ตาต้อกระจกความเสี่ยงที่คนสูงวัยต้องระวัง แต่ใช่ว่าคนในวัยเด็ก วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่จะไม่เป็น หากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแบบสุ่มเสี่ยงก็มีโอกาสเกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน มาดูกันว่าสาเหตุ วิธีการรักษา การป้องกัน ประกันสุขภาพทั่วไปคุ้มครองมั้ย ต้อกระจกรักษาอย่างไร ด้านล่างเลย
- ต้อกระจกคืออะไร?
- ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง?
- ต้อกระจกเกิดจากอะไร?
- สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดต้อกระจก
- ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร?
- ต้อกระจกมีกี่ชนิด?
- ต้อกระจกรักษาอย่างไร?
- วิธีป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก?
- โรคต้อกระจกทำประกันได้มั้ย?
ต้อกระจกคืออะไร?
โรคต้อกระจก เป็นสภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการขุ่นของเลนส์ตา โดยปกติแล้วเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ๆ มีหน้าที่ในการช่วยในการรวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเกิดภาวะต้อกระจก จะทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัวและมักจะพบในผู้สูงอายุ
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง?
ตาเป็นต้อกระจกเป็นโรคทางการมองเห็นที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มี อายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากโรคต้อกระจกมักจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงวัย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยอื่น ๆ เช่นกัน อาจจะมาจากทางพันธุกรรม หรือการมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจก
ต้อกระจกเกิดจากอะไร?
โรคต้อกระจก เกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ที่เป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น โดยมีสาเหตุหลัก ๆ คือ ความเสื่อมตามวัย ที่สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็อาจตรวจพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย เช่น เกิดความผิดปกติมาตั้งแต่เกิด จากการที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดต้อกระจก
- สาเหตุต้อกระจกจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน
- มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้เกิดต้อกระจก เช่น เบาหวาน ต่อมไทยรอยด์ทำงานผิดปกติ
- โรคทางสายตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ สายตาสั้นมาก ๆ และเคยผ่านการผ่าตัดมาก่อน เช่น ผ่าตัดจอตา
- ในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาที่มีสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- เคยประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น ได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ
- เคยโดนการฉายรังสีในส่วนบนของร่างกาย เช่น ศีรษะ อาจเป็นสาเหตุต้อกระจก
รู้มั้ย? จ้องคอม-มือถือนาน เสี่ยงเป็นต้อกระจกได้
ทราบหรือไม่ว่า การจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ สามารถเป็นสาเหตุต้อกระจกได้ เช่นเดียวกับการจ้องจอมือถือ เพราะจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือนั้น ดวงตาของเราต้องเผชิญกับแสงจากหน้าจอ โดยส่วนใหญ่พฤติกรรมของคนติดโซเชียลหรือชาวออฟฟิศวัยทำงานมักจะจดจ่ออยู่กับมือถือและคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัย และเสี่ยงต่อการเกิดตาเป็นต้อกระจกมากขึ้น 2 เท่า ถ้าไม่อยากเป็นต้อกระจก ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด่วน ๆ
ต้อกระจก อาการเป็นอย่างไร?
- ต้อกระจก อาการเริ่มต้นจะมองไม่ชัดอย่างช้า ๆ แต่จะไม่มีการอักเสบหรือปวด โดยการมองเห็น จะเห็นแบบมัว ๆ หรือมีฝ้า หมอกบดบัง ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์
- เห็นภาพซ้อน ตาพร่า ซึ่งเกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางราย จะมีอาการสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย บางรายสายตาที่สั้นก็ปกติขึ้นจนสามารถกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
- ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ หรือมองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะเวลาขับรถตอนกลางคืน
- มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม หรือต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
- เมื่อถึงเวลาที่ต้อกระจกสุก อาจจะสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นสีดำ หากละเลยปล่อยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน
ต้อกระจกมีกี่ชนิด?
