อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร อาหารไม่ย่อย เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าอาการท้องอืดเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ร้ายแรงถึงกับเป็นโรคร้าย ซึ่งในบางรายมีอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย เรอ หรือผายลม เป็นประจำ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากแก๊สที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร แต่เป็นแบบนี้ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร อาจจะไม่ใช่อาการปกติ
- อาการท้องอืด เกิดจากอะไร?
- อาการท้องอืดแบบไหนที่ควรพบแพทย์?
- ท้องอืด วิธีแก้และวิธีป้องกันท้องอืด
- Q&A คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับอาการปวดท้อง
ในคนที่มีอาการท้องอืดบ่อยๆ หรือเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล หรืออาจถึงขั้นเป็นมะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงจะเริ่มเปลี่ยนความคิดแล้วใช่หรือไม่ ว่าอาการท้องอืดบ่อยๆ อาจไม่ใช่อาการปกติ และไม่ควรละเลยเด็ดขาด มาดูกันว่า ท้องอืด เกิดจากอะไร มีวิธีการดูแลสุขภาพ วิธีป้องกันท้องอืดยังไง เมื่อไหร่ที่เราควรไปหาหมอ อ่านด้านล่างนี้เลย
อาการท้องอืด เกิดจากอะไร?
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปีขึ้นไป สาเหตุจากระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น และสาเหตุหลักของอาการท้องอืดคือ การมีแก๊สหรือลมมากเกินไปในกระเพาะอาหาร และยังมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้
- ท้องอืด เกิดจากพฤติกรรมการกิน เช่น เป็นคนที่รับประทานอาหารเร็วเกินไป อาหารรสจัด นม อาหารไขมันสูง หรือดื่มน้ำรวดเดียว การรับประทานอาหารผิดเวลา หรือพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รวมไปถึงการดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีก๊าซ เป็นต้น
- ท้องอืด เกิดจากการอักเสบ เช่น มีลมในกระเพาะอาหารมากจนเกินไป เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรืออาจมาจากการมีเนื้องอกที่กระเพาะอาหาร
- ท้องอืด เกิดจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ระบบย่อยอาหารที่อยู่ในส่วนของกระเพาะอาหารและในส่วนของลำไส้ ซึ่งน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน ทำงานได้น้อยลง ทำให้จำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์ไม่สมดุล คือ อาจจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป หรืออาจเกิดจากภาวะการบีบตัวที่ผิดปกติ
- ท้องอืด เกิดจากการกลืนอากาศเข้าไประหว่างมื้ออาหาร การกลืนอากาศสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือคนที่ชอบพูดคุยไปด้วยระหว่างการรับประทานอาหาร ทำให้กลืนอากาศเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องอืดนั่นเอง
- ท้องอืด เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกระเพาะอาหาร ท้องผูกเรื้อรัง กระเพาะอาหารไม่ย่อยคาร์โบไฮเดรต โรคนิ่วในถุงน้ำดี ติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร หรือ โรคมะเร็งช่องท้อง
อาการท้องอืดแบบไหนที่ควรพบแพทย์?
หากสังเกตตัวเองแล้วว่า ท้องอืดบ่อยเกินไป หรือท้องอืดติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ หรืออาการผิดปกติดังต่อไปนี้ คุณควรรีบไปพบแพทย์
- อาเจียนบ่อย หรืออาเจียนปนเลือด
- ตัวและตาเหลือง
- ปวดท้องรุนแรง
- ถ่ายเหลว เรื้อรัง และถ่ายเป็นเลือด
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ประจำเดือนผิดปกติ
ท้องอืด วิธีแก้และวิธีป้องกันท้องอืด
- เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง โซดา น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว
- รับประทานอาหารแต่พอดี ไม่ควรรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ให้เวลาในการบดเคี้ยวให้ละเอียด ไม่รับประทานอาหารแบบเร่งรีบ
- เลี่ยงจำพวก แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ หรือยาที่ไปขัดขวางอาหาร
- มื้อเย็นควรรับประทานให้เสร็จก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
Q&A คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับอาการปวดท้อง
Q: อาการท้องอืด ท้องผูก พุงใหญ่ เกิดจากอะไร?
A: เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรืออาจจะอยู่ในช่วงการรับประทานยาบางตัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูก หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของลำไส้ เช่น มะเร็งลำไส้
Q: การขับถ่ายโดยปกติควรเป็นยังไง?
A: โดยปกติ คนเราไม่ควรขับถ่ายเกิน 3 ครั้งต่อวัน และไม่ควรต่ำกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และลักษณะของอุจจาระต้องไม่เหลวหรือแข็งจนเกินไป
Q: หากอยากขับถ่ายได้ตามปกติ ควรทำยังไง?
A: เลือกรับประทานผัก-ผลไม้ที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เป็นเวลามากขึ้น
หากลองทำตามวิธีต่าง ๆ ในบทความนี้แล้ว อาการท้องอืด ท้องเฟ้อยังไม่ทุเลาลง แนะนำให้ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจโดยการส่องกล้อง และวินิจฉัยโรคในลำดับต่อไป
โรคร้ายแรงอาจเกิดขึ้นจากอาการที่ร่างกายแสดงออกโดยที่เราไม่ทันได้ฉุกคิดหรือระวังตัว อย่างท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก หากเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคร้าย การทำประกันโรคร้ายแรงจะช่วยคุณลดความเสี่ยงทางการเงิน ไม่ต้องเครียดกับค่ารักษาพยาบาล ที่รู้ใจมีประกันโรคร้ายแรง เจอ จ่าย จบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท ให้คุณมีทางเลือกการรักษาพยาบาลที่ตนเองเลือกได้ และสามารถวางใจรักษาตัวจนหายดี ก็ยังมีเงินเก็บใช้ชีวิตต่อได้ไม่มีสะดุด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)