Roojai

นอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วยท่านอน ดีต่อสุขภาพ หลับสบายตลอดคืน

ท่านอน | การนอนที่ถูกต้อง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

คุณนอนท่าไหน? ท่านอนหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพร่างกายของเรา เพราะการนอนผิดท่าอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ และเกิดผลร้ายต่อสุขภาพ หรือการนอนกรนอาจเกิดจากท่านอนที่ผิดปกติ เรามาดูกันว่าท่านอนที่เรานอนในแต่ละคืนนั้นเป็นท่าที่ดีต่อสุขภาพมั้ย ส่งผลต่อสุขภาพของเรายังไง เริ่มต้นใส่ใจท่านอนและการนอนที่ถูกต้องเพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีของเรา พร้อมายนิสัยจากท่านอน

การพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายมนุษย์คือ “การนอน” เพราะช่วงเวลาของการนอนเป็นช่วงที่ร่างกายของเราสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ขณะเดียวกันโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ยิ่งในช่วงวัยเจริญเติบโตแล้วยิ่งต้องพึ่งพาการทำงานของโกรทฮอร์โมนในการเสริมสร้างความสูงให้ร่างกาย ความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และที่สำคัญโกรทฮอร์โมนยังมีส่วนสำคัญในการทำงานของสมองอีกด้วย นอกจากการนอนจะเป็นเหมือนปุ่มรีสตาร์ตให้กับเราในทุก ๆ คืนแล้ว ท่านอนก็มีผลต่อเราเช่นกัน ท่านอนแบบไหนดี-ไม่ดีต่อสุขภาพ เช็คเลย

1. ท่านอนแบบขดตัวหรือคุดคู้

ลักษณะการนอนขดตัว จะเป็นการก้มศีรษะ โก่งหลัง พับสะโพก งอเข่า เหมือนเรากำลังกอดตัวเป็นก้อนกลม ๆ ซึ่งท่านอนแบบนี้เป็นท่านอนยอดแย่อันดับ 1 เนื่องจากส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง หากนอนท่านี้จนติดเป็นนิสัย อาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยง ดังนี้

  • ปวดเข่า – การนอนงอเข่า เอ็นบริเวณข้อเข่าและสะโพกจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เนื่องจากมีการพับ งอ ของข้อสะโพกและข้อเข่าเป็นเวลานาน
  • กล้ามเนื้อหลัง – หากนอนคุดคู้เป็นประจำ จะส่งผลมาถึงกล้ามเนื้อส่วนล่างจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวด เนื่องจากการงอและการโก่งของหลัง ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดเหยียดออกจนตึง
  • กระดูกสันหลัง – การนอนงอตัวลักษณะนี้ จะทำให้กระดูกสันหลังมีการบิดโก่ง งอ และผิดรูป
  • ปวดคอ – นอกจากส่งผลต่อกระดูกสันหลังแล้ว บริเวณคอก็จะเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เพราะท่านี้ เป็นท่าที่มีการก้มคอค้างเอาไว้ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอตึง และยังไปเพิ่มเเรงดันต่อหมอนรองกระดูกสันหลังช่วงคออีกด้วย 

ในผู้ที่มีภาวะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอยู่ก่อนแล้ว การนอนในท่าที่ผิดสุขลักษณะแบบนี้ จะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดการปวดมากยิ่งขึ้น 

2. ท่านอนแบบนอน คว่ำหน้า

เราอาจจะเคยเห็นบ่อย ๆ หรือเคยไปนอนค้างอ้างแรมกับเพื่อนที่กรนเสียงดังเวลานอน คนที่กรนส่วนใหญ่จะชอบนอน คว่ำหน้า ซึ่งการนอนคว่ำหน้าเป็นท่าที่ผิดและเสี่ยงต่อการหายใจไม่ออกระหว่างหลับ ในขณะที่เรานอนคว่ำหน้า กระดูกสันหลังของเราจะแอ่นมากกว่าปกติ มีการบิดคอไปทางซ้ายหรือทางขวา และอาจมีการแอ่นไปข้างหลัง ซึ่งพฤติกรรมการนอนลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อคอ อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดการอักเสบ ปวดคอ ปวดหลังได้ และหากจำเป็นต้องนอนคว่ำจริง ๆ ควรหาหมอนมารองใต้ทรวงอก เพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยที่ต้นคอ

3. ท่านอนแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน

ถ้านึกไม่ออก ลองจินตนาการตอนที่เรานอนดู Netflix ที่บ้านโดยมักจะเอาหมอนมารองหลังไว้ ท่านอนแบบนี้ทำให้ต้องงอหรือก้มคอเป็นระยะเวลานาน หากนอนเล่นที่บ้านท่านี้เป็นประจำ และครั้งละนาน ๆ จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอและหลังทำงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการอักเสบและปวดกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ได้ รวมไปถึงหลังส่วนล่างที่เอาหมอนรองเอาไว้ จะทำให้หลังแอ่นมากกว่าปกติ นำมาซึ่งการปวดหลังในเวลาต่อมานั่นเอง 

ท่านอน | การดูแลสุขภาพ | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

4. ท่านอนแบบทับต้นแขนตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นท่านอนคู่รักที่มักจะให้แฟนนอนบนแขนของตัวเอง หรือท่านอนทับแขนตัวเองประหนึ่งว่าเป็นหมอนรองศีรษะ การนอนลักษณะนี้เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท ที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ อาการข้อมือตก ทำให้กระดกข้อมือไม่ขึ้น หรือที่เรียกว่า Saturday night palsy หรือ Honeymoon palsy โดยส่วนใหญ่อาการมักจะไม่ร้ายแรงและสามารถหายได้เอง อาจใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

5. นอนหงาย

ท่านอนหงายเป็นท่าทางการนอนที่ดี และคนส่วนใหญ่จะนอนกัน ท่านี้จะทำให้น้ำหนักตัวกระจายลงไปตามส่วนต่าง ๆ ของแผ่นหลัง จึงไม่มีว่าจุดใดจุดหนึ่งรับน้ำหนักมากจนเกินไป รวมไปถึงกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง ไม่มีการโค้งผิดรูป และหากมีหมอนรองใต้เข่าขณะนอนหงายด้วยแล้ว จะเป็นการนอนที่มีคุณภาพ เราก็นอนหลับสบายยิ่งขึ้น

การนำหมอนมารองใต้เข่า มีส่วนช่วยทำให้สะโพกมีการงอเล็กน้อย ช่วยลดการแอ่นของหลังส่วนล่างลงไปได้ และช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้อีกด้วยเช่นกัน แต่การนอนหงายนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังต่อไปนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคปวดหลัง หรือในคนที่มีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือในผู้ที่นอนกรนเป็นประจำ

6. นอนตะแคง 

ท่านอนตะแคงเป็นอีกท่านอนที่คนส่วนใหญ่นอนกัน โดยจะมีทั้งตะแคงขวาและตะแคงซ้าย ซึ่งข้างตะแคงที่ต่างกันก็จะส่งผลต่อร่างกายต่างกัน ท่านอนตะแคงนอกจากจะช่วยลดอาการปวดหลังได้แล้ว การมีอุปกรณ์เสริมอย่างหมอนข้าง ไว้กอดตอนนอนตะแคง จะทำให้การนอนตะแคงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนหมอนรองศีรษะ ไม่ควรเตี้ยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดบริเวณต้นคอได้ 

  • ท่านอนตะแคงขวา – เป็นท่านอนที่ดีที่สุด ในบรรดาท่านอนทั้งหมดที่กล่าวมา การนอนตะแคงขวา จะช่วยให้หัวใจทำงานได้สะดวก อาหารจากกระเพาะจะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี และยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังด้วย
  • ท่านอนตะแคงซ้าย – ท่านี้ช่วยลดอาการปวดหลังได้เช่นกัน แต่แนะนำว่าควรมีหมอนข้างไว้กอดก่ายขาด้วย เพื่อป้องกันอาการเหน็บชาที่เขาซ้ายจากการนอนทับเป็นเวลานาน ข้อเสียของท่านอนตะแคงซ้ายคือ อาจทำให้เกิดลมจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากอาหารยังย่อยไม่หมดและยังคงมีอาหารอยู่ในกระเพาะในช่วงก่อนเข้านอน

7. เปลี่ยนท่านอนระหว่างการนอนในแต่ละคืน

การนอนท่าแม้จะเป็นท่าที่ดีที่สุด แต่หากนอนท่าเดียวนาน ๆ ก็อาจทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สบายตัว การเปลี่ยนท่านอนบ้างเพื่อให้ร่างกายได้ขยับไปมา กระดูกและกล้ามเนื้อไม่โดนทับมากจนเกินไป

ทายนิสัยจากท่านอนของคุณ

นอกจากท่านอนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จนถึงท่านอนแบบไหนที่ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ ไม่ควรนอน รู้ใจ ขอทิ้งท้ายไว้แบบเบาสมองกับการทายนิสัยจากท่านอน ดังต่อไปนี้ 

  1. นอนหงาย – เป็นคนมีความมั่นใจสูง ดื้อ ตรงไปตรงมา และมองโลกในแง่ดี
  2. นอนตะแคง – เป็นคนมองโลกแง่ดี ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เก่ง ใจเย็น และรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ดี
  3. นอนกอด – คนที่ชอบนอนท่านี้ ส่วนใหญ่จะมีนิสัยน่ารัก เป็นคนน่ารัก น่าเชื่อถือ ได้รับความไว้วางใจต่อคนรอบข้าง 
  4. นอน คว่ำ – เป็นท่านอนของคนที่ชอบเข้าสังคม มีบุคลิกเป็นมิตร แต่มักจะอารมณ์แปรปรวนและเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย 
  5. นอนคลุมโปง – เป็นคนที่ซ่อนความลับไว้ภายในใจ ขี้อาย และเป็นคนคิดมาก 

การปรับพฤติกรรมการนอนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นความเคยชินตลอดมา แต่การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนท่านอน ปรับบรรยากาศให้เหมาะสมกับการนอน ทั้งฟูกนอน หมอน ความเงียบในห้อง ห้องที่มืดสนิท ก็จะทำให้เราหลับสบาย เป็นการนอนที่มีคุณภาพและประสิธิภาพมากขึ้นให้ร่างกายเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ พร้อมตื่นขึ้นในเช้าที่สดใส และทำให้วันทั้งวันเป็นวันที่ดี มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการรักษาสุขภาพกายและใจ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)