือการรับเสียงลดลง ซึ่งอาการอาจเกิดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่ได้ยินไปเลยก็ได้ (หูดับสนิท) มักจะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องอยู่กับเสียงดังเป็นประจำ อาจทำให้เซลล์ขนเสื่อมสภาพ จนสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินมีกี่ประเภท?

การสูญเสียการได้ยิน สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท

  1. การนำเสียงบกพร่อง หรือ Conductive Hearing Loss คือ ภาวะผิดปกติที่หูชั้นนอก หรือบริเวณรูหู หรือหูชั้นกลางปิดกั้นการเดินทางของเสียงไปยังหูชั้นใน
  2. ประสาทรับเสียงบกพร่อง หรือ Sensorineural Hearing Loss เกิดจากเซลล์ขนและเซลล์ประสาทของหูชั้นในได้รับความเสียหายตามกาลเวลา ทำให้ประสาทรับเสียง บกพร่อง โรคสูญเสียการได้ยินเฉียบพลันหรือหูหนวกนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อย
  3. การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม หรือ Mixed Hearing Lossเป็นการเกิดปัญหาที่บริเวณหูชั้นกลาง หรือหูชั้นนอกร่วมกับการนำเสียงและประสาทรับเสียงในหูชั้นในบกพร่อง
วิธีเช็คว่าเราสูญเสียการได้ยินหรือไม่| ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

การสูญเสียการได้ยินเกิดจากอะไร?

  1. เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นนอก เช่น มีขี้หูอุดตัน รูหูตีบ หรือมีเนื้องอกในรูหู
  2. มีความผิดปกติของเยื่อแก้วหู หรือเยื่อแก้วหูทะลุจากเสียงที่ดัง ความกดอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู หรือเกิดการอักเสบและติดเชื้อที่เยื่อแก้วหู ทำให้ไม่ได้ยิน
  3. เกิดความผิดปกติที่หูชั้นกลาง เช่น หูน้ำหนวก กระดูกหูยึด หรือหลุดออกจากกัน
  4. เกิดความผิดปกติของหูชั้นใน จากการที่อายุมากขึ้น หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ขนหรือเซลล์ประสาทภายในอวัยวะรูปหอยโข่งเสื่อมสภาพ นำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน

การเกิดอุบัติเหตุก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินได้ ดีกว่ามั้ยหากมีประกันอุบัติเหตุคุ้มครอง ที่รู้ใจมีประกันอุบัติเหตุส่วนบคคลที่สามารถปรับแต่งแผนความคุ้มครองได้ตามใจ เลือกได้ทั้งความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การสูญเสียการรับฟังเสียง การพูดออกเสียง นิ้วมือ และนิ้วเท้า, ค่ารักษาพยาบาล, เงินชดเชยรายวัน และยังซื้อเพิ่มความคุ้มครองเมื่อขับขี่หรือโดยสารมอเตอร์ไซค์ และการแข่งขันกีฬาอันตราย

โรคไข้หูดับ ภัยเงียบใกล้ตัวเสี่ยงหูหนวกตลอดชีวิต

การสูญเสียการได้ยิน นอกจากข้อมูลในข้างต้น ยังมีโรคไข้หูดับ ที่อาจเป็นสาเหตุได้ โดยความรุนแรงของโรคนี้ทำให้เสี่ยงหูหนวกตลอดชีวิต และยังเป็นอันตรายถึงชีวิตด้วย เกิดจากการทานหมูที่ไม่สุก สัมผัสเลือด/สารคัดหลั่งจากหมูที่ติดเชื้อ ทำให้มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว มีจ้ำเลือด และหูหนวก หากสงสัยว่าเป็นโรคไข้หูดับควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

เช็คด่วน! อาการแบบนี้เข้าข่ายการสูญเสียการได้ยิน

เช็คอาการสูญเสียการได้ยิน

  • ได้ยินเสียงแต่อู้อี้
  • มีปัญหาการได้ยินโดยเฉพาะอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง
  • มีปัญหาในการได้ยินเสียงพยัญชนะ
  • มีการขอให้ผู้อื่นพูดช้า ๆ และดัง ๆ เกิดขึ้นบ่อย
  • เปิดเสียงทีวี วิทยุดังกว่าเดิม
  • มีเสียงรบกวนในหู

แต่อาจจะมีอีกหลายคนสงสัยว่า และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหรือหลานของเรา มีอาการหูหนวก หูตึงหรือไม่ รู้ใจมีวิธีเช็คอาการเบื้องต้นมาให้ด้วย

การรักษาอาการสูญเสียการได้ยิน| ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

