ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ แต่ถ้าดวงตาไม่สดใส อาจเพราะเกิดจากโรคตาบางโรคก็ได้ แน่นอนว่าดวงตาผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานเป็นสิบ ๆ ปี มันต้องมีการเสื่อมสภาพกันอยู่แล้ว ในบทความนี้ รู้ใจรวบรวมโรคเกี่ยวกับตา อาการโรคทางตา พร้อมวิธีรักษา และเคล็ดลับในการดูแลสุขภาพดวงตา
- โรคทางตาที่พบบ่อย
- 8 ทริคดูแลสุขภาพตา ทำง่าย ใกล้ตัว
การตรวจคัดกรองดวงตาเป็นประจำทุกปี จะเป็นการตรวจหาความผิดปกติของดวงตาหรือโรคเกี่ยวกับตาทั้งหลายที่ยังไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุ
1.ต้อหิน (Glaucoma)
ต้อหินเป็นโรคตาที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียในการมองเห็น ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่ามีความดันลูกนัยน์ตาสูงร่วมด้วย สำหรับโรคต้อหิน มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่มันจะค่อย ๆ ทำลายเส้นประสาทดวงตาของเรา เมื่อตรวจพบอีกที ก็เข้าขั้นรุนแรงแล้ว มักจะพบในคนเอเชีย และปัจจุบัน ตรวจพบเจอโรคต้อหินในคนที่อายุ 30 ปี
- อาการต้อหิน
- หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตามัวลง เห็นรุ้งรอบดวงไฟ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน เพราะความดันลูกนัยน์ตาสูง
- วิธีรักษาต้อหิน
- รักษาโดยการใช้ยา เช่น ยาหยอดตา ยารับประทาน ยาฉีด
- รักษาโดยการทำเลเซอร์ วิธีรักษาด้วยเลเซอร์ จะขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน โดยจะใช้เวลารักษาไม่นาน และจักษุแพทย์มักจะให้ยาควบคู่ไปด้วย
- รักษาโดยการผ่าตัด – วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อจักษุแพทย์ใช้ทั้งสองวิธีด้านบนแล้วไม่ได้ผลถึงจะผ่าตัด การผ่าตัดก็จะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของต้อหิน แต่การผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกนัยน์ตาเท่านั้น ไม่ได้ผ่าต้อออกไปแล้วจะหายขาด ต้อหินรักษาได้ดีที่สุด คือการควบคุมอาการของโรคเท่านั้น
2. ต้อกระจก (Cataract)
โรคเกี่ยวกับตาที่เป็นภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นมัว ทำให้แสงที่ผ่านเข้าดวงตานั้นลดลงทำให้ไม่สามารถทำให้จอประสาทตารับภาพได้ชัดเจน การมองเห็นลดลงเรื่อย ๆ มักจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป แต่วัยอื่นก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกเช่นกัน เช่น คนที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือคนที่เคยใช้สเตียรอยด์หยอดตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
- อาการต้อกระจก
- ตาจะค่อย ๆ พร่ามัวลง เหมือนมีหมอกหรือฝ้าบดบัง
- เห็นภาพซ้อน เห็นแสงไฟกระจาย
- มองภาพเป็นสีเหลืองหรือสีผิดเพี้ยนไป
- ค่าสายตาอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- วิธีรักษาต้อกระจก – รักษาโดยการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง หรือ Phacoemulsification โดยใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปสลาย เพื่อนำเลนส์ตาที่มีความขุ่นออก หรือเรียกว่าลอกต้อ แล้วจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน โดยจะใช้เวลาผ่าตัดเพียง 15-30 นาที และแผลจะมีขนาดเล็ก 3-5 มม. เท่านั้น
3. ต้อเนื้อ ต้อลม
ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ โรคเกี่ยวกับตาที่เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม และจะค่อย ๆ ลุกลาม จนไปปิดบังรูม่านตา โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงยูวี พบมากในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ที่มีทั้งแดด ฝุ่น และควัน พบมากในผู้ที่มีอายุ 30-35 ปี
- อาการต้อเนื้อ
- ตาแดง
- ระคายเคืองตา ไม่สบายตา
- ถ้าเป็นมากจะมองเห็นไม่ชัด
- วิธีรักษาต้อเนื้อ
- การลอกต้อเนื้อ เป็นการลอกเนื้อที่ตาขาวและส่วนที่ปกคลุมตาดำออก แต่วิธีนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงมาก
- การลอกต้อเนื้อและปลูกเนื้อเยื่อบริเวณที่ลอกออก เนื้อเยื่อที่นำมาปลูก อาจจะเป็นเนื้อเยื่อจากรก หรือจากเยื่อบุตาของคนไข้เอง มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อย
ส่วน ต้อลม หรือ Pinguecula เป็นโรคตาที่เกิดจากการเสื่อมสภาพเช่นเดียวกับต้อเนื้อ ต่างกันเพียงต้อลมจะไม่ลุกลามเข้าตาดำ จะอยู่บริเวณเยื่อบุตาเท่านั้น อาการจะมีแค่ระคายเคืองตาเท่านั้น แต่ตาจะไม่มัว ส่วนใหญ่ถ้าเป็นไม่มาก จักษุแทพย์จะแนะนำให้สวมแว่นตาดำเวลาที่ต้องออกกลางแจ้ง หรือให้ยาชนิดสเตียรอยด์หยอดตา หากเป็นมากจะต้องผ่าตัด
8 ทริคดูแลสุขภาพตา ทำง่าย ใกล้ตัว
การมีสุขภาพตาที่ดีไม่มีโรคตา จะช่วยให้เรามองเห็นชัดเจน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความปลอดภัย เพราะดวงตาเป็นส่วนที่เราต้องใช้งานหนักในแต่ละวัน จึงควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ห่างไกลอาการโรคทางตาที่พบบ่อย โดยรู้ใจมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- ปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ให้พอดี ไม่มืด หรือสว่างจนเกินไป
- ควรรักษาระยะห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ตในระยะที่เหมาะสม
- หากต้องทำงานกลางแจ้ง หรือต้องออกกลางแจ้งที่แดดจ้า ควรใส่แว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการกัดรังสียูวี
- ในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่เป็นประจำ ไม่ควรใส่นอน ไม่ควรใส่ติดต่อกันนานกว่า 8-12 ชั่วโมง และควรพกน้ำตาเทียมหยอดตาระหว่างวัน เพื่อป้องกันตาแห้ง
- พักสายตาทุก 20 นาที จากการจ้องคอมพิวเตอร์
- พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หากต้องใช้น้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาให้เลือกชนิดที่ไม่ผสมสารกันเสีย
- ตรวจสุขภาพตาทุกปีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการโรคทางตาต่าง ๆ
4. วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degenration)
วุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลหนืดใสเหมือนวุ้น โดยจะอยู่ส่วนหลังของลูกตา อยู่ติด กับจอประสาทตาที่ล้อมรอบอยู่ หากวุ้นตาเสื่อม น้ำวุ้นในตาจะมีการเปลี่ยนสภาพ บางส่วนจะกลายเป็นของเหลว และบางส่วนจะกลายเป็นก้อนหรือเป็นเส้นเหมือนหยากไย่ และอาจหดตัวลอกออกจากผิวจอประสาทตา ทำให้มองเห็นเป็นเงาดำ จุดเล็ก ๆ เส้น ๆ พบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีสายตาสั้น
- อาการวุ้นตาเสื่อม
- เห็นเงาดำๆ ลอยไปลอยมาในตา หรือเห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เห็นแสงวาบ ๆ ในตา
- เห็นเงาคล้ายกับม่านตาบางส่วน
- วิธีรักษาวุ้นตาเสื่อม
- วุ้นตาเสื่อมมักไม่จำเป็นต้องทำการรักษา การมองเห็นเงาดำ ๆ จะสร้างแค่ความรำคาญเท่านั้น แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ มันจะลดลงและหายไปเอง
- กรณีที่มีการฉีกขาดของจอตาร่วมด้วย จะต้องได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือการจี้เย็น เพื่อปิดรอยฉีกขาดและป้องกันการเกิดจอตาหลุดลอกออกมา
5. จอประสาทตาเสื่อมตามวัย (Age-Related Macular Degeneration : AMD)
จอประสาทตาเสื่อมตามวัยเป็นโรคเกี่ยวกับตาที่เกิดจากการที่จุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักจะเป็นไปตามวัยและพบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
- อาการจอประสาทตาเสื่อมตามวัย
- มองภาพไม่ชัด มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
- ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ
- วิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมตามวัย – ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ จึงมีเพียงแค่วิธีป้องกันและดูแลรักษาดวงตาของเรา คือ การตรวจคัดกรองทุกปี เลี่ยงแดดจ้า จะช่วยชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้
6. ตาแห้ง (Dry Eye)
ตาแห้งเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและวัยทำงาน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา การใส่คอนแทคเลนส์ การจ้องหน้าจอมือถือหรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการรับประทานยาบางชนิด
- อาการตาแห้ง
- ระคายเคืองตา เหมือนมีอะไรอยู่ในลูกตา
- แสบตา หรือน้ำตาไหลมาก
- วิธีรักษาตาแห้ง
- การรักษาอาการตาแห้งมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ตาแห้ง จักษุแพทย์จะแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาร่วมด้วย
- ปรับพฤติกรรมการใช้งานดวงตา อาจจะต้องมีการพักสลับกันบ้าง หากต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ
- ประคบอุ่น นวดและทำความสะอาดเปลือกตา กรณีที่มีเปลือกตาที่ผิดปกติ
นอกจากทั้ง 6 โรคที่เราได้รวบรวมมา ยังมีอาการปวดตาที่มักเกิดขึ้นบ่อยจนหลายคนสงสัยว่าการปวดตา เจ็บหัวตา เกิดจากอะไร วันนี้รู้ใจมีคำตอบ อาการปวดตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ตาแห้ง ปวดหัว ตาอักเสบ เป็นไข้หวัด หรือโรคอื่น ๆ แต่ก็จะสามารถหายได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยก็ควรไปตรวจสุขภาพตาเพื่อป้องกันไว้ก่อน เมื่อเรารู้ว่าการปวดตา เจ็บหัวตา เกิดจากอะไรแล้วอย่าลืมหลีกเลี่ยงพฤติกรรม เช่น การจ้องคอมนาน ๆ การใส่คอนแทคเลนส์ ขยี้ตา หรือจ้องมือถือนาน ๆ
ดวงตาของเรามีเพียงคู่เดียว เราจึงควรใส่ใจและดูแลเพื่อที่จะใช้งานดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพได้นานที่สุด และควรไปตรวจคัดกรองโรคเกี่ยวกับตาเมื่อเกิดความผิดปกติที่ดวงตา ไม่ว่าจะมีอาการปวดตา ตาพร่า ตามัว การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่านิ่งนอนใจและปล่อยไว้จนเป็นหนักเพราะเสี่ยงสูญเสียการมองเห็นได้เลย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
จักษุแพทย์ | แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาและระบบประสาทตา |
แสงยูวี | รังสียูวี (UV) ย่อมาจาก Ultraviolet เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มนุษย์มองเห็น แหล่งกำเนิดหลักมาจากดวงอาทิตย์ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นจากแหล่งอื่่นได้ |