อากาศดีต้นปี วันหยุดเยอะ เหมาะกับชาวไบค์เกอร์ในการจัดโร้ดทริปไปต่างจังหวัดกับเพื่อน ๆ วันนี้ รู้ใจมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มักเกิดกับผู้ที่ชื่นชอบขับขี่มอเตอร์ไซค์ โรคเหล่านี้มีอะไรบ้าง มีวิธีป้องกันยังไง เพื่อที่จะได้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย เติมเต็มไลฟ์สไตล์ไม่ต้องห่วงสุขภาพ
เชื่อว่าไบค์เกอร์คงน่าจะเคยมีอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะปวดตา ตาแห้ง แสบตา คันตา ปวดหลัง ปวดขา เมื่อยตัวไปหมด ในระหว่างหรือหลังการขับขี่มอเตอร์ไซค์ และก็ปล่อยให้อาการเหล่านี้หายไปเอง เพราะคิดกันเองว่าคงจะไม่เป็นอะไร เลยไม่ได้ใส่ใจที่จะดูแลหรือรักษาอย่างจริงจัง อาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อปล่อยไปนานวันเข้า ก็จะพัฒนาไปเป็นความเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ เรามาดูกันว่าอาการเริ่มต้นเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาไปเป็นโรคร้ายอะไรได้บ้าง ลองอ่านบทความนี้กัน
1. ไบค์เกอร์เสี่ยงโรคต้อลม
ในการขับขี่มอเตอร์ไซค์แต่ละครั้งนั้น ร่างกายต้องเผชิญกับมลพิษมากมายระหว่างการเดินทาง ทั้งฝน ฝุ่น ควันจากท่อไอเสีย รังสียูวีจากแสงแดด ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดความระคายเคืองที่ผิวหน้าและดวงตา อาจจะมีอาการแสบตา คันตา หรือปวดเบ้าตา จากอาการเล็ก ๆ แบบนี้ สุดท้ายก็หนักขึ้นจนเป็นโรคต้อลม
โรคต้อลมคืออะไร?
เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตาขาวที่พบได้บ่อย แต่ไม่ใช่เนื้องอก ลักษณะจะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน ๆ สีขาวหรือสีเหลืองใส ที่บริเวณเยื่อบุตาขาว สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณหัวตาและหางตา เมื่อก้อนเนื้อนี้เกิดขึ้นแล้ว หากปล่อยไปโดยไม่ได้ทำการรักษา มันจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแผ่นเนื้อที่เรียกว่า “ต้อเนื้อ” เข้ามาบริเวณกระจกตาดำ และทำให้ตาเป็นต้อในที่สุด
โรคต้อลมเกิดจากอะไร?
ต้อลมไม่ได้เกิดจากการที่ตาปะทะกับลมตามความเข้าใจผิดของหลายคน แต่ความจริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อลมส่วนใหญ่จะมาจาก
- ดวงตาที่สัมผัสโดยตรงกับรังสียูวีในแสงแดด โดยไม่ได้ใส่แว่นกันแดดหรือมีการป้องกัน
- ดวงตาสัมผัสกับฝุ่น ควัน ลม สารเคมีต่าง ๆ มลภาวะภายนอก และความร้อนทั้งหลาย
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตาแห้ง เช่น ใช้สายตาหนักจนเกินไป
โรคต้อลม อาการเป็นยังไง?
อาการของโรคต้อลมจะปรากฏอาการน้อยหรือมากนั้นขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล อาการที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน คือ
- เกิดตุ่มนูนขนาดเล็ก สีเหลืองบริเวณตาขาว
- มีความรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรอยู่ในดวงตา คล้ายฝุ่นหรือผงเข้าตา
- ในบางรายจะมีอาการตาแดง คันตา และตาอักเสบร่วมด้วย
- ตาแห้งและแสบตา
ป้องกันยังไงไม่ให้เป็นโรคต้อลม?