เช็คอาการสูญเสียการได้ยินในทารก

  • เด็กไม่มีอาการตกใจเมื่อมีเสียงดัง
  • ไม่หันหน้ามามองตามเสียงหลังมีอายุได้ 6 เดือน
  • ไม่พูดเป็นคำ เช่น พ่อ แม่ เมื่อมีอายุ 1 ปี 
  • ไม่มีการตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ

เช็คอาการสูญเสียการได้ยินในเด็ก

  • พูดคำว่า “ฮะ?”เกือบทุกครั้งที่มีการสนทนา
  • พูดช้า
  • พูดไม่ชัด
  • ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ 
  • ชอบปรับเสียงทีวีให้ดัง ๆ

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สูญเสียการได้ยิน?

  • อายุ – เมื่ออายุมากขึ้น หูชั้นในจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง
  • เสียงดัง – ในคนที่ต้องทำงานในที่ที่เสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง โรงงาน ดีเจ นักร้อง นักดนตรี หรือผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเสียง อาจทำให้หูชั้นในได้รับความเสียหาย นำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน 
  • พันธุกรรม – ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม อาจทำให้หูชั้นในมีความไวต่อการถูกทำลาย จากการได้ยินเสียงดัง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด – ยาบางตัว เช่น Gentamicin, Sildenafil และยารักษามะเร็ง อาจทำให้หูชั้นในได้รับความเสียหาย และการใช้ยาแอสไพรินปริมาณมาก ๆ ยาแก้ปวด ยารักษามาลาเรีย ยาขับปัสสาวะในกลุ่มลูปไดยูเรติกในปริมาณสูง อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการได้ยินชั่วคราว เช่น ได้ยินเสียงในหู 
  • อาการเจ็บป่วย – เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักจะทำให้มีไข้สูงและอาจทำให้เซลล์ขนในหูชั้นในถูกทำลาย

การสูญเสียการได้ยินรักษายังไง?

  1. ทำความสะอาดเพื่อกำจัดขี้หู หากเป็นการสูญเสียการได้ยินจากขี้หูอุดตัน สามารถแก้ไขได้โดยการดูด หรือใช้เครื่องมือนำขี้หูออกมา 
  2. การผ่าตัด อาการสูญเสียการได้ยินบางประเภทต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง อาจทำให้มีของเหลวคั่งในหู โดยแพทย์จะสอดท่อเข้าไประบายของเหลวภายในหูออก
  3. การใช้เครื่องช่วยฟัง การใช้เครื่องช่วยฟัง เหมาะกับผู้ที่สูญเสียการได้ยินที่หูชั้นในได้รับความเสียหาย เครื่องช่วยฟังมีหลายประเภท สามารถปรึกษานักแก้ไขการได้ยินให้แนะนำเครื่องช่วยฟังให้เหมาะกับอาการได้
  4. การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม หากใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการได้ยินได้ แพทย์อาจทำการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นเส้นประสาทการได้ยินในบริเวณหูชั้นในที่ทำงานผิดปกติ ต่างจากเครื่องช่วยฟังซึ่งจะทำหน้าที่ขยายเสียง และส่งเสียงผ่านเข้าไปในรูหู

สำหรับใครที่กำลังกังวลว่า ในเรื่องค่ารักษาพยาบาล สิทธิบัตรประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 จะสามารถเบิกเครื่องช่วยฟังได้ฟรี แต่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ส่งเงินสมทบรวมกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนเดือนที่จะทำการรักษา

สูญเสียการได้ยินเป็นภาวะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย การป้องกันการสูญเสียการได้ยินจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดัง ลดระดับเสียงของเครื่องเล่นเพลง วิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ใช้เครื่องป้องกันหูในสถานที่ที่มีเสียงดัง และตรวจสุขภาพหูเป็นประจำ และเมื่อเกิดความผิดปกติกับหู อย่ากลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับตนเอง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

หูดับเฉียบพลัน ภาวะที่เกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลัน จึงทำให้ไม่ได้ยินเสียงใด ๆ เลย โดยมักเกิดหูไม่ได้ยินข้างหนึ่ง และอาจเกิดในชั่วขณะ หรืออาจกินเวลาหลายวัน
ประสาทหูเทียม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แทนการทำงานของหูชั้นใน ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินชนิดรุนแรงหรือหูหนวก สามารถกลับมารับรู้เสียงและเข้าใจคำพูดได้อีกครั้ง
เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ออกแบบมาเพื่อขยายเสียง ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสามารถรับฟังเสียงได้ดีขึ้น