ผู้หญิงทุกคนคงเคยผ่านประสบการณ์ปวดท้องประจำเดือนกันมาไม่มากก็น้อย บางคนปวดก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน บางคนปวดทั้งก่อนและขณะมีประจำเดือน บางคนไม่ค่อยปวดท้องเท่าไหร่ระหว่างมีประจำเดือน และบางคนปวดท้องรุนแรงทุกครั้งที่มีประจำเดือน อาการปวดท้องประจำเดือนนี้ อาจฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องปกติของผู้หญิง แต่ในเรื่องปกติเช่นนี้มันแฝงความผิดปกติมาด้วยน่ะสิ แล้วปวดท้องประจำเดือนแบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ ช็อกโกแลตซีส อันตรายไหม ผู้หญิงดูแลตัวเองยังไงดี ต้องสังเกตอาการยังไง ก่อนที่เราจะลงลึกในเรื่องนี้ เราไปทำความรู้จักกันก่อนว่า ช็อกโกแลตซีสต์คืออะไร?
ช็อกโกแลตซีสต์คืออะไร?
ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นโรคในผู้หญิงหรือเรียกอีกอย่างว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ (Endometriosis) ช็อกโกแลตซีส เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาเมื่อถึงรอบประจำเดือนแล้วไปเจริญนอกโพรงมดลูก ซึ่งทางการแพทย์อธิบายการเกิดได้หลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุการเกิดช็อกโกแลตซีสต์ก็คือ การที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านท่อนำไข่แล้วฝังตัวที่รังไข่จนเกิดเป็นถุงน้ำ ซึ่งขนาดของถุงน้ำจะใหญ่ขึ้นในแต่ละเดือน
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อช็อกโกแลตซีสต์?
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคช็อกโกแลตซีสต์ คือ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคน นับตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน เนื่องจากโรคช็อกโกเเลตซีสต์หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง
- ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย ๆ
- มีรอบประจำเดือนสั้นหรือรอบห่างของประจำเดือนน้อยกว่า 27 วัน
- ในผู้ที่ประจำเดือนมาครั้งละมาก ๆ หรือนานกว่า 7 วัน
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางออกของประจำเดือน หรือผู้ป่วยที่มีเยื่อพรหมจารีปิด หรือมีความผิดปกติที่ปากมดลูก
อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากอะไร?
อาการปวดประจำเดือนเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนตกค้าง ในบางคนจะปวดรุนแรง ในขณะที่บางคนอาจจะปวดท้องเล็กน้อย เพราะมีเส้นประสาทใกล้เคียงทำให้ปวดมากยิ่งขึ้น และตัวเซลล์ที่แตกสลาย ทำให้เกิดอาการอักเสบ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวันเข้า จะเกิดพังผืดมาติดทั้งรังไข่ มดลูก ลำไส้ ให้เชื่อมติดกัน อาการนี้เกิดขึ้นได้ถึง 10% ของผู้หญิง
ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 15 ปี และได้แต่งงานตอนอายุ 19 ปี คนกลุ่มนี้จะมีอาการปวดท้องประจำเดือนน้อย แต่ต้องยอมรับว่า สังคมไทยในปัจจุบัน ผู้หญิงแต่งงานช้า หรือบางคนไม่แต่งงานเลยก็มี ดังนั้นโอกาสการเกิดจึงมีมากขึ้นในปัจจุบันเพราะมีเลือดตกค้างอยู่ที่อุ้งเชิงกรานอยู่เป็นจำนวนมาก
หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจดูภายใน หากพบจุด ๆ ที่ผนังโพรงมดลูกมีสีน้ำตาล นั่นคือช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง แถมยังทำให้มีลูกได้ยาก และมีความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
ช็อกโกแลตซีส อาการยังไง?
อาการของโรคช็อกโกแลตซีสต์ หากไม่ได้สังเกตตัวเองในทุก ๆ เดือน อาจจะไม่ทราบถึงความผิดปกติ แพทย์จึงมักจะให้คำแนะนำกับผู้หญิงทุกคน ให้สังเกตอาการปวดท้องของตัวเองในทุกเดือน ทั้งปริมาณของประจำเดือน และระยะห่างของรอบเดือนในแต่ละเดือน
ในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี หากไม่เคยปวดท้องประจำเดือนมาก่อน แต่อยู่ ๆ กลับปวดท้องประจำเดือน และปวดมากขึ้นในทุกรอบเดือนจนไม่สามารถทำอะไรได้ต้องลาหยุด หรือต้องนอนพักกินยาถึงจะหาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาการเช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์ และควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง โดยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป มากบ้าง น้อยบ้าง แต่จะมีอาการที่พบได้บ่อยและสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ ดังนี้
- ปวดท้องน้อยในขณะที่มีรอบเดือน และปวดมากขึ้นจนต้องกินยาแก้ปวด
- ปวดบริเวณอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดหลัง รอบเอว ปวดก้นกบ
- ท้องอืด หรือท้องเสีย และปวดมากเวลาถ่ายอุจจาระในช่วงมีประจำเดือน
- ปวดที่มดลูกหรือท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์
- อยู่ในภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากเป็นมากขึ้นอาจเกิดกรณีต่อไปนี้
- เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- ตัวซีสต์อักเสบมากจนกลายเป็นฝี หรือปริแตก ทำให้ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน จนต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน
- มีบุตรยาก เนื่องจากท่อนำไข่อุดตันและตัวอ่อนฝังตัวยากขึ้น
- มีพังผืดกดรัดท่อไต ทำให้ท่อไตหรือไตบวม
ช็อกโกแลตซีส วิธีรักษายังไงบ้าง?
โรคช็อกโกแลตซีส วิธีรักษามีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การใช้ยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนที่แพทย์จะวินิจฉัยออกมา
1. รักษาโดยการใช้ยา
ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือตรวจดูแล้วก้อนช็อกโกแลตซีสต์เป็นก้อนไม่ใหญ่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดและฮอร์โมนเพื่อควบคุมอาการ
2. รักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดในปัจจุบันจะมีทั้งการผ่าตัดแบบเดิมคือ เปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง บางโรงพยาบาลมีการผ่าตัดแบบส่องกล้องแบบ 3 มิติ ด้วย
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
จะเป็นการผ่าตัดบริเวณบิกินีไลน์ แผลแบบตรงหรือแบบขวางคล้ายการผ่าตัดคลอดลูก ข้อเสียคือ แผลผ่าตัดจะใหญ่และผู้ป่วยจะเจ็บแผลมากหลังจากผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องได้
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ แผลจะมีขนาดเล็ก 0.5-1 ซม. เท่านั้น โดยแพทย์จะผ่าตัดผ่านกล้องที่มีความละเอียดสูง สามารถผ่าตัดเลาะพังผืดและเอาซีสต์ออกได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน และโอกาสในการเกิดพังผืดน้อยกว่า ในบางรายหลังผ่าตัดแบบส่องกล้องเสร็จ พักฟื้น 2-3 ชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้เลยก็มี
โรคช็อกโกแลตซีสต์เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกคน ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการตัวเองเสมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดูแลตัวเองและคนที่คุณรัก ที่สำคัญคือหากคุณเริ่มสงสัยว่าตัวเองมีอาการของโรค ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป อย่าปล่อยให้ลุกลามจนเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอื่น ๆ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)