Roojai

5 อันตรายจากการบาดเจ็บในฟิตเนส บาดเจ็บแบบไหนที่ควรพบแพทย์?

Article Roojai Verified
รู้จักกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและวิธีหลีกเลี่ยงในฟิตเนส | รู้ใจ

เทรนด์ที่ได้รับความนิยมและเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังช่วงโควิดระบาด คงไม่พ้นเทรนด์การออกกำลังกายที่ฟิตเนส เพราะผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น แน่นอนว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ และช่วยส่งผลให้ร่างกายของเรานั้นทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ในบ้าน สวนสาธารณะ หรือที่หลายคนนิยมกันมากก็คือฟิตเนส เพราะว่ามีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ บรรยากาศ และสถานที่ ดังนั้นวันนี้รู้ใจจะมาเจาะลึกข้อควรระวังที่แฝงตัวอยู่ในฟิตเนส ทั้งการบาดเจ็บหรือเชื้อโรคต่าง ๆ จะได้ระมัดระวังรักษาความสะอาดและความปลอดภัยทั้งของตนเอง และส่วนรวม

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

อาการบาดเจ็บในฟิตเนส เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการบาดเจ็บในฟิตเนส แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

1. เกิดจากสภาพแวดล้อม

เกิดจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่อยู่ภายในฟิตเนส ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ออกกำลังกายไม่เหมาะสม อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้หรือไม่มีประสิทธิภาพ ความประมาท ความไม่ระมัดระวัง ของบุคคลรอบตัว เช่น อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเมื่อนำมาใช้ออกกำลังกายก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือความไม่ระมัดระวังขณะออกกำลังกายของผู้อื่นก็ก่อให้เกิดอุบัติมาถึงตัวเราได้

2. เกิดจากความประมาทของตนเอง

ปัจจัยที่เกิดสภาพร่างกายของตัวเราที่ไม่พร้อมสำหรับการออกกำลังกาย หรือไม่เตรียมพร้อมก่อนออกกำลังกาย แล้วฝืนที่จะออกกำลังกาย จึงก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่าง ๆ ตามมา เช่น

  • ก่อนออกกำลังกาย มีอาการบาดเจ็บอยู่ก่อนแล้ว จึงกระตุ้นให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงและรุนแรงมากขึ้น
  • ไม่ได้ทำการ Warm Up ก่อนออกกำลังกาย และ Cool Down หลังออกกำลังกาย ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอาจลืมทำสองสิ่งนี้ เพราะสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการช่วยให้ร่างกายและกล้ามเนื้อต่าง ๆ ปลอดภัยในการออกกำลังกาย
  • อาจเกิดจากการมีความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าสะสมมาหลายวันแล้วมาออกกำลังกาย เลยทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามกล้ามเนื้อหรือส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นต้น
  • วิธีออกกำลังกายที่ผิด หรือท่าที่ออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีการใช้กล้ามเนื้อที่ผิด หรือส่งผลต่อส่วนอื่นในร่างกายทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้

ความประมาทเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ยังอาจส่งผลต่อคนอื่น และสร้างความเสียหายให้กับฟิตเนสอีกด้วย ดังนั้น หากตัวเราไม่พร้อม การเว้นว่างการออกกำลังกายเพื่อพักผ่อน และกลับมาออกกำลังกายเมื่อพร้อม ก็เป็นทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บทั้งตนเองและคนอื่นด้วย

เคล็ดลับ ออกกำลังกายในฟิตเนสอย่างปลอดภัยปลอดภัย | รู้ใจ

ต้องทำยังไงเมื่อมีการบาดเจ็บแล้ว?

หากไม่ได้ออกกำลังกายมานาน และกลับมาออกอีกครั้ง จะทำให้รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งอาการแบบนี้ถือว่าปกติ ไม่ถือเป็นอาการบาดเจ็บ อาการแบบนี้จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน แต่ถ้าหากเป็นการบาดเจ็บจริง ๆ ที่มีอาการปวด บวม บริเวณที่เจ็บมีสีแดง เมื่อกดหรือแตะโดนแล้วร้อนกว่าบริเวณอื่น ให้คาดเดาเอาไว้เลยว่า เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถดูแลอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ โดยยึดหลัก PRICER ซึ่งหมายถึง 

P = Protection – เป็นการป้องกันไม่ให้ส่วนที่เกิดการบาดเจ็บขยับหรือเคลื่อนที่

R = Rest – หมายถึงการพักการใช้งานในส่วนที่บาดเจ็บ

I = Ice – ต้องทำการประคบเย็นด้วยน้ำแข็งภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่เกิดการบาดเจ็บ น้ำแข็งจะช่วยลดอาการบวมลงได้ 

C = Compression – หรือการกด ให้ทำควบคู่ไปกับการใช้น้ำแข็ง ซึ่งอาจใช้แผ่นเย็นประคบก็ได้

E = Elevation – เป็นการยกอวัยวะส่วนที่มีการบาดเจ็บให้สูง เพื่อให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่หัวใจ และเพื่อเป็นการลดการบวมไปในตัว

R = Referral – กรณีที่มีการบาดเจ็บมาก หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน รู้ใจแนะนำว่าควรนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที 

แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีสิ่งที่รองรับความเสี่ยงเพิ่มเติมได้ ด้วยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเพื่อความอุ่นใจที่มากขึ้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ โดยที่ไม่มีใครรู้ตัว ประกันอุบัติเหตุที่รู้ใจ ปรับแต่งแผนความคุ้มครองได้ตามใจ เช็คราคา 24 ชม. ไม่ต้องโทร

5 อาการบาดเจ็บ อันตรายที่ซ่อนอยู่ในฟิตเนส

1. ข้อเคล็ด หรือ ข้อเท้าแพลง (Sprain)

อาการข้อเคล็ด ข้อแพลง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อมากจนเกินไป หรือเกิดการหมุนข้อ พลิก หรือบิดจนทำให้เนื้อเยื่อและเส้นเอ็นยึดข้อฉีก และมีอาการปวด บวม เจ็บ เคลื่อนไหวไม่ถนัด แนะนำว่าควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อช่วยลดอาการบวม ด้วยการประคบเย็นและพันผ้ายืด ยกขาสูง แต่หากเกิดอาการบาดเจ็บที่แขน ให้ใช้ผ้าคล้องแขนหลังการบาดเจ็บ 72 ชั่วโมง และให้ประคบร้อน 

2. ข้อเคลื่อน (Dislocation Of Joint)

อาการข้อเคลื่อนเกิดจากการที่ส่วนหัวหรือส่วนปลายของกระดูกเกิดการเคลื่อน หรือหลุดออกจากที่เดิม ซึ่งอาจเกิดจากการถูกดึงหรือกระชากอย่างแรง หรือมีอาการกระดูกหักร่วมด้วย หากมีอาการบาดเจ็บดังที่กล่าวมานั้น “ห้ามดึงข้อเองเด็ดขาด!” ควรพักอยู่นิ่ง ๆ และให้ประคบด้วยความเย็นในทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากการบาดเจ็บ 72 ชั่วโมงให้เปลี่ยนมาประคบร้อน อาการจะดีขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง อย่าลืมว่า ห้ามดึงข้อเอง

3. อาการฟกช้ำ (Stale)

รอยฟกช้ำเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเหมือนจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำสำหรับการออกกำลังกาย การปฐมพยาบาลอาการฟกช้ำ ให้ใช้ของเย็น ๆ ประคบ เช่น ผ้าขนหนูห่อด้วยน้ำแข็ง ห้ามถูนวด หลัง 24 ชั่วโมงให้เปลี่ยนมาประคบร้อน และในขั้นตอนนี้สามารถถูนวดเบา ๆ ได้ เพื่อให้เลือดที่คั่งอยู่กระจายตัว และดูดซึมกลับได้เร็ว เป็นต้น โดยหากรอยช้ำเป็นนานมากว่า 10 วัน แล้วยังไม่มีท่าทีว่าจะหายหรือเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม ควรปรึกษาแพทย์

4. ตะคริว (Cramp)

การเป็นตะคริวระหว่างการออกกำลังกายเป็นอาการที่พบได้บ่อยพอ ๆ กับอาการฟกช้ำ สาเหตุของการเกิดตะคริวก็เพราะก่อนออกกำลังกายไม่ได้ทำการ Warm Up นั่นเอง การปฐมพยาบาลทำได้โดยใช้ของร้อนประคบและนวดเบา ๆ เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงส่วนที่เป็นตะคริวได้มากขึ้น 

5. กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain)

มักเกิดจากการออกแรงมากจนเกิดกำลังของตัวเอง ทำให้กล้ามเนื้อยึดตัวมากเกินไป อาการที่พบมักจะมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มลงไป เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนต้นและส่วนปลายของกล้ามเนื้อมัดที่หดตัวกลับ เมื่อจับถูกบริเวณนั้นจะเจ็บเป็นอย่างมาก วิธีปฐมพยาบาล คือ หลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น และประคบเย็นภายใน 24 ชั่วโมง  หลังจากนั้นควรพบแพทย์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อต่อไป

Tips: รู้มั้ย? อุปกรณ์ฟิตเนสสกปรกกว่าโถสุขภัณฑ์

เทรนด์การออกกำลังกายที่ฟิตเนสมาแรง แต่รู้มั้ย อุปกรณ์ออกกำลังกายมีเชื้อโรคซ่อนอยู่มากมาย เว็บไซต์ Fitrated ได้รีวิวอุปกรณ์ออกกำลังกาย ทำการสำรวจอุปกรณ์ในฟิตเนส เช่น ลู่วิ่ง เครื่องปั่นจักรยาน และอุปกรณ์เล่นเวต จากฟิตเนสทั้งหมด 3 แห่ง รวม 27 ชิ้น ปรากฏว่าผลสำรวจที่ออกมานั้นน่าตกใจมาก เพราะอุปกรณ์เต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียมากกว่า 1,000,000 ตัว ต่อ 1 ตารางนิ้ว  ตัวอย่างเช่น

  • ดรัมเบล มีเชื้อโรคมากกว่า ฝารองสุขภัณฑ์ถึง 362 เท่า
  • ลู่วิ่ง มีเชื้อแบคทีเรียมากกว่าก๊อกน้ำในห้องน้ำสาธารณะถึง 74 เท่าเลยทีเดียว

และข้อมูลยังระบุว่า 70% ของแบคทีเรียเหล่านี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วย เช่น มีเชื้อแบคทีเรีย แกรม โพซิทีฟ ค็อคไซ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนัง และอาการป่วยอื่น รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียประเภท แกรม เนกาทีฟ ร็อดส์ ซึ่งมักจะมีการดื้อยาปฏิชีวนะด้วย (ที่มา: pptvhd36.com)

อาการบาดเจ็บที่ควรระวัง เมื่อไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส | รู้ใจ

อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นที่ฟิตเนส ป้องกันยังไง?

อุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝันแต่เราเองก็สามารถเตรียมการและป้องกันเอาไว้ได้เบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง จะได้ออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้สุขภาพที่ดีร่วมด้วย ข้อควรระวังเมื่อไปฟิตเนส ควรทำตามวิธีป้องกันต่อไปนี้

  1. ควรทำการ Warm Up & Cool Down ทุกครั้งที่ออกกำลังกาย
  2. ในการทำ Warm Up & Cool Down ควรยืดกล้ามเนื้อด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 3 นาที เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อก่อนการออกกำลังกาย
  3. ค่อย ๆ เพิ่มระดับแรงต้าน หรือระยะเวลาในการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายของเราได้ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
  4. ควรเปลี่ยนหรือสลับชนิดการออกกำลังกาย เพื่อให้ทุกส่วนของร่างกายได้ใช้งาน
  5. ควรรู้ข้อจำกัดของตัวเอง และควรฟังร่างกายของตัวเอง หากร่างกายไม่ไหวควรพักให้หายก่อนกลับไปออกกำลังกายอีกครั้ง
  6. ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหม หรือออกกำลังกายนานเกินไปในแต่ละวัน
  7. ควรออกกำลังกายสลับกับการพักกล้ามเนื้อ เช่น ออกกำลังกาย 3 วัน พัก 1 วัน เป็นต้น
  8. หากมีเทรนเนอร์ หรือนักกายภาพบำบัด ควรปรึกษาหรือรับฟังคำแนะนำสำหรับวิธีออกกำลังกาย
  9. ดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการออกกำลังกาย
  10. แต่งกายให้เหมาะกับการออกกำลังกาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารุงรัง เพราะอาจจะไปติดตามเครื่องหรืออุปกรณ์ออกกำลังกาย อันนำมาซึ่งอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บต่าง ๆ

หลังจากการออกกำลัง อย่าลืม Cool Down ยืดกล้ามเนื้อ และดื่มน้ำเพื่อทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไป และอาบน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายหลังออกกำลังกายไปแล้วอย่างน้อย 30 นาที ควรเลือกอาบน้ำด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดของบทความนี้คือ หากร่างกายไม่พร้อม ไม่ควรออกกำลังกาย ดีกว่าต้องเสียใจทีหลังเพราะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นและตัวเอง ไม่ว่าจากการบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหายก็ตาม

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยบกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)

คำจำกัดความ

เทรนเนอร์ เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการออกกำลังกาย ที่สามารถแนะนำวิธีการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมในแต่ละบุคคล รวมไปถึงการแนะนำเรื่องของการกินควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ปัจจุบัน คนนิยมเลือกใช้ PT (Personal Trainer) กันอย่างมาก
Warm Up การอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกาย เช่น การยืดกล้ามเนื้อ
Cool Down หลังการออกกำลังกายต้องทำการคูลดาวน์ เพื่อช่วยลดอาการหน้ามืด หรือภาวะความดันโลหิตต่ำหลังการออกกำลังกาย
previous article
< บทความก่อนหน้า

นักกีฬา-คนออกกำลังกายหนัก ชีพจรต่ำเพราะอะไร อันตรายหรือไม่?

บทความถัดไป >

เจาะลึก Telemedicine พร้อมอัปเดต 6 แอปปรึกษาหมอออนไลน์ 2568

Next article