การทำบุญไม่จำเป็นต้องเข้าวัดเสมอไป มีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถสร้างบุญกุศลและเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้หลากหลายวิธี หลายคนวางแผนที่จะมอบร่างกายนี้ให้เป็นอาจารย์ใหญ่หลังจากที่ตนเองไม่อยู่แล้ว บางคนเลือกที่จะบริจาคบางอวัยวะ เช่น ดวงตา ปอด หัวใจ ฯลฯ และในบางคนเลือกที่จะบริจาคเลือด การบริจาคเลือดเป็นการช่วยชีวิตคนอย่างเห็นได้ทันตา นอกจากการช่วยชีวิตคนได้แล้ว การบริจาคเลือดยังเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของเราอีกด้วย วันนี้ รู้ใจเอาใจสายบุญที่ชอบบริจาคเลือดว่าส่งผลดีต่อร่างกายเราอย่างไร ใครบ้างที่ไม่ควรบริจาคเลือด และโรคอะไรบ้างที่ต้องระวังในการบริจาคเลือด
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- การบริจาคเลือดคืออะไร?
- โลหิต 1 ถุง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้กี่คน?
- คุณสมบัติของผู้บริจาคเลือด
- คนไทยบริจาคเลือด มาก-น้อยแค่ไหน?
- ใครบ้างที่ไม่ควรบริจาคเลือด?
- โรคอะไรบ้างที่ควรระวังในการบริจาคเลือด?
- การบริจาคเลือดต้องเตรียมตัวยังไง?
- ขั้นตอนการบริจาคเลือดควรทำอะไรบ้าง?
- หลังการบริจาคเลือดควรทำยังไง?
- 8 ข้อดีของการบริจาคเลือดมีอะไรบ้าง?
การบริจาคเลือดคืออะไร?
การบริจาคเลือด คือ การสละเลือดส่วนเกินที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เลือด ซึ่งการบริจาคเลือดไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเลือด เพราะร่างกายของแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตอยู่ที่ 17-18 แก้วน้ำ ซึ่งร่างกายจะใช้จริงๆ เพียงแค่ 15-16 แก้วเท่านั้น ที่เหลือสามารถนำไปบริจาคให้ผู้อื่นได้ และสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน
โลหิต 1 ถุง สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้กี่คน?
ในประเทศไทย ผู้ป่วยที่ต้องการรับเลือดอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตมีกว่า 23% และอีก 77% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุและต้องทำการผ่าตัด ซึ่งในการผ่าตัดเคสดังกล่าวนี้อาจจำเป็นต้องใช้เลือดเป็นจำนวนมากและเร่งด่วน ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งจะสามารถแบ่งส่วนประกอบของเลือดได้ถึง 3 ส่วนด้วยกันในการช่วยเหลือชีวิตคน โดยเลือด 1 ถุง สามารถช่วยเหลือคนได้มากกว่า 3 คน และเลือดที่รับบริจาคมานั้น ยังสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกหลายอย่าง ดังนี้
- เกล็ดเลือด สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เช่น ไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- เม็ดเลือดแดง สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ หรือผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ หรือภาวะตกเลือดจากการคลอดบุตร
- พลาสมา สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยที่มีอาการช็อกจากการขาดน้ำ และสามารถนำไปผลิตเป็นเซรุ่มเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อีกด้วย
- โรคฮีโมฟีเลย เอ อิมมูโนโกลบลิน (โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก) ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง อัลบูมินไว้รักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ
จะเห็นได้ว่า เลือดเพียง 1 ถุงนั้น สามารถนำไปทำประโยชน์ได้มากมาย ช่วยต่อชีวิตผู้คนได้หลายชีวิต แต่การบริจาคเลือดนั้นใช่ว่าทุกคนจะสามารถบริจาคได้ เรามาดูกันว่า คุณสมบัติของผู้บริจาคเลือดควรเป็นอย่างไร และใครบ้างที่ไม่ควรบริจาคเลือด
คุณสมบัติของผู้บริจาคเลือด
- ผู้ที่มีอายุ 17-70 ปี โดยในการบริจาคเลือดครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 60 ปี และในกรณีที่เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนการบริจาคเลือด
- น้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม
- ในวันที่เข้าบริจาคเลือด ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการผิดปกติในร่างกายใด ๆ และต้องไม่มีอาการท้องเสีย
คนไทยบริจาคเลือด มาก-น้อยแค่ไหน?
