Roojai

ดื่มน้ำน้อยเสี่ยงนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  เช็คสาเหตุอื่นและอาการ

เช็คสาเหตุและอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

เคยหรือไม่ที่นั่งทำงานจนเพลินและไม่อยากลุกไปไหน ก็เครื่องมันกำลังติด ทำงานกำลังสนุก จะหิวน้ำก็ช่างมันไปก่อน หรือบางคนในหนึ่งวันดื่มน้ำรวมกันได้แค่แก้วเดียว บางคนดื่มน้ำแต่ไม่ดื่มน้ำเปล่า ดื่มแต่กาแฟและน้ำอัดลม พฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และยังเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุนอีกด้วย

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?

สำหรับคำถามที่ว่า นิ่วเกิดจากอะไร? นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone) สามารถเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ

  • นิ่วจากไตหรือจากท่อไตที่หลุดลงมา สะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ
  • นิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะ กรณีนี้มักจะเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะไม่หมด เช่น มีภาวะต่อม ลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ

รวมไปถึงการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจนบีบตัวได้ไม่ดีทำให้มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อสะสมเป็นเวลานานจะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อย ๆ โตเป็นก้อนนิ่ว

นอกเหนือจากนี้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เหล่านี้

  1. มีการอักเสบซ้ำ ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
  2. มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางอย่างมากจนเกินไป ทำให้ปัสสาวะมีสารตกตะกอนหรือเกลือแร่เข้มข้น เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เครื่องในสัตว์ และการดื่มน้ำน้อย

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สามารถพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะทางเดินปัสสาวะของเพศชายมีความยาวและคดเคี้ยว จึงมีโอกาสเกิดตะกอนนิ่วคงค้างได้มากกว่า

โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาการเป็นยังไง?

สำหรับคนที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาการ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะมีอาการคือ

  • ปัสสาวะผิดปกติ คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแล้วแสบขัด หรือปัสสาวะปนเลือด
  • ปัสสาวะไม่ออก หรือออกกะปริดกะปรอย 
  • มีเม็ดนิ่วคล้าย ๆ กรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
  • หากก้อนนิ่ว เกิดไปครูด หรือเสียดสีกับผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือนิ่วในท่อปัสสาวะจนเกิดเป็นแผล อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

การตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ร่วมกับการตรวจร่างกายเฉพาะบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง และการตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ภาพช่องท้องในส่วนไตและกระเพาะปัสสาวะ และการตรวจอื่น ๆ เช่น อัลตร้าซาวด์ หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วเกิดจากอะไร | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีวิธีรักษายังไง?

ขั้นตอนในการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ

1. รักษาด้วยการเอานิ่วออก

ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก ๆ แพทย์อาจจะต้องเริ่มจากการแนะนำผู้ป่วยให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาตามธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้ว การเอานิ่วออกสามารถทำได้ทั้งหมด 3 วิธี

  • การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitjolapaxy) – แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อทำให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปล่อยให้มันหลุดไหลออกมาพร้อมกับปัสสาวะ 
  • การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) – เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว จนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และหลุดไหลออกมากับปัสสาวะ
  • การผ่าตัด – สำหรับการผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้านหลายกิ่ง ที่ไม่สามารถเอาออกได้ด้วยวิธีอื่น ๆ

2. รักษาที่สาเหตุของโรค

เพราะการเอาแค่ก้อนนิ่วออกอย่างเดียวโดยไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรคนั้น อาจเปิดโอกาสให้กลับมามีอาการนิ่วซ้ำอีกได้ สำหรับการรักษาที่สาเหตุ ยกตัวอย่างได้ดังนี้

  • หากนิ่วเกิดจากการที่ปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์ต้องทำการตรวจและวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อนว่า การคั่งค้างนี้เกิดจากอะไรกันแน่ แล้วค่อยทำการรักษา เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้อง กรณีอาการเป็นนิ่วในผู้ชายที่ตรวจพบว่าต่อมลูกหมากโต หรือทำการขยายท่อปัสสาวะ กรณีที่มีการตีบตัน
  • หากนิ่วเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ เช่น การบีบตัวได้ไม่ดี คนไข้อาจจำเป็นต้องใช้สายสวนในการช่วยปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้บ่อย หากพบแพทย์และรับการรักษาที่ถูกต้อง โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยอาการนิ่วทิ้งไว้ไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน รวมถึงอาการนิ่วเสี่ยงโรคร้ายแรงได้ เช่น การติดเชื้อ หรือไตวายได้ ที่รู้ใจมีประกันโรคร้ายแรง ที่คุ้มครองมากกว่า 80+ โรค คุ้มครองไตวายเรื้อรัง เจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 2 ล้านบาท

ดื่มน้ำเท่าไหร่ถึงดีต่อร่างกาย?

นิ่วเกิดจากอะไร? สาเหตุหนึ่งของอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ การดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมไปถึงการดื่มน้ำแต่ไม่ใช่น้ำเปล่า ซึ่งรู้ใจจะแชร์วิธีการคำนวณปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน เพราะกินน้ำน้อยก็เสี่ยง ทั้งนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สมองเสื่อม ปวดข้อ-กระดูก ฯลฯ แต่หากดื่มน้ำมากเกินไปก็เสี่ยงภาวะน้ำเป็นพิษ ดังนั้นเพื่อหาปริมาณน้ำที่พอดีกับร่างกายแต่ละคน จึงควรคำนวณจากน้ำหนักตัวเอง ดังนี้

“น้ำหนัก (กิโลกรัม) ÷ 2 x 2.2 x 30 = ปริมาณน้ำดื่ม (มล.)”

ตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันคือ 70 ÷ 2 x 2.2 x 30 = 2,310 มล. หรือ 2.3 ลิตร นั่นเอง

อาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เสี่ยงโรคร้ายแรง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

วิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

  1. ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะความเข้มข้นของปัสสาวะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเกิดนิ่ว ปัสสาวะที่เข้มข้นมากจะทำให้เกิดการตกตะกอนของสารก่อนิ่ว ดังนั้น ผู้ป่วยควรจะต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ปัสสาวะเจือจางลง
    • ปริมาณน้ำที่แนะนำคือ 2 ลิตร/วัน ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เสียเหงื่อมากในแต่ละวัน ปริมาณน้ำที่ควรดื่มเข้าไปอาจจะต้องมากกว่า 2 ลิตร 
    • ชนิดของน้ำที่ดื่มก็มีผลเช่นกัน  เช่น น้ำกระด้าง น้ำบ่อ หรือน้ำจากแหล่งธรรมชาติโดยตรงที่มีแคลเซียมหรือฟลูโอไรด์ผสมอยู่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วมากขึ้น 
    • ในส่วนของปริมาณน้ำดื่ม มีข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ที่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำต่อวัน เช่น โรคไตวาย โรคหัวใจ เป็นต้น
  2. ลดการรับประทานอาหารที่มีสารก่อนิ่ว มีสารอาหารหลายชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของนิ่ว เช่น
    • โปรตีนจากเนื้อสัตว์
    • กรดยูริกที่พบได้ในเนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ กะปิ ชะอม กระถิน ถั่วต่างๆ หน่อไม้ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ออกซาเลต พบได้ในโกโก้ ช็อคโกแลต ผักโขม ใบชะพลู หน่อไม้ และชา 
    • คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล
    • เกลือโซเดียมคลอไรด์
      แต่อย่างไรก็ตาม สารอาหารเหล่านี้ยังจำเป็นต่อร่างกายอยู่เช่นกัน ฉะนั้น ควรบริโภคแต่พอดี ไม่ควรงดแบบตัดขาดโดยสิ้นเชิง
  3. รับประทานอาหารที่มีสารยับยั้งนิ่ว มีสารอาหารอีกหลายชนิดที่มีส่วนในการยับยั้งการเกิดนิ่ว เช่น
    • ซิเตรท เป็นสารยับยั้งนิ่วที่สำคัญตัวหนึ่ง พบได้ในผลไม้หลายชนิด เช่น มะนาว ส้ม หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
    • ใยอาหารในผัก ผลไม้ จะช่วยขัดขวางการดูดซึมของสารก่อนิ่ว
    • โพแทสเซียม และแมกนีเซียม พบได้ในผักและผลไม้หลายชนิด
    • การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นนิ่วมากขึ้น
  4. รับประทานแคลเซียมแต่พอดี ถึงแม้ว่าแคลเซียมจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดนิ่วหลายชนิด แต่หากมีการจำกัดการรับประทานแคลเซียมที่มากเกินไป อาจก่อให้เกิดนิ่วออกซาเลตมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของนิ่วชนิดนี้ มาจากการที่แคลเซียมจะจับตัวกับออกซาเลตในทางเดินอาหาร และขับออกมาทางอุจจาระ แต่หากเราจำกัดปริมาณการรับประทานแคลเซียม ก็จะทำให้มีออกซาเลตในทางเดินอาหารที่ไม่ถูกจับเหลือมากขึ้น และทำให้การดูดซึมเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วออกซาเลตมากยิ่งขึ้น
    • ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำในแต่ละวันอยู่ที่ 800-1,000 มก./วัน หรือเท่ากับการดื่มนมสดประมาณ 3-4 แก้ว

โรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่เมื่อเป็นแล้วการรักษาเร็วเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เหมือนกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวและยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ นอกจากการรับการรักษาที่ทันท่วงที เรายังควรดูแลสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคต่าง ๆ เกิดขึ้นกับตัวเรา รวมถึงคนที่เรารัก

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

เกลือโซเดียมคลอไรด์ เกลือโซเดียมคลอไรด์หรือก็คือเกลือแกง เป็นผลึกขาว ละลายน้ำได้ดี นิยมใช้ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร
ปัสสาวะกะปริดกะปรอย การปัสสาวะที่ไหลออกน้อย มีหยุดบ้าง หรือไม่ต่อเนื่องกัน
อัลตร้าซาวด์ อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) คือ เทคนิควินิจฉัยทางการแพทย์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมากกว่า 20,000 Hz ผ่านผิวหนังไปยังอวัยวะที่ต้องการ และใช้หลักการของการสะท้อน แปลงเป็นภาพของอวัยวะและโครงสร้างในร่างกายบนจอมอนิเตอร์