จริง ๆ โรคต้อลมเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ถ้าเริ่มทำตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่าต้อลมจะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เราตาบอด แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้ในอนาคต วิธีป้องกันมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต้อลม เช่น ลม แสงแดด หรือถ้ามีความจำเป็นต้องเผชิญกับมลภาวะเหล่านี้ ควรหาแว่นกันแดดมาใส่เพื่อป้องกันดวงตาสัมผัสโดยตรงกับตัวกระตุ้นเหล่านี้
- สำหรับคนที่ตาแห้ง ไม่ว่าจะเกิดจากการใส่คอนเเทคเลนส์หรือตาแห้งเป็นปกติอยู่แล้ว ควรพกน้ำตาเทียม หยอดตาตลอดทั้งวัน
- พนักงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์บ้าง เพื่อลดอาการตาแห้ง
- ในผู้ที่ใส่คอนเเทคเลนส์เป็นประจำ ตัวคอนเเทคเลนส์อาจไปสัมผัสโดนก้อนเนื้อต้อลม อาจทำให้ก้อนเนื้อนั้นขยายใหญ่ขึ้น ต้องพักตาด้วยการสลับมาใส่แว่นบ้าง แต่หากปล่อยไว้นาน โดยไม่รักษาหรือไม่ป้องกัน โรคต้อลมจะพัฒนากลายไปเป็นต้อเนื้อได้
2. ไบค์เกอร์เสี่ยงโรคต้อเนื้อ
เมื่อมีอาการของโรคต้อลม แล้วไม่รีบรักษาหรือป้องกัน ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ก็จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแผ่นเนื้อที่เรียกว่า “ต้อเนื้อ” เข้ามาบริเวณกระจกตาดำ และทำให้ตาเป็นต้อเนื้อในที่สุด
โรคต้อเนื้อ คืออะไร?
โรคต้อเนื้อคือ โรคที่เกิดจากภาวะที่พังผืดของเยื่อบุตา ซึ่งเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำ มักจะพบที่บริเวณหัวตามากกว่าทางหางตา ต้อเนื้อพัฒนามาจากต้อลม โดยต้อเนื้อจะค่อย ๆ ลุกลามเข้ามาที่ตาดำไปเรื่อย ๆ จนปิดรูม่านตา ทำให้การมองเห็นไม่ชัด โดยสาเหตุของต้อเนื้อจะเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เกิดต้อลม
โรคต้อเนื้อมีอาการยังไงบ้าง?
ต้อเนื้อจะมีอาการ ดังต่อไปนี้
- ตาแดง
- ระคายเคืองตาคันตา
- เห็นภาพไม่ชัด
โรคต้อเนื้อเป็นอันตรายมั้ย?
โรคต้อเนื้ออาจทำให้ดวงตาระคายเคือง ตาแดง หรือทำให้ดวงตาดูไม่สวยงาม ต้อเนื้อยังสามารถลุกลามได้และหากมีอาการมากจะส่งผลต่อการมองเห็น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีโรคเนื้องอกบางชนิดที่ดวงตาที่มีอาการคล้ายต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้อรักษายังไง?
ในกรณีที่เป็นน้อย ๆ แพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีหยอดยาลดอาการอักเสบ ลดอาการระคายเคืองที่ลูกตา แต่การหยอดยานั้นไม่สามารถรักษาให้ต้อเนื้อหายไปได้ เพียงแต่ระงับอาการไม่ให้รุนแรงเท่านั้น หากต้องการรักษาต้อเนื้อให้หายขาดและกลับมามองเห็นได้ชัด ต้องทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ โดยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อจะมี 2 วิธี ดังนี้ คือ
- การลอกต้อเนื้อ – เป็นการลอกเนื้อที่ตาขาวและส่วนที่ยื่นไปปกคลุมตาดำออก ซึ่งการลอกนี้อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้
- การลอกต้อเนื้อและปลูกเนื้อเยื่อบริเวณที่ลอกเนื้อออกไป – เนื้อเยื่อที่นำมาปลูกใหม่นี้ อาจเป็นเนื้อเยื่อจากเยื่อบุตาของผู้ป่วย วิธีรักษานี้อาจใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ผลลัพธ์หรือโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมีน้อยมาก
ทำยังไงถึงจะไม่เป็นโรคต้อเนื้อ?