จากสถิติการบริจาคโลหิตทั่วประเทศในปี 2566 พบว่า มีผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด 1,606,743 คน
- มีผู้บริจาคปีละ 1 ครั้ง ถึง 1,057,894 คน คิดเป็น 65.84%
- มีผู้บริจาคปีละ 2 ครั้ง 19.48% และบริจาค 3 ครั้ง 9.71%
- มีผู้บริจาคปีละ 4 ครั้งมีเพียง 73,770 คน หรือ 4.59% เท่านั้น
- และผู้บริจาคมากกว่า 4 ครั้งต่อปีมีเพียง 0.37% เท่านั้น
โดยรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้กล่าวว่า “ตลอดปี 2567 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พยายามรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยบริจาคโลหิตเพิ่มปีละ 2-3 ครั้ง” แต่จากสถิติจะเห็นได้ว่า การบริจาคเลือดทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง ยังมีจำนวนน้อยมาก หากเราสามารถเพิ่มจำนวนผู้บริจาคในกลุ่มนี้ได้มากขึ้น จะช่วยให้มีปริมาณโลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงการขาดแคลนโลหิต และสร้างความมั่นใจให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ
(ที่มา: thairath.co.th)
การมีสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็อยากได้ แต่การเป็นโรคร้ายหรืออุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งการบริจาคเลือดจะเป็น “การให้” ให้ในสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องใช้แต่กลับช่วยเหลือชีวิตของผู้คนได้มากมาย ดังนั้น ไม่ว่าจะบริจาคเลือดครั้งแรกหรือทำเป็นประจำ การบริจาคเลือดก็จะช่วยสถานการณ์ขาดแคลนเลือดของคนไทยได้ และนอกจากการมีเลือดเพียงพอ ค่ารักษาก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องใส่ใจ หมดห่วงได้หากทำประกันอุบัติเหตุที่รู้ใจ คุ้มครองค่ารักษา มีค่าชดเชยรายวัน เบี้ยเริ่มต้นแค่ปีละ 61 บาท
ใครบ้างที่ไม่ควรบริจาคเลือด?
สำหรับข้อห้ามบริจาคเลือด จะมีข้อจำกัดสำหรับคนที่ไม่ควรเข้ารับการบริจาคเลือก ดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- ผู้หญิงหลังคลอด หรือเพิ่งแท้งลูก ให้เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึงจะสามารถกลับมาบริจาคเลือดได้
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ไม่มีการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติด หรือผู้ที่เพิ่งพ้นโทษในระยะ 3 ปี ก่อนการบริจาคเลือด
- ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัด ในระยะ 6 เดือนก่อนบริจาค
- ผู้ที่เพิ่งสักตามร่างกาย การเจาะร่างกาย ภายในระยะเวลา 4 เดือน ก่อนบริจาคเลือด
- ผู้ที่เข้าเขตชุมชนที่มีการระบาดของไข้มาลาเรีย ภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนการบริจาค
- ผู้ที่เป็นโควิด ไข้หวัด ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนนการบริจาค
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ค่าตัวบน 160 และตัวล่างสูงเกิน 100 (160/100) ร่วมกับอัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติเกิน 100 ครั้ง/นาที
- ผู้ที่เพิ่งถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ต้องเว้นระยะเวลา 3 วันก่อนบริจาค
- ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวดต่าง ๆ ต้องเว้น 7 วันก่อนการบริจาค
โรคอะไรบ้างที่ควรระวังในการบริจาคเลือด?
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคไทยรอยด์
- โรคลมชัก
- โรคมะเร็งทุกชนิด (แม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม)
- โรควัณโรค
- โรคหอบหืด
- โรคตับอักเสบ บีและซี (หากเป็นตับอักเสบ เอ จะสามารถบริจาคได้เมื่อรักษาหายแล้ว)
- โรคไข้หวัด ไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา
- โรคไข้ซิกา
- โรคไข้มาลาเรีย
- โรคโควิด
การบริจาคเลือดต้องเตรียมตัวยังไง?
ก่อนที่เราจะไปบริจาคเลือด การเตรียมพร้อมตัวเราเองเป็นสิ่งสำคัญ หลัก ๆ คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ และยังมีการเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด ดังนี้
- นอนหลับให้เพียงพอไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่คับ และสามารถถลกแขนเสื้อขึ้นได้ง่าย
- ต้องมีสุขภาพแข็งแรง แต่หากอยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาโรคให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาล ผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนการบริจาคทุกครั้ง
- รับประทานอาหารก่อนการบริจาคเลือด
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ก่อนการมาบริจาคอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำก่อนการบริจาคเลือด 30 นาที ในปริมาณ 3-4 แก้ว (จะเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไป)
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการมาบริจาคอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน
- งดการสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังการบริจาค 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดสามารถฟอกโลหิตได้ดี
ขั้นตอนการบริจาคเลือดควรทำอะไรบ้าง?
เมื่อเราไปที่ศูนย์บริจาคโลหิตหรือจุดลงทะเบียนบริจาคเลือดตามสถานที่ต่าง ๆ จะมีการเช็คประวัติ หากเคยบริจาคเลือดแล้วก็จะมีใบให้เราเช็คอาการและเซ็นรับรอง หากบริจาคเลือดครั้งแรกจะมีการทำประวัติก่อน จากนั้นจะให้ดื่มน้ำก่อนเริ่มบริจาคเลือด โดย
- นอนลงบนเตียงบริจาคเลือด สามารถเลือกได้ว่าอยากให้เจาะเลือดข้างซ้ายหรือขวา
- ระหว่างการให้เลือด ให้บีบลูกบอลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดไหลได้สะดวก
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น ชา เจ็บผิดปกติ หรือจะเป็นลมให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
- เมื่อถอดเข็มออก ห้ามลุกทันที ควรนั่งพักก่อน และหากมีอาการผิดปกติควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
หลังการบริจาคเลือดควรทำยังไง?
