ใกล้ปีใหม่ 2568 แล้ว ช่วงเวลาที่หลายคนรอ เพราะมีวันหยุดปีใหม่ ใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูง ไปเที่ยว จัดงานเลี้ยงเคานต์ดาวน์ ปลดปล่อยภาระที่เก็บไว้ทั้งปีแล้วสนุกสุดเหวี่ยง แต่! รู้มั้ยปาร์ตี้หนักอาจทำร่างพังไม่รู้ตัว มาดูผลกระทบต่อตัวคุณจากการดื่มหนัก สูบบุหรี่จัด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และวิธีเตรียมตัวก่อนดื่มแอลกอฮอล์กัน
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- 4 อันตรายจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เสี่ยงถึงชีวิต!
- ดื่มแอลกอฮอล์ได้แค่ไหน ถึงจะปลอดภัย?
- วิธีกู้ร่างกายพัง แก้เมาค้างจากการดื่มแอลกอฮอล์!
4 อันตรายจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เสี่ยงถึงชีวิต!
เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอยเพื่อเฉลิมฉลองและสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการพบปะครอบครัวและเพื่อนฝูง หรือการจัดงานเลี้ยงฉลองเคานต์ดาวน์สู่ปีใหม่ แต่การเฉลิมฉลองที่มากเกินไปอาจทำให้ร่างพังโดยไม่รู้ตัว และอาจทำให้เสี่ยงถึงชีวิต ยิ่งในบรรยากาศเฉลิมฉลอง ปาร์ตี้สนุกสนานเฮฮา เอะอะก็หมดแก้ว ๆ แบบนี้ทำให้ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ และนอกจากนั้นแอลกอฮอล์ก็ไม่ดีต่อร่างกายในระยะยาวด้วยเช่นกัน มาดูกันว่าจะส่งผลต่อสุขภาพของเรายังไงบ้าง
1. มีอาการมึนเมา
การออกไปสังสรรค์ฉลองในโอกาสต่าง ๆ นอกจากความสนุกแล้ว อาการมึนเมาคงเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีอาการมึนเมา คลื่นไส้ อารมณ์เปลี่ยนแปลง หัวร้อนขึ้น เดินเซ สติและความสามารถในการตัดสินใจลดลง สื่อสารยากขึ้น สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนจากความสนุกในคืนที่ออกมาฉลอง กลับกลายเป็นสิ่งที่อันตรายทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง เช่น หัวร้อนจนมีเรื่องชกต่อย ออกไปกับคนแปลกหน้า ถูกหลอกชิงทรัพย์ ทำข้าวของเสียหายโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
2. เสี่ยงอุบัติเหตุ
อาการมึนเมาที่ทำให้มีสติและการตัดสินใจน้อยลง ซึ่งทำให้เกิดความประมาทโดยที่ไม่รู้ตัว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้เดือดร้อนแค่กับตนเอง แต่เดือดร้อนถึงคนอื่น ๆ ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ อย่างเดินชนโต๊ะ ชนเก้าอี้จนขาช้ำ แก้วแตกโดนตัวเองหรือคนอื่น ไปจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเมาแล้วขับ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ และจะยิ่งกลับมาเสียใจภายหลังหากมีคนต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์นั้น
3. เสี่ยงสุราเป็นพิษ
การรับแอลกอฮอล์มาก ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ แบบนี้มีความเสี่ยงต่อสุราเป็นพิษ ยิ่งในงานสังสรรค์ที่เร่งเร้าให้หมดแก้ว ๆ รู้หรือไม่ว่ามีความเสี่ยงถึงชีวิต โดยภาวะสุราเป็นพิษหรือแอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol poisoning) คือ การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยมักเกิดจากการดื่มในช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากตับไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือดได้ทัน จึงส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจถึงขั้นเกิดภาวะช็อกจากแอลกอฮอล์ได้
เมื่อร่างกายเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ จะมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- จิตสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก
- อาเจียน
- หายใจผิดปกติ เช่น หายใจช้าลง หรือหายใจเร็วขึ้น
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยาย
- การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
- ตัวเย็นผิดปกติ
- ผิวหนังซีด หรือกลายเป็นสีม่วง
- เกิดภาวะกึ่งโคม่า อาจพอรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองได้
- หยุดหายใจ
- มีอาการชัก
- หัวใจวายเฉียบพลัน
4. เสี่ยงมะเร็งและโรคร้ายแรง
การดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง หลายวัน หลายเดือน หลายปี จะทำลายตับและระบบทางเดินอาหาร เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุที่แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งนั้น เนื่องจากสารเคมีในแอลกอฮอล์ 2 ชนิด คือ เอทานอล และอะซีตัลดีไฮด์ สามารถทำลายดีเอ็นเอภายในเซลล์ ทำให้เซลล์อ่อนแอลง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ไปในทางที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้ความจำเสื่อมและเกิดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย
เทศกาลปีใหม่กับการดื่มสังสรรค์เป็นของคู่กัน แต่การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ยังเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากสุราเป็นพิษและอุบัติเหตุอีกด้วย การทำประกันอุบัติเหตุเผื่อไว้จะช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ให้คุณอุ่นใจได้ และอย่าลืมเลือกประกันที่คุ้มครองอุบัติเหตุจากการขับขี่และซ้อนมอเตอร์ไซค์ หากคุณเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วง 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่
สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ผิวแก่เร็วจริงหรือไม่?
ใครอยากสวยรับเทศกาลปีใหม่ ผิวปังในคืนเคาต์ดาวน์ บอกเลยว่าอย่าสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เยอะ เพราะการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวพรรณเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ การสูบบุหรี่จะไปทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในผิว ทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อยและเกิดริ้วรอยก่อนวัย ส่วนแอลกอฮอล์นั้นมีส่วนทำให้ร่างกายขาดน้ำ ส่งผลให้ผิวแห้งกร้าน และเมื่อผิวสูญเสียความชุ่มชื้นก็จะเกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น ทำให้ดูแก่ก่อนวัย นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปยังทำให้เลือดไม่ไหลเวียนดี ส่งผลให้ผิวซีดเซียวและไม่มีชีวิตชีวา
ดื่มแอลกอฮอล์ได้แค่ไหน ถึงจะปลอดภัย?
เพื่อความปลอดภัยในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพื่อให้การเฉลิมฉลองเคานต์ดาวน์เทศกาลปีใหม่เป็นไปอย่างสนุกสนานโดยไม่ทำลายสุขภาพ ร่างกายไม่พัง มีแต่ความทรงจำดี ๆ เมื่อย้อนคิดกลับมา ควรปฏิบัติดังนี้
- กินอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้เร็วมากเมื่อท้องว่าง
- ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแบบชอตต่อชอต หรือดื่มครั้งละมาก ๆ
- เมื่อเริ่มมีอาการมึนหัว ให้ลดปริมาณการดื่มหรือหยุดดื่มทันที
- พยายามอย่าดื่มจนเมาหัวราน้ำ
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 14 มาตรฐานต่อสัปดาห์
วิธีกู้ร่างกายพัง แก้เมาค้างจากการดื่มแอลกอฮอล์!
หากใครอยากพึ่งพายาแก้เมาค้าง บอกเลยว่าไม่มียาลดอาการมึนเมาใด ๆ หรือยาสูตรสำเร็จที่สามารถแก้อาการเมาค้างได้ 100% ดีที่สุดคือการดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีสติและพอประมาณ แต่หากคืนเคานต์ดาวน์ดันดื่มมากเกินไปจนเมาค้าง ร่างกายพัง มีวิธีช่วยบรรเทาอาการ เช่น
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ จะช่วยขับสารตกค้างจากแอลกอฮอล์ออกไปทางปัสสาวะ
- ดื่มน้ำผักผลไม้รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ช่วยเพิ่มวิตามินที่สูญเสียไปทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย และรสเปรี้ยวยังทำให้สดชื่นด้วย
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ ร้อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
- ดื่มน้ำขิง ชามินต์ เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ดื่มกาแฟช่วยให้ร่างกายตื่นตัว แต่ไม่ได้แก้แฮงค์ พอกาแฟหมดฤทธิ์คุณจะเพลียมากกว่าเดิม
- ทานยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากมีอาการปวดหัวและตัวร้อน
คืนเคานต์ดาวน์และช่วงเทศกาลปีใหม่ เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตตนเองและคนอื่น ๆ การดื่มอย่างพอดี พอตัว รู้ลิมิต จะช่วยเลี่ยงเหตุร้ายและลดผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย ให้ช่วงเวลาในวันหยุดปีใหม่ได้กลายเป็นความทรงจำที่ดี เติมพลังให้พร้อม สู้งานเต็มที่ในปีถัดไป
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
อีลาสตินในผิว | คือ โปรตีนที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นแก่เนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิว ปอด หลอดเลือดใหญ่ กระดูกอ่อน เส้นเอ็น ถ้าหากเนื้อเยื่อในร่างกายขาดอีลาสติน อาจทำให้เกิดอาการหรืออาจเกิดโรคบางอย่างเช่น ริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และกลุ่มอาการวิลเลียม เป็นต้น |