คนส่วนใหญ่รู้จักอยู่แล้วว่า โรคอีสุกอีใส คืออะไร และเชื่อว่าส่วนใหญ่เคยเป็นกันมาแล้วตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ โรคอีสุกอีใส หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Chickenpox เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสที่ชื่อว่า วาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) สามารถติดเชื้อได้ง่ายสำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- อาการอีสุกอีใสเป็นยังไง?
- อีสุกอีใสเกิดจากอะไร?
- ใครบ้างที่เสี่ยงต่ออาการอีสุกอีใส
- งูสวัด โรคต่อเนื่องจากอีสุกอีใสที่ควรระวัง
- วิธีรักษาอีสุกอีใสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- วิธีรักษารอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส หากเป็นในเด็กจะมีอาการอีสุกอีใสไม่รุนแรง โดยอาจจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แต่หากอีสุกอีใสเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ อาการอีสุกอีใสจะรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายเป็นไข้ และจะมีผื่นแดง ๆ ขึ้นก่อน หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มอีสุกอีใสซึ่งเป็นตุ่มน้ำใส ๆ
อาการอีสุกอีใสเป็นยังไง?
อาการอีสุกอีใสเริ่มแรกจะมีผื่นคันและจะมีอาการอยู่ประมาณ 10-21 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส หลังจากนั้นจะเกิดตุ่มพุพองใส ๆ จะแสดงอาการอยู่ประมาณ 5-10 วัน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- มีไข้
- เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อ่อนเพลีย เมื่อยตัว หรือไม่สบายตัว
โดยอาการของอีสุกอีใสจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 – มีตุ่มสีชมพูหรือสีแดงขึ้นบริเวณผิวหนัง และเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายวัน
ระยะที่ 2 – ตุ่มแดง ๆ จะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน และจะเริ่มมีการแตก
ระยะที่ 3 – ตุ่มน้ำเหล่านั้นเริ่มตกสะเก็ด และจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าสะเก็ดแผลอีสุกอีใสเหล่านั้นจะหลุดออกและดีขึ้น
อิสุกสิใส ติดต่อผ่านการแพร่เชื้อ โดยผู้ป่วยจะแพร่เชื้อเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนการเกิดผื่น และจะหมดไปหลังจากที่สะเก็ดแผลครอบตุ่มน้ำ และอีสุกอีใสจะไม่แสดงอาการรุนแรงในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ในบางกรณีที่มีความรุนแรงของโรคผื่นจะลุกลามไปทั่วร่างกาย จนอาจเกิดรอยของโรคในช่องคอ เยื่อบุผิวบริเวณท่อปัสสาวะ ทวารหนัก และช่องคลอด เป็นต้น
อีสุกอีใสเกิดจากอะไร?
อีสุกอีใสเกิดจากการแพร่เชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสกับผื่นโดยตรง หรือการไอ จาม ที่เชื้อไวรัสสามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้ ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นเมื่อหายใจรับเชื้อเข้าไป ก็จะทำให้เกิดโรคได้
สำหรับคนที่มีโอกาสในการเป็นอีสุกอีใส คือ คนที่ไม่เคยมีประวัติเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างไรก็ตามการที่จะเกิดโรคอีสุกอีใสเป็นครั้งที่สองในชีวิตนั้น สามารถพบได้น้อยครั้ง
ใครบ้างที่เสี่ยงต่ออาการอีสุกอีใส
- เด็กแรกเกิด ทารกที่มารดาไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน
- วัยรุ่นและผู้ใหญ่
- สตรีมีครรภ์ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น คนที่เคยรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือโรค HIV
- ผู้ที่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษาโรคหอบหืด
งูสวัด โรคต่อเนื่องจากอีสุกอีใสที่ควรระวัง
ผู้ที่มีประวัติมีอาการอีสุกอีใสมาก่อน มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคงูสวัด โดยโรคงูสวัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไวรัสริเชลลา ซอสเตอร์ หรือเชื้อไวรัสตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส มันจะหลบอยู่ตามเซลล์ประสาทในร่างกายของเรา และเมื่อร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานตกเมื่อไหร่ ไวรัสที่หลบอยู่นี้จะสำแดงฤทธิ์ออกมาทำให้เกิดโรคงูสวัด
โดยงูสวัดจะมีอาการตุ่มน้ำพุพองเกาะกันเป็นกลุ่ม สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยร่วมกับอาการไข้เหมือนไข้หวัดใหญ่ ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะตามแนวเส้นประสาทที่ตุ่มงูสวัดขึ้น เบื่ออาหาร บางรายที่รุนแรง จะไม่สามารถออกแรงหรือใช้งานอวัยวะข้างที่เป็นได้เหมือนปกติ แม้ตุ่มน้ำจะหายไปแล้ว แต่อาการปวดจะยังคงอยู่นานกว่าจะหายไป เรียกว่าภาวะอาการปวดเส้นประสาทหลังจากเป็นงูสวัด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงและมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีภูมิต่ำ ปัจจุบัน แพทย์มักแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
วิธีรักษาอีสุกอีใสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
สำหรับการรักษาอีสุกอีใสทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะรักษาเหมือนกัน โดยผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอาการไม่รุนแรงจะให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่ในผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีเงื่อนไขทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น เป็นเด็กเล็ก สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอีสุกอีใสจะเหมาะสมกว่า เพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมา สำหรับยารักษาอีสุกอีใส แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการหลักของโรค เช่น
- ให้ยาลดไข้ กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่แอสไพริน เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการไข้
- ให้ยาแก้แพ้ ชนิดยาทาภายนอก เช่น คาลาไมน์โลชั่น เพื่อบรรเทาอาการคัน สุกใส ทั้งผื่นและตุ่มใส ไม่ควรเกาตุ่มเพราะอาจเกิดแผลจนเป็นรอยแผลเป็นได้
- ให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ ยาวาลาไซโคลเวียร์ ในผู้ที่มีอาการรุนแรง เพื่อช่วยฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคขึ้น
วิธีรักษารอยแผลเป็นจากอีสุกอีใส
ในบางคนตุ่มอีสุกอีใสอาจทำให้เกิดแผลอีสุกอีใสจนเป็นรอยแผลเป็น ซึ่งคุณสามารถรักษาได้ด้วย
- วิตามินอี – ครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอีเป็นหลัก จะสามารถช่วยรักษารอยแผลเป็นจากอีสุกอีใสได้
- โกโก้บัตเตอร์ – ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของโกโก้บัตเตอร์ หรือเนยโกโก้ ไขมันจากเมล็ดโกโก้สามารถช่วยลดรอยแผลเป็นจากอีสุกอีใสได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยให้รอยแผลเป็นนุ่มขึ้น และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันผิวจากแสงแดดและมลภาวะที่อาจทำให้เกิดรอยดำที่เกิดจากอีสุกอีใสมีสีเข้มขึ้น
- น้ำมันโรสฮิป – เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยจากแผลเป็นให้จางลงได้
- การสครับผิวหรือผลัดเซลล์ผิว – การขัดผิวจะช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพ เมื่อสครับผิวบริเวณที่มีรอยแผลเป็นจากแผลอีสุกอีใสเป็นประจำ จะช่วยขจัดเนื้อเยื่อบางส่วนที่ขรุขระหรือมีสีดำ ๆ ออกไปได้ และเซลล์ผิวใหม่จะสร้างขึ้นแทนที่เซลล์ผิวที่ตาย โดยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์สครับผิวที่มีส่วนผสมของธรรมชาติ หรืออุปกรณ์สครับผิวจากธรรมชาติ เช่น ใยบวบ หินขัดผิว
- ครีมช่วยลดรอยแผลเป็น – ปัจจุบัน มีครีมที่ช่วยลดเลือนรอยแผลเป็นออกมาวางขายมากมาย ครีมหรือเจลลดรอยแผลเป็นเหล่านี้ มักจะมีส่วนผสมของ เรตินอล กรดไกลโคลิก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)