การแบ่งชนิดของต้อกระจก สามารถใช้เกณฑ์การแบ่งได้หลากหลายมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้วิธีการแบ่งชนิดของต้อกระจกตามช่วงอายุ เช่น
1. โรคต้อกระจกโดยกำเนิด หรือ Congential Cataract
ต้อกระจกโดยกำเนิด เป็นชนิดของต้อกระจกที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ เช่น
- ได้รับรังสีขณะตั้งครรภ์
- รับประทานยาบางชนิด
- มีภาวะขาดสารอาหารขณะตั้งครรภ์
- เป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
บางรายอาจมีอาการตาขุ่นเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่ในบางรายอาจมีอาการแก้วตาขุ่นมากจนส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและอาจทำให้เกิดภาวะ lazy eye หรือภาวะตาขี้เกียจ
2. โรคต้อกระจกในเด็กและวัยรุ่น หรือ Juvenile Cataract
สาเหตุที่ทำให้เกิดตาต้อกระจกในเด็กและวัยรุ่น มักจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เกิดจากความผิดปกติในพันธุกรรม
- เกิดจากพันธุกรรมเมตาบอลิก
- เกิดจากอุบัติเหตุทางสายตา
- เกิดจากภาวะม่านตาอักเสบ
3. โรคต้อกระจกในวัยชรา หรือ Senile Cataract
ตาเป็นต้อกระจกในวัยชรา คือ ชนิดของต้อกระจกที่สามารถพบได้ในผู้สูงวัย หรือในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยมักจะมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของแก้วตาตามช่วงอายุ และมักจะมีแก้วตาขุ่น ๆ ที่ลูกตาทั้งซ้ายและขวา
ต้อกระจกรักษาอย่างไร?
การรักษาต้อกระจกในระยะแรกของการเป็นต้อกระจก จะมีการเปลี่ยนแว่นตาแก้ไข อาจทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้นบ้าง โดยที่จะยังไม่ต้องใช้ยาหยอดตาหรือยารับประทานในระยะแรก แต่เมื่อมีอาการมองไม่ชัดมากขึ้น อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา
1. การสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ
การรักษาต้อกระจกวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยจะมีแผลที่กระจกตาเพียงเล็กน้อย 3 มม. แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก และใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าไปสลายต้อจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กมาก และไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
2. วิธีผ่าตัดโรคต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง
การรักษาต้อกระจกวิธีนี้เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม มักจะใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก จนไม่สามารถใช้การสลายด้วยเครื่องได้ โดยแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตา มีความยาวประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก และนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ และเย็บปิดแผล
วิธีป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก?
- สวมแว่นกันแดด ป้องกันรังสียูวี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี ในการช่วยบำรุงสายตา
- ยังไม่มีรายงานว่า การรับประทานวิตามินเสริมจะช่วยลดความเสี่ยงได้
- ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจสายตาทุกปี
โรคต้อกระจกทำประกันได้มั้ย?
1. ถ้าเป็นโรคต้อกระจกอยู่แล้ว จะสามารถทำประกันได้หรือไม่
โรคอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องโรคต้อกระจก หากผู้เอาประกันมีโรคติดตัวมาก่อนหน้าการทำประกัน บริษัทประกันจะไม่คุ้มครองโรคนั้น ๆ ในบางกรณี บริษัทประกันอาจปฏิเสธการทำประกันสุขภาพทั้งหมด
2. รู้หรือไม่ ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคต้อกระจกนะ
ใช่แล้ว โรคต้อกระจกเป็นโรคที่ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครอง แต่มีระยะเวลารอคอย โดยผู้เอาประกันต้องรอคอยประมาณ 90-120 วัน หลังกรมธรรม์อนุมัติ จึงจะสามารถเคลมค่ารักษาโรคต้อกระจกได้ แต่หากตรวจพบต้อกระจกในระหว่างระยะเวลารอคอย จะไม่สามารถเคลมหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลได้
การรักษาสุขภาพดวงตาของเราเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรามีตาเพียงคู่เดียวที่จะต้องใช้ไปตลอดชีวิต ดังนั้นเมื่อตามีอาการที่แปลกไป ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ อาจสายตาสั้นธรรมดา หรือเป็นโรค เช่น วุ้นตาเสื่อม ต้อเนื้อ ต้อกระจก ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ การไปหาหมอจะทำให้เรารู้สาเหตุและแก้ไขได้ถูกจุด อย่าละเลยแล้วปล่อยให้เป็นหนักจนอาจต้องสูญเสียการมองเห็นไปในสักวัน
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ภาวะตาขี้เกียจ | ภาวะที่การมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง มองเห็นแย่ลง แม้จะใส่แว่นตาแก้ไขสายตาแล้วก็ตาม เกิดจากความผิกปกติของการพัฒนาการมองเห็น |
เสื่อมสภาพ | หารสูญเสียประสิทธิภาพหรือคุณภาพไปจากเดิม |
เลนส์แก้วตาเทียม | วัสดุที่ใช้ทดแทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติ สามารถอยู่ในตาได้ถาวร โดยใส่เข้าไปในลูกตาในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก |