อาการท้องผูก ไม่เพียงแต่ทำให้อึดอัด แน่นท้อง พุงป่อง ไม่สบายตัวเท่านั้น ในระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและอาจนำพาโรคร้ายมาสู่ร่างกายของเรา แม้ในบางคนจะใช้ยาถ่ายหรือยาระบายเป็นตัวช่วยก็ตาม แต่การกินยาถ่ายและยาระบายติด ๆ กันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน คงไม่ส่งผลดีต่อร่างกายเป็นแน่ เรามาดูวิธีแก้อาการท้องผูกแบบไม่ต้องพึ่งยาถ่ายและยาระบายกันในบทความนี้
อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ บางคนท้องผูกระยะยาว แต่ในบางกรณี ท้องผูกแค่หนึ่งหรือสองวันก็มี ในประเทศไทยมีการศึกษาพบว่า 24% ของคนไทยคิดว่าตัวเองมีปัญหาท้องผูก 8% จะมีปัญหาในการเบ่งอุจจาระ และ 3% มีปัญหาในการขับถ่ายโดยขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
อาการท้องผูกอาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาการท้องผูกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ในสตรีมีครรภ์ที่ต้องรับยาบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือในผู้ที่ไม่กินผัก ผลไม้ หรือกากใยใด ๆ ก็จะมีปัญหาท้องผูก และยังมีอีกหลายสาเหตุ ได้แก่
- พฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง – เช่น ไม่กินอาหารที่มีกากใยเลย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดื่มน้ำน้อย ประกอบกับไม่ออกกำลังกาย กลั้นอุจจาระบ่อย ๆ 50% ของผู้ที่มีอาการท้องผูกมักมีพฤติกรรมเหล่านี้
- การเบ่งอุจจาระผิดวิธี – จากการศึกษาพบว่า 30% ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก เกิดจากการทำงานของกล้ามส่วนที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระผิดปกติ มีการเบ่งมากจนเกินไป หรือแรงเบ่งไม่มากพอทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวออกมาได้ยาก
- ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ – ภาวะลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติหรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นภาวะที่ลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้อุจจาระเคลื่อนที่ช้ากว่าปกติ สามารถทำการตรวจดูการเคลื่อนที่ของอุจจาระภายในลำไส้ได้ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนยา (Sitzmark radiopaque markers) เข้าไป หลังจากนั้น 3-5 วันจึงทำการเอ็กซเรย์ตัวยาที่เหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่ ถ้าผลออกมาเห็นตัวยากระจายอยู่ทั่วไป แสดงว่าลำไส้ใหญ่ยังทำงานผิดปกติ
- การใช้ยาบางชนิดทำให้เกิดอาการท้องผูก – เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาที่มีส่วนผสมของแคลเซียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น
- การอุดตันของลำไส้ – ภาวะการอุดกั้นของทางเดินอาหาร นำไปสู่การเกิดอาการท้องผูกขึ้นได้ เช่น มะเร็งหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รูทวารหนักตีบตัน ทวารหนักปลิ้น สาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ทั้งหมด
- เกิดจากโรคประจำตัว – เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักกว่าปกติ แคลเซียมในเลือดสูง และโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองหรือไขสันหลัง เป็นต้น
มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกาย?
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ท้องผูกส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ หลายคนอยู่ในภาวะเครียด เบื่ออาหาร อึดอัด ไม่สดชื่น ปวดหัว ปวดหลัง และการเบ่งอุจจาระเป็นประจำทุกวัน ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ดังนี้
- เป็นสาเหตุให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร
- ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและขาดเลือด
- ทำให้ความดันลูกในตาสูงขึ้น
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่เเข็งแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง อาจทำให้ลำไส้อุดตัน ปวดท้องมาก อึดอัด คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ผายลม และไม่ถ่ายอุจจาระ
ผู้ที่มีปัญหาอาการท้องผูกเรื้อรัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะพึ่งยาถ่ายหรือยาระบายอยู่เสมอ การกินยาถ่ายหรือยาระบายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายแน่ ๆ ผลเสียที่ตามมาเมื่อกินยาถ่ายและยาระบายเป็นประจำมีดังนี้
- ภาวะลำไส้เคยชินต่อยาถ่ายหรือยาระบาย จนร่างกายไม่สามารถขับถ่ายได้เอง
- เมื่อใช้ไปนาน ๆ ร่างกายจะเกิดอาการดื้อยา และต้องเพิ่มโดสในการกินถึงจะขับถ่าย
- ลำไส้ทำงานไม่ปกติ
- ทำให้เกิดอาการปวดท้อง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เวียนศีรษะ
- การใช้ยาถ่ายหรือยาระบายเพื่อลดความอ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะยาถ่ายและยาระบายไม่ได้ส่งผลต่อการลดไขมัน
วิธีบอกลายาถ่ายและยาระบายอย่างถาวร ทำได้อย่างไร?
1.หมั่นฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ
ควรฝึกนิสัยการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลาเหมือนเดิมในทุก ๆ วัน แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม แค่ข้ามการเข้าห้องน้ำช่วงเช้าไปเพียงวันเดียว อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ การจัดตารางการเข้าห้องน้ำ เป็นการฝึกตัวเอง สมองของเราจะจดจำว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการขับถ่าย สมองจะสั่งการให้ร่างกายทำการถ่ายในทุก ๆ วัน และเวลาเดิม ๆ วิธีนี้จะช่วยแก้อาการท้องผูกได้อย่างถาวร
2.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะป้องกันโรคร้าย ลดน้ำหนัก หรือทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายถูกรวมเข้าไปในแผนการดูแลสุขภาพทุกแผนบนโลกนี้ การออกกำลังกาย เช่น การเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อในลำไส้ใหญ่ ช่วยให้ลำไส้เคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ผ่านไปได้สะดวกยิ่งขึ้น
การออกกำลังกายช่วยป้องกันและแก้อาการท้องผูก ตั้งเป้าไว้เลยว่า ใน 1 สัปดาห์ต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที หรือวันละ 30 นาที เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์
3.ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
เชื่อหรือไม่ว่า บางคนดื่มน้ำไม่ถึง 1 แก้วต่อวัน ด้วยเหตุที่ว่า น้ำเปล่าไม่อร่อย คนเหล่านี้จึงเลือกที่จะไปดื่มน้ำอัดลมหรือชา กาแฟแทน การที่ร่างกายไม่ได้รับน้ำเปล่าบริสุทธิ์ในปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ นอกจากจะทำให้มีอาการท้องผูกแล้วยังส่งผลให้ปริมาณน้ำในร่างกายไม่เพียงพอที่จะให้เลือดเอาไปสูบฉีด ส่งผลให้เลือดข้นหนืด จนในที่สุดร่างกายไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองไม่ได้รับสารอาหาร ซึ่งเป็นที่มาของอาการสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
ฉะนั้น วิธีแก้อาการท้องผูกที่ดี ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ลิตร (8-9 แก้ว) ต่อวัน น้ำจะไปช่วยกระตุ้นกระบวนการขับถ่ายของเสียในร่างกาย
4.เลือกกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
อาหารไฟเบอร์สูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ จะสังเกตุได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ท้องผูกบ่อย ๆ มักจะเป็นคนที่ไม่ชอบกินผักและผลไม้ ร่างกายจึงไม่ได้รับกากใยใด ๆ ที่จะไปช่วยระบบขับถ่าย กากใยเหล่านี้จะช่วยให้อุจจาระนุ่ม ไม่แข็งจนบาดรูทวารของเรา
อาหารที่ย่อยง่าย เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กล้วยน้ำหว้า ลูกพรุน และอะโวคาโด อาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น และให้เพิ่มผักและผลไม้กากใยสูง ๆ เข้าไป เท่านี้การขับถ่ายก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
5.น้ำมันมะพร้าว
การกินน้ำมันมะพร้าววันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ สามารถช่วยเรื่องการขับถ่ายได้ ในบางคนกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อต้องการดีท็อกซ์ลำไส้เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย โดยในน้ำมันมะพร้าวมีส่วนในการช่วยขับสารพิษในร่างกาย ช่วยกำจัดแบคทีเรียชนิดไม่ดีที่เกาะตามลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้สะอาด ช่วยแก้อาการท้องผูกได้ดี
6.ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากลองวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร รู้ใจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้คำแนะนำหรือเปลี่ยนยาบางตัวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องผูก และอาการท้องผูกเรื้อรังควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะแพทย์จะระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่า จริง ๆ มันเกิดจากอะไร จะได้รักษาได้ถูกต้อง และควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพที่ดี
และถ้าผู้อ่านสนใจหรือกำลังมองหาประกันสุขภาพไว้สักเล่ม เพื่อคุ้มครองและดูแลสุขภาพทางการเงินของตัวเอง สามารถดูแผนความคุ้มครองต่าง ๆ และเช็คราคาประกันออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม.
ติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai