หากพูดถึงอาการแพ้ เชื่อว่าเกือบทุกคนน่าจะเคยผ่านอาการแพ้มากันบ้าง เช่น แพ้อากาศน้ำมูกไหล แพ้ครีมทำให้ผื่นขึ้นตรงบริเวณที่โดนครีม แพ้แอลกอฮอล์ดื่มเข้าไปแล้วตัวแดง ผื่นแดงขึ้นเต็มตัว หรือแพ้อาหารที่เริ่มจากผดผื่นขึ้นเมื่อรับประทานสิ่งที่ร่างกายแพ้เข้าไป จนถึงแพ้อย่างรุนแรง หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก หากรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้เลย ในบทความนี้ เราจะอธิบายให้เข้าใจถึงอาการแพ้อาหาร อาการแพ้อาหารชนิดต่าง ๆ ที่เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยิน อย่างอาการแพ้อาหารทะเล อาการแพ้กุ้ง แพ้นม แพ้ถั่ว รวมถึงบอกวิธีตรวจหาอาหารที่เราแพ้
- แพ้อาหาร คืออะไร?
- แพ้อาหาร อาการเป็นยังไง?
- รู้ได้ยังไงว่าเราแพ้อาหารอะไรบ้าง?
- ใครที่ควรทดสอบการแพ้อาหาร?
- 5 อาหารสุดฮิตที่คนไทยมักจะแพ้ มีอะไรบ้าง?
- รู้มั้ย? เป็นสิวบ่อยหาสาเหตุไม่ได้ แพ้อาหารแฝงอาจเป็นตัวการ
แพ้อาหาร คืออะไร?
อาการแพ้อาหาร หรือภาวะแพ้อาหาร คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่ร่างกายแสดงออกมา จากภูมิคุัมกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้น ๆ หากร่างกายได้รับอาหารชนิดเดิมที่แพ้ ก็สามารถเกิดอาการซ้ำได้
ปัจจุบัน อาการแพ้อาหารสามารถพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1-10 ของประชากรไทยทั้งหมดเลยทีเดียว และยังมีทีท่าว่าจะมีแนวโนัมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยสามารถพบภาวะแพ้อาหารในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และยังตรวจพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นได้บ่อยด้วย เช่น โรคผื่นแพ้ผิวหนัง หอบหืด และภูมิแพ้จมูกอักเสบ
อาการแพ้อาหารแบบเฉียบพลันเป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งเกิดจากที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มก้นต่อโปรตีนในอาหารบางชนิด โดยที่ภาวะเฉียบพลันนี้จะเกิดขึ้นจากหลังรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ไปไม่กี่นาที หรืออาจเกิดขึ้นได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานเข้าไป อาการจะแสดงออกมามากกว่า 1 ระบบขึ้นไปจากทั้งหมด 4 ระบบ ดังนี้
- อาการทางผิวหนัง – แพ้อาหารมีผื่นขึ้น เป็นผื่นลมพิษหรือผิวแดงทั้งตัว ปากบวม ตาบวม หน้าบวม
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ – คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไอมาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด ๆ หรือมีอาการหายใจไม่ออก
- อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ – ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตตก หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร – คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว ซึ่งอาหารที่มักจะเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้แก่ แพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะ แพ้กุ้ง หอย ปลาหมึก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี แพ้ถั่ว ไข่ และผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล ขนุน กีวี กล้วย และอะโวคาโด
แพ้อาหาร อาการเป็นยังไง?
ปฏิกิริยาของการแพ้อาหาร หรือ Food Allergy สามารถแบ่งออกได้เป็น
- แพ้อาหารชนิดไม่เฉียบพลัน (Non-IgE-Mediated Allergy) – เป็นกลุ่มที่แสดงอาการแบบล่าช้า อาการแพ้จะค่อย ๆ ปรากฏออกมาหลังจากรับประทานสิ่งที่แพ้เข้าไปหลายชั่วโมง หรือเป็นวันหลังจากการรับประทานสิ่งนั้นเข้าไป อาการที่แสดง เช่น ผื่นแดงขึ้น คัน แห้ง โดยหากเกิดในเด็กมักจะเป็นผื่นแดง ๆ บริเวณแก้มหรือข้อพับ แต่ถ้าเป็นการแพ้เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปจะถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด อาเจียน และมีอาการถ่ายเหลวรุนแรง
- แพ้อาหารชนิดเฉียบพลัน (IgE-Mediated Food Allergy) – จะมีอาการตาและปากบวม ผื่นลมพิษขึ้น หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง คลื่นไส้และอาเจียน อาการแพ้อาหารเฉียบพลันนี้จะเกิดขึ้นภายใน 30 – 60 นาทีหลังรับประทานเข้าไป และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง
- แพ้อาหารชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) – เป็นการแพ้อาหารในระดับรุนแรงที่สุดและมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้แก่ ผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง คัน ผิวหนังแดงหรือซีด มีผื่นลมพิษ มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และปวดท้องหรือท้องเสีย
รู้มั้ย? เป็นสิวบ่อยหาสาเหตุไม่ได้ แพ้อาหารแฝงอาจเป็นตัวการ
นอกจากการแพ้อาหารข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า อาการแพ้อาหารแฝง ส่วนมากอาการไม่รุนแรง เช่น สิว ผื่น อาหารไม่ย่อย โดยเกิดขึ้นหลังทานไปแล้วหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน ๆ ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว และยังกินอาหารชนิดนั้นเข้าไปเรื่อย ๆ สำหรับคนที่เป็นสิวบ่อย ทั้งตามใบหน้า หลัง แขน ขา บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากความเครียด ฮอร์โมน หรือสภาพผิว แต่อาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิดโดยที่เราไม่รู้ตัวได้เช่นกัน หากสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายสามารถนัดพบแพทย์เพื่อตรวจหาและปรึกษาเรื่องการกินและปรับอาหารให้เหมาะสม
รู้ได้ยังไงว่าเราแพ้อาหารอะไรบ้าง?