หลังบริจาคเลือด ควรนอนพักก่อนประมาณ 5 นาที และค่อย ๆ ลุก ห้ามลุกทันที หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด วิงเวียน หรือรู้สึกผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และการฟื้นฟูร่างกายหลังบริจาคเลือดควรทำดังนี้
- ดื่มน้ำให้มากกว่าปริมาณที่เคยดื่มปกติเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไป
- เลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง เพราะอาจทำให้วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมได้
- เลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- เลี่ยงการเดินทางไปในบริเวณที่มีผู้คนแออัด และอากาศร้อนอบอ้าว
- งดกิจกรรมและงานที่มีความเกี่ยวข้องกับความสูง ความเร็ว ความลึก หรือเครื่องจักรกล
- งดการออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
8 ข้อดีของการบริจาคเลือดมีอะไรบ้าง?
การบริจาคเลือดต่างก็มีข้อดีหลาย ๆ อย่างต่อร่างกายและสุขภาพของเรา นอกจากการที่เราจะนำเลือดในส่วนที่ร่างกายไม่ได้ใช้งาน ไปช่วยชีวิตคนอื่น ๆ ได้ ยังมีประโยชน์ ดังนี้
- ร่างกายแข็งแรง เพราะเลือดที่บริจาคไปจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แถมยังทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย
- ผิวพรรณสดใส การบริจาคเลือดจะทำให้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง หน้าตาสดใส เพราะเลือดได้มีการหมุนเวียนได้ดีในร่างกายจึงส่งผลที่ดีต่อผิวพรรณด้วย
- ช่วยทำให้ห่างไกลโรคมะเร็ง จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริจาคเลือดมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืน หรือมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคต่างๆ น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยบริจาคเลย และนอกจากนี้การบริจาคเลือดยังช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งคอหอย
- ทำให้จิตใจดี ได้บุญ การบริจาคเลือดก็เหมือนกับการได้ช่วยชีวิตคน สิ่งนี้ส่งผลต่อจิตใจของผู้บริจาค ทำให้รู้สึกสุขใจ
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแดงตีบ จากการวิจัยพบว่า การเจาะเลือดออกเป็นประจำ จะช่วยลดความดันโลหิต และสามารถช่วยลดระดับน้ำตาล และยังช่วยให้สัดส่วนของไขมันดีต่อไขมันที่ไม่ดี ดีขึ้นอีกด้วย
- เป็นการตรวจสุขภาพไปในตัว เพราะการบริจาคเลือดสามารถทำได้ทุกๆ 3 เดือน เช่น การวัดความดัน การตรวจภาวะโลหิตจาง
- ได้รับการตรวจสารเคมีในเลือด โดยจะมีบริการตรวจใหัปีละ 1 ครั้ง ผู้บริจาคสามารถแจ้งแพทย์หรือพยาบาลผู้ตรวจความดันได้เลย โดยต้องงดอาหารและน้ำหลัง 20.00 น. มาก่อนด้วย
- ทำให้ทราบหมู่เลือด Rh ของตัวเอง เพราะโดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่จะทราบหมู่เลือดเฉพาะ ABO เท่านั้น
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่มีสุขภาพแข็งแรงและอยากจะทำบุญในอีกรูปแบบหนึ่ง การบริจาคเลือดเป็นการให้ที่เห็นผลได้ทันที เพราะมันจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยอุบัติเหตุหรือป่วยโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมากให้ดีขึ้นได้ และยังเป็นการตรวจสุขภาพของตัวเองได้ด้วย ดังนั้นหากใครสนใจอยากจะบริจาคเลือดแต่ยังไม่แน่ใจในสุขภาพของตัวเอง สามารถโทรสอบถามสภากาชาดไทยได้ที่เบอร์ 1664
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
พลาสมา | พลาสมาหรือน้ำเหลือง เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของเลือก และเป็นของเหลวที่อุดมไปด้วยโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการทำให้เลือดแข็งใตัว หากพลาสมาผิดปกติ อาจก่อให้เกิดโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยากได้ |
หมู่เลือด Rh | เป็นหมู่เลือดที่มีความสำคัญ มันถูกกำหนดโดยสารแอนติเจนที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง คือสาร D โดยคนที่มีสาร D อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง ก็จะเป็นหมู่เลือด Rh+ ส่วนคนที่ไม่มีสาร D อยู่ก็จะเป็นหมู่เลือด Rh- ซึ่งพบได้น้อยในคนไทย |