Roojai

รู้จักโรคฝีดาษลิง มีวัคซีนป้องกันอย่างไร ต้องปลูกฝีอีกไหม?

ทำความรู้จักโรคฝีดาษลิง | รู้ใจ

ข่าวการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงสร้างความกังวลใจให้กับคนไทยไม่น้อย แต่ก็ยังมีข่าวดีให้ใจชื้นกันขึ้นมาได้บ้างเพราะในประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อของโรคฝีดาษลิง เพียงแต่อยู่ในช่วงเฝ้าระวังเท่านั้น และอัตราการแพร่ระบาดไม่น่าจะเป็นวงกว้างเหมือนโควิด 19 แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรประมาท “กันไว้ย่อมดีกว่าแก้เสมอ”

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง เรามาทบทวนกันถึงโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณกันก่อนสักนิดดีกว่า

โรคฝีดาษ (Smallpox) เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ วาริโอลา (Variola Virus) เป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อกันได้หากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยติดต่อผ่านการหายใจ รับเอาละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

อาการของผู้ป่วยโรคฝีดาษเป็นอย่างไร?

เมื่อได้รับเชื้อวาริโอลามาแล้ว เชื้อจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 7-17 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไม่สบายตัว หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดหลังรุนแรง อาเจียน ซึ่งอาการเหล่านี้จะทุเลาลงใน 2-3 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า มือ และปลายแขน และจะค่อย ๆ ลามไปตามลำตัว และพัฒนาไปเป็นตุ่มแดงนูนทั่วทั้งตัว หากเป็นขั้นรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

แผลเป็นโรคฝีดาษลิงที่ต้นแขน | รู้ใจ

โรคฝีดาษลิง คืออะไร?

โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มีอาการคล้ายไข้ทรพิษแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า มักพบการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในประเทศเเถบแอฟริกา

โรคฝีดาษลิงยังสามารถพบได้ในสัตว์อีกหลายชนิด โดยเฉพาะในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้เช่นกัน เช่นเดียวกับไข้ทรพิษที่ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง

อาการของโรคฝีดาษลิงเป็นอย่างไร?

เชื้อไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลืองของผู้ที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงและจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 7-21 วัน โดยจะมีอาการคล้ายไข้ทรพิษ คือ มีไข้สูง มีผื่นต่อมหนอง ขึ้นที่หน้า ฝ่ามือ และทั่วร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต มีแผลในช่องปาก หลังจาก 2-4 สัปดาห์ผ่านไป ผื่นจะพัฒนาไปเป็นผื่นนูนและเป็นตุ่มน้ำ (คล้ายอีสุกอีใส) เมื่อตุ่มหนองแตกและแห้ง ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น ระยะเวลาแพร่เชื้อจะสามารถแพร่เชื้อได้หลังจากมีอาการไข้สูง และจะหยุดการแพร่เชื้อโรคฝีดาษลิงหลังจากตุ่มหนองแตกและแห้งแล้ว

โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้ 2 กรณี ดังนี้

1.จากสัตว์สู่คน

การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจากสัตว์สู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงและสามารถติดต่อได้โดยผ่านสารคัดหลั่ง ตุ่มหนอง หรือติดต่อผ่านการโดนสัตว์ที่มีเชื้อโรคฝีดาษลิงกัด หรือจากการกินเนื้อสัตว์ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีเชื้อไวรัสของโรคฝีดาษลิงนี้อยู่

2.จากคนสู่คน

การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจากคนสู่คน เกิดขึ้นจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยสามารถรับเชื้อผ่านแผลตามร่างกาย ทางการหายใจ จมูก หรือปาก ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่สามารถติดต่อได้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยสัมผัสกับวัตถุต่าง ๆ เช่น ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า เชื้อไวรัสพวกนี้จะสามารถแพร่กระจายไปยังคนที่มาสัมผัสบริเวณดังกล่าวได้ แต่ยังโชคดีที่โอกาสการแพร่เชื้อจากคนสู่คนนั้นมีน้อยมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

โรคฝีดาษลิงมีวัคซีนป้องกันไหม | รู้ใจ

พอทราบกันคร่าว ๆ ถึงโรคฝีดาษลิงกันไปแล้ว ทีนี้ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นในใจตามมาอีกว่า แล้วโรคฝีดาษลิงต่างจากโรคอีสุกอีใสอย่างไร ในเมื่อมีตุ่มน้ำขึ้นตามตัวเหมือนกัน จะแยกออกได้อย่างไรว่าเป็นโรคฝีดาษลิงหรืออีสุกอีใส

โรคฝีดาษลิงและโรคอีสุกอีใสแตกต่างกันอย่างไร?