วิธีหลีกเลี่ยงการเป็นต้อเนื้อคือ เมื่อเริ่มมีอาการของต้อลมควรรีบทำการรักษาหรือป้องกันไม่ให้มันพัฒนากลายมาเป็นต้อเนื้อ เลี่ยงแสงแดดในช่วง 10.00-14.00 น. ใส่แว่นป้องกันมลภาวะ ฝุ่น ควัน มลพิษต่าง ๆ และรังสียูวี
3. ไบค์เกอร์เสี่ยงเกิดอาการมือชาจากการขี่มอเตอร์ไซค์
ในการขี่รถทางไกลหรือต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรเป็นระยะเวลานาน ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์หลายคนจะมีอาการมือชา การรับรู้ หรือความรู้สึกลดลง มีอาการเมื่อยมือระหว่างขับขี่
อาการชาที่มือเกิดจากอะไร?
- ปลายเส้นประสาทอักเสบจากการขาดวิตามินบี 1 และบี 12
- เกิดจากปลายเส้นประสาทที่บริเวณมือถูกกดทับ หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน
- อากาศเย็น ระหว่างขี่รถ ซึ่งอาจต้องใช้แฮนด์การ์ดหรือแผ่นบังลม หรือเลือกถุงมือที่มีเทคโนโลยีเก็บอุณหภูมิหรือติดฮีตกริปก็ได้
- แรงสั่นของรถมอเตอร์ไซค์ สำหรับบิ๊กไบค์คันใหญ่มักจะมีเเรงสั่นของรถ แรงสั่นเหล่านี้ส่งมาถึงมือของผู้ขับขี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาได้
- การจัดท่านั่งของรถ เช่น มอเตอร์ไซค์แบบ Cafe Racer หรือ Super Sport จะมีท่านั่งที่ต้องถ่ายน้ำหนักไปที่ข้อมือมากกว่ามอเตอร์ไซค์สไตล์อื่น แก้โดยการปรับองศาแฮนด์แบบคลิป-ออนหรือตั้งบาร์ไรเซอร์ก็จะสามารถช่วยลดอาการชาลงได้
4. ไบค์เกอร์เสี่ยงเกิดอาการปวดเมื่อยต่างๆ ตามร่างกาย
เมื่อต้องขี่รถเป็นระยะเวลานาน หรือเดินทางไกล แน่นอนว่ามันต้องมีอาการเมื่อย อาการปวดต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดต้นคอ ปวดเมื่อยตามขาและสะโพก เพื่อลดอาการปวดดังกล่าว ควรทำวิธีดังต่อไปนี้
- จัดท่านั่งในการขับขี่ให้ถูกต้อง เพื่อลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
- การเลือกหมวกกันน็อค ควรเลือกหมวกกันน็อคที่มีน้ำหนักพอดี ไม่หนักจนทำให้บ่าและคอต้องทำงานหนัก
- หยุดรถพักบ้าง อย่าขับขี่เป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพื่อคลายเส้น คลายกล้ามเนื้อและเปลี่ยนอิริยาบถ
การขี่มอเตอร์ไซค์นั้น ไม่ว่าจะขี่เป็นงานอดิเรก หรือขี่เป็นประจำทุกวัน จงจำไว้ว่า เรามีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ขับรถยนต์ ฉะนั้น ก่อนสตาร์ทรถแต่ละครั้ง จำเป็นต้องเช็คระบบทุกอย่างว่ามีความพร้อมหรือไม่ โดยเฉพาะร่างกายของผู้ขับขี่ และควรสวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง หากต้องขี่ระยะทางไกลควรใส่เสื้อแจ็คเก็ตสำหรับขี่ทางไกล และควรใส่หมวกกันน็อคแบบ Full Face เพื่อการขับขี่ปลอดภัย ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำประกันรถมอเตอร์ไซค์ เผื่อไว้ในเวลาที่เกิดเหตุไม่คาดคิด ที่รู้ใจเรามีประกันบิ๊กไบค์ที่คุณสามารถเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานรถได้ ให้รู้ใจดูแลคุณเหมือนที่คุณใส่ใจรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์คันโตของคุณ เราพร้อมดูแลรถคันโปรดของคุณในทุกเส้นทาง ให้ได้รับความปลอดภัยขั้นสูงสุด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)