อาการปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด หรืออาหารไม่ย่อย คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะ ซื้อยาลดกรดมากินเดี๋ยวก็หาย แต่หากกินยาแล้วไม่หาย อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะอาการปวดท้องลักษณะนี้อาจจะไม่ใช่เเค่โรคกระเพาะก็ได้ แต่อาจจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะในระยะเริ่มแรกของมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แสบท้อง ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้ คล้ายกับกระเพาะอาหารอักเสบ
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการเป็นยังไง?
- ปัจจัยอะไรที่เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร?
- ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร?
- วิธีการตรวจโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- มะเร็งกระเพาะอาหารรักษายังไง?
- มะเร็งกระเพาะอาหารมีวิธีป้องกันยังไง?
- วิธีรับมือหากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- 5 พฤติกรรมทำแทบทุกวัน เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารไม่รู้ตัว!
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการเป็นยังไง?
จะสังเกตได้ว่าโรคมะเร็งแทบจะทุกชนิดมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งหากไม่ใช่คนที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำจะไม่มีทางทราบได้เลยจนกว่ามันจะรุนแรงและลุกลาม โดยมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการจะเหมือนคนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด แต่ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ที่ควรสังเกต ดังนี้
- อุจจาระปนเลือด
- อาเจียนติด ๆ กันหลายวัน
- น้ำหนักตัวลด
- อ่อนเพลีย ปวดท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
ปัจจัยอะไรที่เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร?
- อายุ – อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในช่วงอายุ 60-80 ปี
- เชื้อชาติ – มักจะพบในคนเอเชียมากกว่าคนยุโรป และอเมริกา
- เพศ – เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า
- พันธุกรรม – คนในครอบครัว พ่อ แม่ มีประวัติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต – สูบจัด ดื่มจัด กินเค็ม กินอาหารหมักดอง ไม่กินผักและผลไม้
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร?
ทุกคนมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร แต่จากผลสำรวจสถิติพบว่า เพศชายเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
วิธีการตรวจโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น
- ตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดหรือประเมินภาวะซีด ตรวจเลือดในอุจจาระ
- การเอกซเรย์แบบกลืนแป้ง การกลืนแป้งจะทำให้มองเห็นก้อนเนื้อ หรือสิ่งแปลกปลอมภายในกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หากสงสัยสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจในห้องแลปได้ วิธีส่องกล้องจะได้ผลที่แม่นยำกว่าการกลืนแป้ง
- การส่องกล้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ EUS โดยแพทย์จะมองเห็นชั้นของกระเพาะอาหารและทำให้ทราบการลุกลามของมะเร็งที่แน่นอนได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan แพทย์จะสามารถมองเห็นอวัยวะแบบ 3 มิติ ช่วยให้เห็นตำแหน่งและการแพร่กระจายของโรคได้อย่างชัดเจน
- การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี หรือ PET Scan จะเป็นการตรวจทั่วร่างกาย ทำให้สามารถมองเห็นพยาธิสภาพที่กระเพาะอาหารได้ และยังสามารถตรวจหาการแพร่กระจายของโรคได้ด้วย
5 พฤติกรรมทำแทบทุกวัน เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารไม่รู้ตัว!
รู้มั้ย? 5 พฤติกรรมที่บางคนอาจทำแทบทุกวัน เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแบบไม่รู้ตัว ซึ่งหากหลีกเลี่ยงหรือลดพฤติกรรมเหล่านี้ก็ควรทำเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยรู้ใจรวบรวมพฤติกรรมเสี่ยงมาให้ ดังนี้
- ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- ชอบทานอาหารเนื้อสัตว์แปรรูป อย่างไส้กรอก แฮม เบคอน
- สายปิ้งย่าง หมูกระทะ
- คนที่รักโซเดียม ขอเค็มไว้ก่อน รวมถึงอาหารหมักดอง
- ไม่ยอมกินผักและผลไม้
มะเร็งกระเพาะอาหารรักษายังไง?
ในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถแบ่งได้ตามระยะของโรค ดังนี้
- ระยะแรก – ไม่แสดงอาการ แต่มักจะมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเเน่นท้อง ท้องอืด หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี หากตรวจเจอในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยการส่องกล้องเข้าไปตัดเฉพาะส่วนเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ในระยะแรกนี้มีโอกาสหายขาดสูงมาก
- ระยะมะเร็งมีขนาดโตแต่ไม่แพร่กระจาย – การรักษาผู้ป่วยระยะนี้สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยแพทย์จะนำก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก และอาจมีการใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย
- ระยะลุกลาม – มะเร็งกระเพาะอาหารระยะนี้จะลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ผนังช่องท้อง แม้จะเป็นระยะลุกลาม แต่อาจรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ด้วยการผ่าตัดและใช้เคมีบำบัดร่วมกับการใช้ความร้อนมาช่วยในการผ่าตัด (HIPEC) ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น
- ระยะสุดท้าย – เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ในระยะนี้จะไม่สามารถผ่าตัดได้ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์มักจะใช้การประคองอาการ โดยการให้เคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรคเท่านั้น
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลารักษานาน แน่นอนว่าค่ารักษาพยาบาลรวมถึงการสูญเสียรายได้ในช่วงที่รับการรักษาและไม่ได้ทำงาน รวมเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ดีกว่ามั้ยหากคิดวางแผนเพื่ออนาคตตั้งแต่วันนี้ด้วยการทำประกันโรคร้ายแรงแบบเจอจ่ายจบ ตรวจพบรับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท ที่รู้ใจคุ้มครองมะเร็งทุกระยะ ทุกชนิด อุ่นใจในช่วงรักษาตัว หายแล้วใช้ชีวิตต่อไม่กระทบเงินเก็บ
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีวิธีป้องกันยังไง?
- กินร้อนช้อนกลาง
- กินผักและผลไม้
- หลีกเลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง หมัก ดอง เค็ม มัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดแอลกอฮอล์และบุหรี่
- ตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้อง ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ให้ตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้อง และตรวจหาเชื้อ Helicobacter Pylori เพื่อทำการรักษาต่อไป
วิธีรับมือหากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะสุดท้าย ไม่ควรให้รับประทานอาหารที่มีรสเค็ม อาหารที่แข็ง หรือร้อนจัด ๆ และให้รับประทานอาหารให้เป็นเวลา เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ๆ รสจืด
- หลังจากการผ่าตัด ควรใส่ใจในเรื่องโภชนาการของผู้ป่วย เลือกอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน และมีสารบำรุงสูง เช่น โจ๊กลูกเดือย โจ๊กข้าวเหนียว ผักสด ผลไม้ หลังผ่าตัดให้ผู้ป่วยได้กินอาหารวันละ 3-5 ครั้ง และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหาร ถ้ายังมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอยู่ ไม่ต้องตกใจ นั่งพักสักครู่อาการจะหายไปเอง สามารถจิบน้ำขิงสดได้ และผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังจากการผ่าตัด 6 เดือน
- หากผู้ป่วยสามารถเดินได้แล้ว พาเดินออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนอนอยู่แต่ในห้อง เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศให้กับผู้ป่วย
- ใส่ใจ พูดคุย กับผู้ป่วยทำให้เขารู้สึกไม่ได้โดนทอดทิ้ง
หากคุณมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียดบ่อย ๆ อย่าเพิ่งคิดเองว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ควรไปหาหมอเพื่อตรวจอย่าละเอียดเพราะมะเร็งกระเพาะอาหาร หากตรวจพบไวก็รักษาให้หายขาดได้ และอย่าลืมที่จะใส่ใจหาวิธีการดูแลสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในทุก ๆ วัน
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
เคมีบำบัด | เคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้ยาเพื่อต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง |
เนื้อสัตว์แปรรูป | เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนรูปร่าง ปรุงรส เติมสารให้เนื้อคงสภาพนานขึ้น สีสวยขึ้น เช่น ไส้กรอก แฮม เบค่อน แหนม กุนเชียง หมูยอ |