โรคอีสุกอีใส โรคเริม และโรคงูสวัด ถือเป็นกลุ่มโรคที่มาจากเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกัน โดยอาการจะเริ่มจากมีตุ่มใสตามร่างกาย แตกง่าย ส่วนใหญ่จะขึ้นที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้นกบ สามารถเป็นซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคจะฝังตัวในเส้นประสาทเมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด อาการเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เชื้อโผล่ออกมาอีกครั้ง สามารถหายเองได้ภายใน 7-15 วัน โดยไม่พบว่ามีอาการแทรกซ้อนหรือไข้นำ

ส่วนโรคฝีดาษลิง จะมีไข้สูงนำมาก่อน ตามมาด้วยต่อมน้ำเหลืองโต เนื่องจากเชื้อไวรัสจะฝังตัวอยู่ในต่อมน้ำเหลือง หลังจาก 1-3 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นที่หน้า แขนขา ก่อนส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย ในขณะที่อีสุกอีใสจะมีตุ่มขึ้นทั้งตัว

ความแตกต่างของ 2 โรคนี้คือ ตุ่มอีสุกอีใสที่ขึ้นตามตัวในระยะเวลา 12 ชั่วโมงนั้น ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มใส และตุ่มหนอง ปนกัน ส่วนโรคฝีดาษลิงจะมีตุ่มขึ้นทั้งตัว ใช้เวลาพัฒนาใน 1-2 วัน ซึ่งช้ากว่าอีสุกอีใส อีกจุดที่ต่างกันคือ อีสุกอีใสต่อมน้ำเหลืองจะไม่โตเหมือนโรคฝีดาษลิง ซึ่งมักจะใช้จุดนี้เป็นการจำแนกของ 2 โรคนี้

โรคฝีดาษลิง มีขั้นตอนการรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันอย่างไร?

ณ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคฝีดาษลิง มีเพียงแต่การควบคุมการระบาดด้วยการป้องกันการติดเชื้อไวรัส แต่ในคนที่มีการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ถือว่ายังมีภูมิคุ้มกันที่สูงอยู่ สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85%

แต่ปัจจุบันได้มีการยกเลิกการปลูกฝีไปนานกว่า 40-50 ปีแล้ว เนื่องจาก ณ เวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขสามารถกำจัดโรคฝีดาษได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีการยกเลิกการปลูกฝีนับตั้งแต่นั้นเป้นต้นมา นั่นหมายความว่าคนที่มีอายุน้อยกว่า 40-50 ปีหรือคนที่ไม่ได้รับการปลูกฝีมาตั้งแต่ยังเด็ก จะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษนี้อยู่เลย

แผลเป็นโรคฝีดาษลิงที่แขน | รู้ใจ

แล้วเราจำเป็นต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกครั้งหรือไม่?

คำตอบ จาก นพ.จักรรัฐ พทยาวงศ์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ยังไม่ต้องปลูกฝีใหม่ ทั่วโลก ณ ตอนนี้ไม่มีวัคซีนชนิดนี้แล้ว เหลือเพียงสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้นที่ยังคงเก็บเชื้อไข้ทรพิษไว้อยู่ และยังระบุต่ออีกว่า ส่วนใหญ่แล้วถ้าหากเกิดการติดเชื้อจะสามารถหายได้เอง ยกเว้นแต่มีอาการติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อน ถึงจะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงได้ ฉะนั้น จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบผลิตวัคซีนหรือปลูกฝีในตอนนี้

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถทำได้อย่างไร?

  1. เลี่ยงการสัมผัสตุ่มหนองโดยตรงจากสัตว์
  2. รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
  3. ล้างมือให้สะอาดและล้างบ่อย ๆ 
  4. ไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

ได้รู้จักโรคฝีดาษลิงกันไปแล้ว แม้ว่าความรุนแรงและการแพร่ระบาดของโรคนี้จะยังมีน้อย แต่การรักษาตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพและการทำร่างกายให้แข็งแรงนั้น ไม่ใช่แค่ป้องกันโรคฝีดาษลิงแต่ยังสามารถป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้อีกด้วย นอกจากป้องกันสุขภาพร่างกายแล้ว การป้องกันและดูแลสุขภาพทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากโรคร้ายแรงหรืออุบัติเหตุถือเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม คุณจะได้พักรักษาตัวได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน เพราะที่รู้ใจคุ้มครองให้คุณ สามารถดูรายละเอียดแผนประกันสุขภาพต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ สามารถปรับแต่งแผนได้เองตลอด 24 ชม. รู้ใจห่วงใย อยากให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง

ติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai