Roojai

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภัยเงียบใกล้ตัว ผู้สูงอายุยิ่งเสี่ยง

สาเหตุ อาการ โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว l ประกันโรคร้ายแรง l รู้ใจ

เรื่องของใจไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจทั่วโลกเป็นจำนวนมากถึง 7.2 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบในประเทศไทยปีละประมาณ 37,000 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2 คน และภาวะหัวใจเต้นพลิ้วในประเทศไทย หรือ Atrial fibrillation (AF หรือ A-fb) พบได้บ่อยคิดเป็นร้อยละ 1-2 ของประชาชน ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ 80-90 ปี คิดเป็นร้อยละ 5-15 เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่เข้ามาแบบไม่รู้ตัว

ในบทความวันนี้ รู้ใจได้รวบรวมข้อมูลโรคหัวใจเต้นพลิ้ว สาเหตุ อาการและใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มาฝากเพื่อเป็นการป้องกันบุคคลอันเป็นที่รักของเรา หรือเพื่อเตรียมรับมือหากหนึ่งในสมาชิกในบ้านมีอาการหัวใจเต้นพลิ้ว แต่ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจก่อนว่า โรคหัวใจมีทั้งหมดกี่ประเภท

โรคหัวใจมีกี่ประเภท?

โรคหัวใจสามารถแบ่งเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจ – ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก ร้าวตามกราม แขน และลำคอ เหนื่อย อ่อนเพลีย หรืออาจหมดสติได้
  2. โรคหัวใจเต้นพลิ้ว – หัวใจอาจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
  3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ – จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทั่วท้องหรือหายใจไม่อิ่ม อาการจะออกมาเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา นอนราบไม่ได้ และมักจะตื่นมาไอในเวลากลางคืน
  4. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด – เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะมีอาการเหนื่อยขณะให้นม และเลี้ยงไม่โต
  5. โรคลิ้นหัวใจ – หากลิ้นหัวใจมีความผิดปกติมาก ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย และอาจเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
  6. โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ – ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อย หัวใจเต้นไม่ปกติ หายใจหอบ ไอแห้ง ๆ แบบเรื้อรัง ขาหรือช่องท้องมีอาการบวม และอาจมีผื่นหรือจุด ๆ ขึ้นตามผิวหนัง 

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วคืออะไร?

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหรือเรียกย่อ ๆ ว่า โรค AF (Atrial Fibrillation) เป็นหนึ่งในอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่รุนแรงที่สุด โอกาสในการเกิดภาวะนี้จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และยังมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น 

ซึ่งภาวะของโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเกิดอาการหัวใจวายได้ โดยในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจจะมีอัตราการเต้นหัวใจสูงถึง 400 ครั้ง/นาที ซึ่งการเต้นแบบนี้เป็นสาเหตุให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ลดลง ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) เกิดจากอะไร?

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ ในกรณีที่เกิดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่านั้น โรค AF อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่อาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น

  1. โรคหัวใจหรือมีความผิดปกติของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด โรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ทั้งสิ้น
  2. โรคอื่น เช่น เบาหวาน ไตวาย ความดันโลหิตสูง โรคสมองขาดเลือด และโรคถุงลมโป่งพอง
  3. เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น คาเฟอีนในชาและกาแฟ โสม แอลกอฮอล์ และรวมไปถึงการสูบบุหรี่
  4. เกิดจากความเครียดทางกายและใจ อาจมาจากงานที่หนักเกินไป และบวกกับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  5. เกิดจากอายุที่มากขึ้น ในผู้ที่มีอายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะมีมากขึ้นตามไปด้วย
อาการของอาการโรค AF สาเหตุ การรักษา l ประกันโรคร้ายแรง l รู้ใจ

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) อาการเป็นยังไง?

อาการของผู้ป่วยโรค AF แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน และอาจจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือในบางคนจะไม่แสดงอาการใด ๆ โดยอาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอกัน ใจสั่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ จนไปถึงมีอาการแบบถาวร ในผู้ป่วยที่มีอาการแบบถาวร หัวใจจะมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติและไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ อาการที่ของโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้

  1. อาการเกิดขึ้นครั้งแรก – เป็นการได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรก
  2. อาการเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว – มีอาการโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วแบบเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดภายใน 24 ชั่วโมงไปจนถึง 7 วัน
  3. อาการเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ – หากผู้ป่วยมีอาการนานเกิน 7 วัน หรือหัวใจไม่สามารถกลับมาเต้นเป็นปกติได้ ต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
  4. อาการเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน – ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ซึ่งแพทย์ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ
  5. อาการเกิดขึ้นอย่างถาวร – ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แต่เพียงรักษาตามอาการ ควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง และควบคุมให้การเต้นของหัวใจกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่านั้น

รู้มั้ย? ความผิดปกติของโรคหัวใจสามารถป้องกันได้ด้วยตัวเอง

หากอยากห่างไกลจากโรค AF โรคหัวใจหรือโรคร้ายแรง ต้องลดละเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น เลิกสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์จัด และทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ตรวจสุขภาพทุกปี และลองสังเกตตัวเองหากพบว่ามีอาการหอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเรา ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาและเพิ่มโอกาสในการหายขาดอีกด้วย

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสั่นพลิ้ว?

  1. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ หัวใจล้มเหลว ภาวะหลังการผ่าตัดหัวใจ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจมาตั้งแต่เกิด
  2. กลุ่มคนที่เป็นโรคอื่น รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคลิ่มเลือดอุดกั้นที่ปอด โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคที่ต่อจากเชื้อไวรัส
  3. กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ 

โรคหัวใจและหลอดเลือดหากเป็นแล้ว ค่ารักษาพยาบาลแพง หากคุณกำลังมองหาประกันโรคร้ายแรงที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน ประกันโรคร้ายแรงที่รู้ใจ ครอบคลุมกลุ่มโรคร้ายแรงทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง กลุ่มโรคภาวะอวัยวะล้มเหลว ซึ่งสามารถเลือกซื้อได้ตามความเหมาะสมไม่จำเป็นต้องซื้อครบทั้ง 4 กลุ่ม แถมเจอจ่ายจบ รับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท

วิธีตรวจโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว Atrial Fibrillation l ประกันโรคร้ายแรง l รู้ใจ

การวินิจฉัยทำได้โดยวิธีใดบ้าง?

เป็นเรื่องพื้นฐานที่แพทย์ต้องซักประวัติของผู้ป่วยก่อน ตามมาด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจวัดชีพจร ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการ และอาจมีการวินิจฉัยโรค AF เพิ่มเติม ดังนี้

  1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ – เป็นการทดสอบจังหวะการเต้นของหัวใจและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ
  2. ตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง – เป็นการตรวจโดยใช้ Holter Monitor ติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อครบ 24 ชั่วโมง แพทย์จะวินิจฉัยจากผลลัพธ์ที่ได้ มักจะใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการบ่อย ๆ แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว Atrial Fibrillation รักษายังไง?

ในส่วนของการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว Atrial Fibrillation จะรักษาโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ให้ยาสลายลิ่มเลือด – โดยแพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการเกิดอาการอัมพาต หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน
  2. ให้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ – การให้ยานี้เพื่อเป็นการลดอาการที่เกิดจากหัวใจเต้นพลิ้ว หากให้ยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องใช้การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุผ่านทางสายสวน หรือจี้ด้วยความเย็นจัดเพื่อปิดกั้นสัญญาณกระตุ้นที่อาจส่งผลให้เกิดการลัดวงจรจากบริเวณที่หลอดเลือดดำจากปอดมาต่อกับหัวใจหัองบนซ้าย
  3. รักษาโรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ – เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน รวมไปถึงควบคุมพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น งดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง หรือเลิกสุราและบุหรี่ เป็นการป้องกันโรค AF รวมถึงโรคร้ายแรงด้วยตัวเองที่ง่ายที่สุด และโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน สำหรับคนที่มีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการผิดปกติกับหัวใจ ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่หัวใจ หรือมีการนำไฟฟ้าที่หัวใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีอาการหัวใจเต้นช้าจนผิดปกติ หรือน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือเต้นเร็วจนผิดปกติ หรือ 100 ครั้ง/นาที
ระบบไฟฟ้าหัวใจ หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram หรือ ECG, EKG เป็นวิธีการตรวจทางหัวใจ เพื่อตรวจดูการทำงานของคลื่นกระแสไฟฟ้าบริเวณหัวใจ ที่ทำหน้าที่่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้น กล้ามเนื้อหัวใจ และรวมไปถึงการควบคุมระบบลำเลียงและสูบฉีดเลือดทั้ง 4 ห้องของหัวใจว่ามีการทำงานผิดปกติหรือไม่
ยาสลายลิ่มเลือด เป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นให้ก้อนเลือดที่แข็งตัว และไปบล็อกเส้นทางการไหลของเลือด ให้สลายตัวไป ช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปยังบริเวณที่เคยอุดตันให้เลือดไหลผ่านไปได้อีกครั้ง