Roojai

รู้ทัน! ปัสสาวะบ่อยคืออะไร แบบไหนผิดปกติ สาเหตุ อาการ การรักษา

ปัสสาวะบ่อย | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

“ไม่ได้ดื่มน้ำเยอะ ทำไมถึงปัสสาวะบ่อยจัง” หากเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ ลองอ่านบทความนี้ไปด้วยกัน

การขับถ่ายของเสียเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ หรือแม้กระทั่งเหงื่อ ในหนึ่งวัน เราควรมีการขับถ่ายหนักอย่างน้อย 1 ครั้ง เช้าหรือเย็นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนเรื่องปัสสาวะจะขึ้นอยู่กับว่าดื่มน้ำในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน แต่โดยปกติแล้ว ร่างกายควรขับถ่ายปัสสาวะอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน และการปัสสาวะถี่ ๆ โดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำมาก อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของโรค ตัวอย่างเช่น อาการของโรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโต หรือตั้งครรภ์ แล้วแบบไหนล่ะที่เรียกว่าปัสสาวะบ่อยจนผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย เกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่ควรไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพ วันนี้รู้ใจรวบรวมข้อมูลมาไว้ในบทความนี้

ปัสสาวะแบบนี้แหละ “ปกติ”

ใน 1 วัน เราควรปัสสาวะช่วงเวลากลางวัน 3-5 ครั้ง และตอนเย็นจนถึงก่อนเข้านอนอีก 1-2 ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น 5-7 ครั้งต่อวัน ปริมาณของปัสสาวะแต่ละครั้งอยู่ที่ 400-500 ซีซี หรือประมาณน้ำ 1 แก้ว 

ปัสสาวะแบบไหนที่ผิดปกติ?

ปัสสาวะที่ผิดปกติ นอกจากดูจากสีของปัสสาวะแล้ว จำนวนครั้งในการปัสสาวะก็มีผลเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • หากใน 1 วัน มีการปัสสาวะไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ละครั้งสีของปัสสาวะเข้ม สันนิษฐานได้ว่าอาจดื่มน้ำน้อยและปัสสาวะน้อยเกินไป 
  • หากปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งใน 1 วัน โดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำเยอะและปริมาณของปัสสาวะออกมาแบบกะปริดกะปรอย สันนิษฐานได้ว่า อาจมีความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับไต ซึ่งทำให้หลายคนต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน ซึ่งสามารถแยกได้เป็น ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยที่ผิดปกติหรือการมีภาวะปัสสาวะรดที่นอน 

ปกติร่างกายคนเราสามารถนอนหลับต่อกันยาวได้ทีละ 6-8 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องตื่นมาปัสสาวะเลย การตื่นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป เป็นอาการที่ไม่ปกติ และส่งผลให้การนอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้อ่อนเพลีย ง่วงในช่วงเวลาทำงาน 

ปัสสาวะบ่อย เกิดจากอะไร?

  1. ดื่มน้ำเยอะเกินไป
  2. กระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กกว่าปกติ
  3. โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกิน
  4. ความเสื่อมของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
  5. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  6. เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ
  7. โรคไต
  8. ตั้งครรภ์
  9. รับประทานยารักษาโรคบางชนิด
  10. โรคเบาหวาน
  11. โรคต่อมลูกหมากโต
  12. โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท
ปัสสาวะบ่อย | หาหมอ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

เราปัสสาวะผิดปกติมั้ย? เช็คเลย!

ให้เปรียบเทียบความถี่ในการปวดปัสสาวะหรือความถี่ในการเข้าห้องน้ำของตัวเองกับเพื่อน ๆ หรือสมาชิกในครอบครัว และให้สังเกตความสามารถในการกลั้นปัสสาวะว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่สามารถควบคุมได้ ปัสสาวะราดบ่อย ๆ หรือต้องลุกขึ้นเข้าห้องน้ำกลางดึกจนนอนไม่พอ แบบนี้ถือว่า ผิดปกติ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษา

อาการแบบไหนที่ต้องไปหาหมอด่วน!

  • มีไข้
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ รวมทั้งสารคัดหลั่ง ตกขาว
  • สีปัสสาวะขาวขุ่น แดง หรือน้ำตาลเข้มจัด
  • ขณะปัสสาวะมีอาการแสบ หรือปัสสาวะไม่สุด
  • ปวดท้องน้อยหรือมีก้อนอยู่บริเวณนั้น
  • ปวดหลังร่วมด้วย
  • ตื่นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน

การวินิจฉัยโรค

ขั้นตอนแรกแพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุปัสสาวะบ่อย เช่น ปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวัน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนหรือไม่ หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจอื่น ๆ เช่น

  • เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อทำการตรวจปัสสาวะหาเชื้อแบคทีเรีย 
  • อัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูเนื้องอก
  • ส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ จะใช้ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยกลางคนที่ผ่านการมีลูกมานานหลายปี

วิธีการรักษาปัสสาวะบ่อย

หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของสาเหตุที่ก่อให้เกิดการปัสสาวะบ่อย แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น จ่ายยา แต่หากสาเหตุเกิดจากการตั้งครรภ์เมื่อคลอดแล้วอาการนี้จะหายไปเองตามธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น 

  • ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนเข้านอน
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • หากมีปัญหาในการควบคุมปัสสาวะแนะนำให้ใส่ชุดชั้นในหรือแผ่นซึมซับ

ถึงแม้ว่าการปัสสาวะบ่อย ๆ จะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตก็ตาม แต่มันอาจเป็นสัญญาณที่ทางร่างกายส่งมาเตือนเราว่า ร่างกายกำลังอยู่ในภาวะที่ผิดปกติ ฉะนั้น ควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายตัวเองทุกวัน อย่ามองข้ามแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพื่อสุขภาพที่ดีจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ 

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)