เราจะสามารถรู้ว่าเราแพ้อาหารอะไรจากการทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) คือ การให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่คิดว่าตัวเองน่าจะแพ้เข้าไป โดยให้ผู้ป่วยเริ่มจากการรับประทานในปริมาณที่น้อยเข้าไปก่อน และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น เพื่อทดสอบดูปฏิกิริยาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีการยืนยันและวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ผู้ป่วยอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ที่รุนแรงระหว่างการทำการทดสอบ จึงควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และต้องทำในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ ยา และเครื่องมือพร้อมให้การรักษา ซึ่งวิธีทดสอบสามารถแบ่งได้ 2 วิธี
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Pick Test) – ก่อนการทดสอบ ต้องให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการแพ้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันทำการทดสอบ และต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันทำทดสอบ และจะสามารถทราบผลได้เลยหลังทำการทดสอบ 15-20 นาที
*กรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง จะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน - การทดสอบโดยการตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) – หากเป็นการทดสอบโดยการเจาะเลือดตรวจ ไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ และเมื่อเจาะเลือดส่งตรวจแล้ว จะทราบผลภายใน 3-5 วัน โดยมีผลเป็นบวกและลบ
- ผลบวก – แพทย์จะให้งดหรือให้ทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหารตามความเหมาะสม
- ผลลบ – อาจพิจารณาทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร
ในบางคนที่มีการหลีกเลี่ยงอาหารหลายชนิด เพื่อเลี่ยงอาการแพ้อาหาร อาจทำให้เกิดการผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น การเจริญเติบโตช้า การขาดสารอาหาร ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง โอกาสหายจากแพ้อาหารลดลง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากขึ้น ที่รู้ใจมีประกันโรคร้ายแรงคุ้มครองมากกว่า 80+ โรค เจอจ่ายจบ ตรวจพบรับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท
ใครที่ควรทดสอบการแพ้อาหาร?
- คนที่เคยรับประทานอาหารประเภทนี้ได้ แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าแพ้อาหาร และต้องการตรวจ พิสูจน์ว่าแพ้จริงหรือไม่
- คนที่เคยตรวจเลือด และผลออกมาว่ามีการแพ้อาหารแต่ไม่แสดงอาการ
- คนที่เคยมีประวัติแพ้อาหาร และต้องการรู้ว่าตอนนี้หายแล้วหรือยัง
- คนที่สงสัยว่าตัวเองแพ้อาหาร แต่ไม่มีอาการใด ๆ ที่ชัดเจน
5 อาหารสุดฮิตที่คนไทยมักจะแพ้ มีอะไรบ้าง?
- นมวัว – เป็นหนึ่งในอาหารที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด อาการแพ้นมวัวในเด็กจะถ่ายเป็นมูกเลือก หายใจครืดคราด แหวะเป็นนมออกมาบ่อย ๆ ผื่นแดงขึ้นเรื้อรัง ในบางรายที่อาการแพ้แบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ
- ไข่ – มักจะพบอาการแพ้ทางผิวหนังมากกว่าแสดงอาการที่ระบบอื่น ๆ อาการแพ้ไข่ มักมีผื่นขึ้นแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง และมักจะตรวจพบว่าแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง ในบางคนจะแพ้เฉพาะไข่ดิบหรือไข่กึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น นัำสลัดครีม ไข่ลวก
- แป้งสาลี – อาการแพ้อาจจะเริ่มตั้่งแต่วัยเด็ก หรืออาจจะเกิดขึ้นตอนโตแล้วก็ได้เช่นกัน อาการแพ้แป้งสาลีอาจเกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อาการอนาฟัยเเลกซิส เป็นอาการแพ้เฉียบพลันที่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ระบบของร่างกายภายในเวลาไล่เลี่ยกัน และอาการจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ถั่วเหลือง – เป็นประเภทถั่วที่พบว่าเด็กไทยแพ้มากที่สุด ในคนที่แพ้ถั่วเหลืองแต่อาจจะยังรับประทานถั่วชนิดอื่นๆ ได้ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง เพราะอยู่ในคนละกลุ่มกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องเลี่ยงถั่วทั่งหมด แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน อาการแพ้ถั่วเหลืองจะหายใจลำบาก หน้าบวม ลมพิษ ปวดท้อง ท้องเสีย
- อาหาทะเลที่มีเปลือก – เช่น แพ้กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก มักตรวจพบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ในบางคนจะแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ บางคนแพ้ทุกสายพันธุ์ บางคนอาจแพ้ท้้งปรุงสุกและดิบ เพราะโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ทนต่อความร้อน อาการแพ้อาหารทะเลจะมีลมพิษขึ้นตามตัว หน้าบวม ลำคอบวม ปากบวม ผื่นขึ้นตามตัว คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน ท้องเสีย หากมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยอาจช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้
แม้ว่าอาการแพ้อาหารอาจแตกต่างกันไประหว่างบุคคล แต่มีอาการบางอย่างที่พบบ่อย เช่น แพ้อาหาร ผื่นขึ้นบนผิวหนัง อาการท้องเสีย หรืออาเจียน และเมื่อเกิดอาการแพ้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับรู้และการป้องกัน เพื่อให้เลือกทานอาหารอย่างระมัดระวังและป้องกันการเกิดภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ลมพิษ | โรคที่แสดงทางผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง คัน มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และส่วนใหญ่จะหายเองใน 24 ชั่วโมง |
เฉียบพลัน | อาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง มักใช้กับอาการของโรค |