
รู้มั้ย? การฝันร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของความเชื่อเสมอไป เพราะว่าความฝันนั้นอาจหมายถึงสัญญาณทางสุขภาพได้ และการฝันร้ายบ่อยนั้นทางการแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ปกติ เปรียบเสมือนเป็นสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกมาถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน ดังนั้นเรามาดูกันว่าร่างกายพยายามสื่อสารอะไรผ่านการฝันร้ายบ่อย ๆ
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- ฝันร้าย หมายถึงอะไร?
- ทำไมถึงฝันร้ายบ่อย?
- ฝันร้ายบ่อยแค่ไหนที่เรียกว่าอาการป่วย?
- ฝันร้ายบ่อยบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง?
- ฝันร้ายบ่อย ๆ วิธีแก้มีอะไรบ้าง?
ฝันร้าย หมายถึงอะไร?
ตามที่อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงผลกระทบของผู้ป่วยที่ฝันร้ายบ่อย ๆ ว่า ฝันร้าย หมายถึง ความฝันที่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เหตุการณ์เลวร้าย สิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัว หรือสถานการณ์เลวร้ายฝังใจ โดยในฝันมักจะเห็นภาพชัดเจน และผู้ที่ฝันมักจะจำเนื้อหาของฝันได้ ซึ่งเนื้อหาในความฝันมักเป็นเรื่องน่ากลัวที่ส่งผลต่อการนอน ทำให้หลับ ๆ ตื่น ๆ และในบางคนที่ชอบฝันร้ายในช่วงเช้า เมื่อตื่นขึ้นมามักจะรู้สึกไม่สดใส หรือโศกเศร้า กังวลใจ โดยผลจากการศึกษาพบว่าเด็กจะมีอาการฝันร้ายมากกว่าผู้ใหญ่
ทำไมถึงฝันร้ายบ่อย?
ปัจจัยที่ทำให้่เกิดฝันร้ายนั้นมีได้หลากหลาย มีได้ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ แต่มักจะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับจิตใจของเรา และการฝันร้ายบ่อยนั้นมีสาเหตุมาจากการได้รับสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจที่ยากจะรับมือและส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้านลบอย่างมาก เช่น
- เกิดจากความเครียด วิตกกังวล
- เกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือมีการได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง
- อาจมาจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากจนเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้เกิดฝันร้ายได้
- เกิดความผิดปกติทางระบบหายใจขณะกำลังหลับ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะที่หลับ
- รับประทานอาหารเยอะหรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน
- อาจมาจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ผลกระทบของ PTSD นี้ มักจะทำให้ฝันเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายเดิม ๆ ที่พบเจอมา ฝันวนแบบนั้นซ้ำ ๆ หรือในบางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
ฝันร้ายบ่อยแค่ไหนที่เรียกว่าอาการป่วย?
แม้ฝันร้ายจะเป็นตัวบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้ แต่ขณะเดียวกันฝันร้ายก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถบอกได้ยากว่าฝันร้ายแบบไหนและแค่ไหนที่บ่งบอกถึงอาการป่วย แต่หากเริ่มรู้สึกว่านอนฝันร้ายทุกคืน หรือฝันร้ายมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และรู้สึกว่าการฝันร้ายนั้นรบกวนหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลต่อคุณภาพการนอน เช่น ทำให้ตื่นระหว่างหลับอยู่บ่อย ๆ นั่นถือว่าฝันร้ายได้ส่งผลต่อสุขภาพของเราแล้ว ควรเข้าพบและปรึกษาแพทย์ โดยส่วนใหญ่ฝันร้ายมักจะบอกถึงปัญหาความผิดปกติของสุขภาพจิตที่บางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ควรละเลยกับฝันร้ายเด็ดขาด
Tips: ฝันร้ายบ่อยไม่ดี แล้วถ้าไม่ฝันเลยดีมั้ย?
การนอนของเราทุกคนจะมีอยู่ 5 ระยะ ซึ่งการนอนที่ดีต้องนอนให้ได้ครบทั้ง 5 ระยะ และมีระยะที่เรียกว่า REM ซึ่งเป็นระยะที่เราฝัน ถ้าเราไม่ฝันแปลว่าเราไม่ได้เข้าสู่ระยะการนอนนี้ ซึ่งนั้นก็เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพเหมือนกัน โดยอาจมีปัจจัยจาก ความเครียด การใช้ยาบางชนิด หรือปัญหาสุขภาพจิต แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไป เพราะบางครั้งเราอาจจะฝันแต่จำไม่ได้ว่าฝันก็เป็นได้เช่นกัน
ฝันร้ายบ่อยบ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง?
อย่างที่กล่าวไว้ว่าฝันร้ายนั้นเป็นเหมือนสัญญาณบอกบางอย่างเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ แม้ว่าในตอนนั้นจะรู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรง และไม่มีปัญหาสุขภาพกายอะไรเลย แต่ว่าหากละเลยสัญญาณที่ส่งผ่านความฝันนี้ อาจจะส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว เช่น
1. โรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองโดยมีปัจจัยจากความกดดันทางสังคมที่พบเจอในหลากหลายรูปแบบ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในหลายสถานการณ์ โดยจะมีอาการ ใจสั่น มือสั่น กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย กล้ามเนื้อตึงเกร็ง ผู้ป่วยโรคนี้มักจะฝันซ้ำ ๆ ความฝันจะยาวและค่อนข้างละเอียด เรื่องราวเดิม ๆ หรืออาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในปัจจุบัน
2. โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้ไวต่อความรู้สึกเชิงลบทั้งหลาย และทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ยากขึ้น ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ รู้สึกตัวเองไร้ค่า เศร้า ท้อแท้ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะฝันถึงที่มืด ๆ น่ากลัว หรือฝันถึงคนตายแต่จะปะติดปะต่อเรื่องได้ยาก และอาจจะมีการฝันหลายเรื่องในคืนเดียว
3. โรค PTSD
โรค PTSD เกิดจากผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมากเช่น อุบัติเหตุร้ายแรง ภัยธรรมชาติ การถูกทำร้าย ส่งผลให้มีอาการ วิตกกังวล หวาดกลัว และอาจช็อกเมื่อพบเจอกับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ผู้ที่เป็น PTSD มักจะฝันถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ร้ายที่ตนเองได้พบเจอมา และมักจะฝันเป็นภาพซ้ำ ๆ เหมือน Flash back กลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ
4. โรคไบโพลาร์
โรคอารมณ์สองขั้วโดยสลับระหว่างช่วงคึก และช่วงเศร้า เกิดจากพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสารเคมีในสมอง เช่น การอดนอน การใช้สารเสพติด ความเครียดอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีความฝันที่น่าจดจำ และมักจะเป็นความฝันที่สดใส สามารถนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวได้ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการดูหนังหรือซีรีส์ที่กำลังดูอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ
สัญญาณสุขภาพนั้นมีได้หลากหลายยากที่จะคาดเดาปัญหาสุขภาพได้แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการฝันร้ายก็บ่งบอกปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ทางที่ดีคือการตรวจสุขภาพที่ครบวงจรเพราะหากเราไม่ละเลยสุขภาพกายหรือใจ สักอย่างหนึ่งไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมทั้งหมด ดังนั้นการมีประกันด้านสุขภาพเอาไว้ เพื่อมีตัวช่วยลดภาระความเสี่ยงทั้งหลายจากปัจจัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจะดีที่สุด
ฝันร้ายบ่อย ๆ วิธีแก้มีอะไรบ้าง?
แม้จะไม่มีอะไรที่จะช่วยให้เราไม่ฝันร้ายได้จริง ๆ แต่การปรับพฤติกรรมให้ดี และทำกิจกรรมที่ลดความเครียดให้กับจิตใจและร่างกายเอง ก็สามารถช่วยลดโอกาสที่จะทำให้เกิดฝันร้ายหรือโรคที่ก่อให้เกิดการฝันร้ายบ่อยได้ ลองทำตามนี้ดูช่วยได้ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
- งดดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ชา ช็อกโกแลต และน้ำอัดลมก่อนเข้านอน
- หากิจกรรมเพื่อให้ตัวเองผ่อนคลาย เช่น ฝึกโยคะ พิลาทิส ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง ดูหนัง เป็นต้น
- พยายามรักษาอุณหภูมิห้องให้พอดี ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
- ออกกำลังกายวันละ 30 นาที ช่วงเย็น ในช่วง 4-6 ชั่วโมงก่อนนอนก่อนเข้านอน จะทำให้หลับสบาย
- เข้านอนให้เป็นเวลา ฝึกให้ร่างกายได้จดจำทั้งเวลาตื่นและเวลาเข้านอน
- งดการเล่นมือถือ ดูจอ หรือเลื่อนดูฟีดในโซเชียล ก่อนเข้านอน
ความฝัน นอกจากบอกดวงชะตาผ่านการทํานายฝันแล้วยังสามารถบอกเหตุถึงปัญหาสุขภาพเราได้ด้วย ดังนั้น หากอยากสุขภาพแข็งแรง นอนหลับฝันดีทุกคืน การดูแลสุขภาพกายว่าสำคัญแล้ว แต่สุขภาพจิตใจก็สำคัญเช่นกัน หากเพื่อน ๆ กำลังมีปัญหาเรื่องการนอน หรือฝันร้ายบ่อย แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาถึงสาเหตุ และหาวิธีการรักษา สำหรับใครที่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ผู้ที่ถือบัตรประกันสังคมสามารถหาจิตแพทย์ได้ตามโรงพยาบาลที่เพื่อน ๆ ได้เลือกเอาไว้ และประกันสุขภาพจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการเจ็บป่วยด้วยปัญหาทางจิตเวช แต่หากอยากขอคำแนะนำเบื้องต้น สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิตได้ที่ 1323
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยบกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)
คำจำกัดความ
โรคไบโพลาร์ | เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีอารมร์สองขั้ว โดยมักจะมีอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ ร้องไห้ อยากตาย หรืออารมณ์ดีมากจนผิดปกติ พูดมาก รื่นเริงจนเกินไป ในบางกรณีผู้ป่วยจะมีอารมณ์ด้านเดียว และในบางกรณี ผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์ทั้งสองด้านก็ได้เช่นกัน |
พิลาทิส | เป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลังกาย เน้นการสร้างความเเข็งแรงให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว พิลาทิสยังเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพปวดหลัง หรือนักกีฬาที่ต้องฟื้นฟูกล้ามเนื้อ |
PTSD | PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ เป็นภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นหลังจากบุคคลประสบกับเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายหรือสะเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุร้ายแรง, การถูกทำร้าย, หรือประสบภัยสงคราม |