อาการเรื้อรังไม่ใช่เเค่น่ารำคาญ มันอาจกำลังส่งสัญญาณโรคร้ายบางอย่าง เคยเป็นหรือไม่ ไอบ่อย ๆ มีเสมหะเรื้อรัง คันตามตัวตั้งนานกินยาก็ไม่หายสักที หรือปวดหัวเป็นประจำติดต่อกันนานจนกลายเป็นอาการเรื้อรัง อาการเรื้อรังต่าง ๆ เหล่านี้ ร่างกายกำลังส่งสัญญาณสื่อสารว่ากับเราว่ากำลังมีโรคบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกายของเรา นำพาโรคร้ายอะไรมาให้เราบ้าง มาอ่านบทความนี้กัน
หากคุณยังไม่เคยมีอาการเรื้อรังเหล่านี้ นับว่าคุณมีสุขภาพที่แข็งแรงดี แต่หากคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะอาการเรื้อรังจากการ ไอ คัน เสมหะ หรือปวดหัวเรื้อรัง อย่าชะลาใจว่ากินยาเข้าไปเดี๋ยวก็หาย บางทีโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในร่างกายอาจจะกำลังก่อตัวขึ้นก็เป็นได้ เรามาตรวจสอบอาการกันดีกว่า คุณมีอาการเรื้อรังแบบนี้หรือไม่ และอาการเรื้อรังต่าง ๆ นี้ เสี่ยงเป็นโรคร้ายอะไรบ้าง
อาการไอเรื้อรัง
อาการไอบ่อย ๆ จนน่ารำคาญ กินยาก็ไม่หาย อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการไอแบบปกติทั่วไป อาการไอที่เป็นอยู่นาน ๆ อาจเป็นอาการไอเรื้อรัง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ มากมาย
อาการไอ เป็นการที่ร่างกายตอบสนอง เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ ฝุ่นหรือควัน การไอเป็นการที่ร่างกายพยายามจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา โดยปกติแล้ว อาการไอมักจะมีระยะเวลาไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ก็จะหายไป แต่หากมีอาการไอติดต่อกันนานกว่า 8 สัปดาห์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า อาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายของเรา ลองเช็คดูว่า คุณกำลังมีอาการไอเเบบนี้อยู่หรือไม่
- ไอเรื้อรังติดต่อกันนานกว่า 8 สัปดาห์
- อาการไอมีความรุนแรงมากขึ้น
- มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหนื่อยหอบ ไม่มีแรง เจ็บหน้าอก
- ไอหลังจากมีการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค
อาการไอเรื้อรังที่กล่าวมานี้ หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรง
- โรควัณโรค – แม้จะไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากโรคลุกลามมากขึ้น จะมีอาการเหล่านี้ เช่น ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเป็นเลือด
- โรคมะเร็งปอด – เมื่อมะเร็งปอดลุกลามมากขึ้น จะมีอาการ ไอเรื้อรัง หรือไอออกมาเป็นเลือดสด ในบางรายจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดแบบผิดปกติ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ถุงลมโป่งพอง – มักพบในคนที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน จะมีอาการไอปนเสมหะแบบเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย หรือหายใจมีเสียงดัง
- โรคหืด – จะมีอาการไอ โดยเฉพาะในเวลาที่อากาศเย็นหรือในช่วงกลางคืน ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการที่พบ เช่น หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง และมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย
- โรคภูมิแพ้ – ภูมิแพ้มักจะมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม มีน้ำมูกใส ๆ
- โรคกรดไหลย้อน – จะมีอาการไอแห้ง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน มีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย
- โรคไซนัสอักเสบ – โรคไซนัสมักจะมีอาการต่อเนื่องมาจากโรคภูมิแพ้ มักจะไอในเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
- โรคภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น – มักพบตามหลังมีภาวะการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
อาการเสมหะเรื้อรัง
เสมหะเป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ การมีเสมหะในคอเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ดังต่อไปนี้
- โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ – เกิดจาก เยื่อบุของผู้ป่วยมีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความระคายเคืองต่าง ๆ จะไปกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก น้ำมูกที่ไหลลงคอนี้จะเปลี่ยนเป็นเสมหะ
- โรคไซนัสอักเสบ – โรคนี้เกี่ยวกับการอักเสบของเยื่อบุจมูกและไซนัส ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ทำให้มีเสมหะไหลลงคอได้ เสมหะของผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบมักจะมีสีเขียวหรือสีเหลือง
- โรคกรดไหลย้อน – เมื่อกรดไหลกลับขึ้นมาที่คอหอย จะไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุให้มีเสมหะตกค้างที่ลำคอ
- โรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด – สองโรคนี้ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมมีความไวต่อสิ่งผิดปกติมากจนเกินไป เมื่อไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ จะไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะ ทำให้มีเสมหะในคอตลอดเวลา
อาการคันเรื้อรัง
อาการคันเรื้อรังอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกถึงโรคที่เกี่ยวกับตับ ไต หรือเป็นอาการเริ่มต้นเกี่ยวกับระบบเลือด โรคเบาหวาน โรคจากต่อมไร้ท้อ หรืออาจเป็นโรคมะเร็ง ลองสังเกตอาการคันเรื้อรังตามบริเวณต่าง ๆ เหล่า นี้
- โรคไต – หากมีอาการคันทั้งตัว ผิวแห้ง และมักจะคันในช่วงเวลากลางคืน เป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคไต
- โรคตับ – มักจะคันที่มือ เท้า ต้นแขน เอว ขาหนีบ ใต้ราวอก อาการคันเหล่านี้ ร่างกายกำลังส่งเสียงบอกเราว่า ตับกำลังมีปัญหา
- โรคที่เกี่ยวกับระบบเลือดและโรคเบาหวาน – จะมีอาการคันเฉพาะที่ เช่น คันบริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศหรือมีอาการคันหลังจากสัมผัสน้ำ
- โรคต่อมไร้ท่อ – จะมีอาการคันทั่วร่างกาย
- โรคมะเร็ง – อาการคันจะรุนแรงมากกว่าโรคอื่น ๆ ที่กล่าวมา โดยบริเวณที่คันจะเป็นบริเวณแขนและขา
อาการปวดหัวเรื้อรัง
อาการปวดหัวบ่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ หายไปไม่กี่วันก็กลับมาปวดอีก หากมีอาการปวดหัวแบบนี้ อาจไม่ใช่แค่การปวดหัวธรรมดา แต่อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย อาการปวดหัวที่มากกว่า 15 วันนับว่าเป็น “อาการปวดแบบเรื้อรัง” อย่านิ่งนอนใจหากว่าคุณกำลังมีอาการแบบนี้ เพราะคุณอาจจะเสี่ยงเป็นโรคต่อไปนี้
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจ
- โรคความดันโลหิตสูง
- เนื้องอกในสมอง
อาการปวดหัวเรื้อรังเเบบไม่อันตราย คือ อาการปวดหัวจากความเครียด ไมเกรน อาการตึงของกล้ามเนื้อ อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายหรือโรคร้ายแรง แต่อาจจะสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากมีอาการปวดหัวตามด้านล่างนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- ปวดหัวแบบรุนแรง และมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
- ปวดหัวและมีไข้ และมีอาการคอแข็งร่วมด้วย
- มีอาการแขนขาอ่อนแรง
- อาการปวดทวีความรุนแรงขึ้น กินยาก็ไม่หาย
อาการทั้ง 4 ข้อดังกล่าวเป็นอาการของเลือดออกในสมองหรือมีการติดเชื้อในระบบประสาท จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยต่อไป
ภัยเงียบที่แฝงตัวมาในรูปเเบบของอาการเรื้อรังเหล่านี้ อย่าได้นิ่งนอนใจหรือคิดว่า “ไม่เป็นไร” เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเราทำงานเชื่อมโยงกัน ดังนั้นอย่าปฏิเสธสัญญาณ Final Call ที่ร่างกายพยายามสื่อสารกับเรา โรคต่าง ๆ เหล่านี้ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสรักษาให้หายได้
เพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี และการเลือกซื้อความคุ้มครองโรคร้ายแรงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรนำมาพิจารณา ความคุ้มครองด้านสุขภาพที่พอเหมาะพอดีกับเรา จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแพทย์ให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)