การพลัดตก ล้ม หัวฟาด ตกบันได เดินชนโน่นนี่ จนหัวปูด หัวโนหรือมีรอยฟกช้ำ ไม่ได้เป็นในเฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดกับคนได้ทุกช่วงวัย วันนี้ รู้ใจจะมาบอกถึงวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อเด็กเล็กหรือสมาชิกในครอบครัวเกิดอาการดังกล่าว พร้อมทั้งมาให้คำตอบว่า อาการหัวโน ฟกช้ำจากการเดินชนหรือพลัดตก ล้มหัวฟาดพื้น สังเกตอาการยังไง แบบไหนควรรีบไปหาหมอ และสามารถเคลมประกันอุบัติเหตุได้มั้ย รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยกำลังหัดพูด หัดเดิน ในบางครั้งที่เราเผลอหันไปหยิบของเพียงไม่กี่วินาที เด็กอาจพลัดตกจากเตียง เดินชนขอบโต๊ะจนเกิดอาการหัวโนหรือมีรอยฟกช้ำได้ ไม่เฉพาะแต่ในเด็ก ในผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
อาการหัวโนคืออะไร?
หัวโนหรือ Bump on Head เป็นการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ โดยเป็นการกระแทกที่ไม่รุนแรงถึงขั้นเลือดออก แต่ก็ทำให้ศีรษะบริเวณนั้นมีรอยฟกช้ำหรือปูดนูนขึ้นมาได้ บาดแผลจากอาการหัวโนนี้มักจะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสมอง ทิ้งไว้เพียงรอยปูดนูนและความปวดเท่านั้น
อาการหัวโนเป็นยังไง?
ร่างกายของคนโดยทั่วไปแล้วจะมีผิวหนังคอยปกคลุมและเส้นเลือดมากมายภายใต้ชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและศีรษะ มีเส้นเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าผากหรือศีรษะ ส่งผลให้เลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง เลือดที่ออกในชั้นใต้ผิวหนังนี้จะรวมตัวเป็นจุดเดียวและทำให้เกิดรอยฟกช้ำและปูดบวมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกระแทกเล็ก ๆ ที่ไม่รุนแรง ก็สามารถทำให้เกิดรอยฟกช้ำได้ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความแรงและวัตถุที่เราไปชน
อุบัติเหตุเล็กน้อยเหล่านี้ เป็นสาเหตุของการหัวโนหรือรอยฟกช้ำ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เป็นอันตราย หากผู้บาดเจ็บยังรู้สึกตัวและไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ อาจมีอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ ดังนี้
- อาการเจ็บที่ศีรษะหรือบริเวณที่ชนแต่ไม่รุนแรง
- อาการวิงเวียนศีรษะ
- มีอาการตาพร่า เบลอ แต่ในระดับที่ไม่รุนแรง
- คลื่นไส้ อยากอาเจียน
สัญญาณอันตรายต้องไปหาหมอทันที
แม้จะไม่มีบาดแผลลึก เลือดออกหรือแผลฉกรรจ์แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ควรดูอาการอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงแรก เพื่อสังเกตอาการที่อาจมีมากขึ้น หากมีอาการเหล่านี้เพิ่มเติมใน 24 ชั่วโมง ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
- วูบ หมดสติ ในเวลาสั้นหรือนาน เป็นผลจากสมองได้รับความกระทบกระเทือน
- มีอาการซึม ไม่กระฉับกระเฉง ร่วมด้วยอาการง่วงหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ
- มีอาการชัก
- มีปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส เช่น สูญเสียการได้ยิน ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
- อาเจียนตลอดเวลา
- อ่อนแรง เพลีย
- ปวดศีรษะตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุ
- มีเลือดหรือน้ำใส ๆ ออกมาทางจมูก ซึ่งอาจจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ที่อยู่รอบบริเวณสมอง
- มีเลือดออกที่หูทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง
- มีอาการฟกช้ำบริเวณหลังหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- สูญเสียความทรงจำ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ก่อนและหลังบาดเจ็บได้
- พูดหรือสื่อสารลำบากกว่าปกติ หรือพูดไม่ชัด
- เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดได้ยาก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหรืออ่าน
- ไม่สามารถทรงตัวหรือเดินลำบาก
- สูญเสียความรู้สึกตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น แขนขาไร้ความรู้สึก
- มีสัญญาณของความเสียหายที่กะโหลกศีรษะ
- มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอาการ Cognitive Fatigue ซึ่งเป็นอาการที่เกิดตามหลังอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากสมองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ต้องทำงานหนักมาก เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทำให้สมองเกิดความเหนื่อยล้าอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างที่เคยทำ เช่น ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ ไม่สามารถดูทีวีได้ อาการเหล่านี้ หากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอจะสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์
วิธีปฐมพยาบาลอาการหัวโนหรือแผลฟกช้ำ
อาการหัวโน บวม ช้ำ ในระยะแรกที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บใหม่ ๆ ควรใช้เจลประคบเย็นเพื่อช่วยให้เส้นเลือดหดตัว และช่วยลดอาการบวมที่บริเวณศีรษะ สามารถทำตามขั้นตอนดังนี้
1. ให้ผู้บาดเจ็บนั่งนิ่ง ไม่ควรขยับตัว
เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บ มีรอยฟกช้ำ บวมปูด ควรให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั่งอยู่กับที่ เพราะการบาดเจ็บนี้อาจทำให้มีอาการหน้ามืด วูบ หรือหมดสติได้
2. ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดเช็ดที่แผล
ให้ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดเช็ดบริเวณที่เป็นแผลบวมปูด หรือบริเวณที่มีรอยฟกช้ำ
3. ใช้เจลประคบเย็นลดอาการบวม
การใช้เจลประคบเย็นมาประคบที่บริเวณศีรษะประมาณ 5-10 นาที เพื่อช่วยให้เส้นเลือดหดตัวลดอาการบวมและฟกช้ำได้
4. กินยาแก้ปวด
สำหรับผู้ใหญ่ หากมีอาการปวดจากบาดแผลปูดนูนที่ศีรษะ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
สำหรับเด็ก สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นยาแก้ปวดสำหรับเด็ก หรือทานในปริมาณที่แพทย์สั่ง
5. ประคบร้อนหลัง 24 ชั่วโมง
เมื่อตอนเกิดแผลฟกช้ำหรือปูดนูนใหม่ ๆ การประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปูดนูนและรอยฟกช้ำ เมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง การประคบเย็นบริเวณบาดแผลนั้นจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากการถูกกระแทกได้ โดยให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดพอหมาด ๆ แล้วประคบลงไปบริเวณแผล
6. ถ้าศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที
หลายครั้งที่การหกล้ม หัวฟาด หรือหัวกระแทกพื้นหรือของแข็ง อาจไม่มีเลือดออก เป็นแค่อาการปวดและรอยช้ำ แต่จริง ๆ แล้ว การที่ศีรษะโดนกระแทกอย่างแรงอาจทำให้มีเลือดคลั่งในสมองได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แม้จะไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ตาม
ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า อุบัติเหตุ แต่เป็นเพียงอุบัติเหตุที่ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ แต่หากรอดูอาการ 24 ชั่วโมงแล้ว อาการไม่ดีขึ้นและมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการ CT Scan สมองอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อเช็คให้แน่ใจว่าไม่ได้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองถูกกระทบกระเทือน
หัวโน แผลฟกช้ำ เคลมประกันอุบัติเหตุได้มั้ย?
มักจะมีคำถามตามมาว่า แล้วเหตุการณ์แบบนี้สามารถเบิกเคลมประกันอุบัติเหตุได้มั้ย คำตอบคือ “ได้”การลื่นล้ม พลัดตกบันได หรือเดินชน หัวกระแทกพื้นหรือวัตถุต่าง ๆ แม้จะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย ก็จัดว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างหนึ่ง สามารถเบิกเคลมค่ารักษาได้เลย หากเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่รู้ใจ สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลและคลินิกในเครือทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง และสามารถปรับแต่งแผนประกันอุบัติเหตุได้เองตามใจ เข้ากับทุกไลฟ์สไตล์ของคุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)