หลังจากมีการปลดล็อกพืชกัญชาให้พ้นจากบัญชียาเสพติด โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเอาไว้ใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ใช้เชิงพาณิชย์ หรือทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่มที่นำกัญชาไปแปรรูปเป็นขนมหรืออาหาร และจำหน่ายให้เด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น โดยไม่แนะนำวิธีการใช้ จึงทำให้เราเห็นหลาย ๆ ข่าว มีการนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เนื่องจากบริโภคอาหารเหล่านี้เข้าไป และเกิดอาการเมา หรือแพ้กัญชา วันนี้รู้ใจรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับกัญชาทั้งประโยชน์ของกัญชา โทษของกัญชา รวมถึงวิธีสังเกตอาการเมาหรือมีอาการแพ้กัญชา และวิธีแก้ มาฝากกัน
กัญชาในภาษาไทย สันนิษฐานกันว่าเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากคำว่า Genja ของภาษาฮินดี พบว่า มีกัญชาปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มายาวนานนับพันปี โดยในสมัยก่อนนิยมปลูกกันในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรค อาหาร และเครื่องเทศ กัญชามีฤทธิ์ต่อประสาท ทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย พบมากในแถบทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเปอร์เชีย อินเดีย และจีน ก่อนที่จะกระจายไปแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สารประกอบสำคัญในกัญชามีอะไรบ้าง?
ในกัญชามีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ หรือ Cannabinoid อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC
1. CBD (Cannabidiol)
เป็นสารสกัดที่ได้จากต้นกัญชา เป็นสารที่มีประโยชน์ที่สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยในบางโรคได้ สามารถนำมาพัฒนาเป็นยาและใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยมีประโยชน์ ดังนี้
- ช่วยลดความวิตกกังวล
- ลดอาการปวด
- ช่วยให้นอนหลับได้ดี
- ไม่ส่งผลต่อจิตประสาท
- ไม่ก่อให้เกิดการเสพติด
2. THC (Tetrahydrocannabinol)
เป็นสารที่ส่งผลต่อจิตประสาททำให้เกิดความผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการตึงเครียดได้ THC จัดว่าเป็นสารที่ทำให้เมา โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับมากเกินไปจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
- ใจสั่น
- ความดันเปลี่ยนอย่างรุนแรง
- สติแปรปรวน
- ประสาทหลอนหรือเห็นภาพหลอน
- หูแว่ว
- หวาดระแวง และแพนิค
- ความจำระยะสั้นแย่ลง
- ส่งผลกระทบต่อสมอง โดยเฉพาะในคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี โดยส่งผลทางด้านความจำ
- ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวช จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการประสาทหลอนถาวรสูงถึง 20%
กินกัญชายังไงให้มีประโยชน์?
สำหรับการนำกัญชามาใช้ในการทำอาหาร เครื่องดื่ม ขนม กรมอนามัยได้แนะนำปริมาณที่เหมาะสมไว้ดังนี้
- อาหารประเภททอด – ให้ใช้ใบกัญชาสด 1 – 2 ใบ เช่น ทำไข่เจียวแนะนำให้ใส่ไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ เนื่องจากสาร THC และ CBD สามารถละลายได้ดีในน้ำมัน
- อาหารประเภทผัด – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
- อาหารประเภทแกง – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
- อาหารประเภทต้ม – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
- เครื่องดื่ม – เครื่องดื่มขนาด 200 มิลลิลิตร สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
ประโยชน์ของกัญชามีอะไรบ้าง?
1. ช่วยให้ผ่อนคลาย
กัญชาจะช่วยให้อารมณ์ดี นั่นเพราะสาร THC ที่เป็นสารที่ออกฤทธิ์ให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และยังมีสรรพคุณทำให้นอนหลับสบายและนานขึ้น โดยทั่วไปนิยมใช้เพื่อบรรเทาความเครียด
2. ช่วยให้เจริญอาหาร
สาร THC ยังช่วยให้เจริญอาหาร โดยมักจะนำ THC ไปใช้ผสมกับสาร Dronabinol เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอยากอาหาร นิยมใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดและในผู้ป่วยเอดส์
3. ช่วยต้านอาการซึมเศร้า
ในกัญชามีสาร Cannabinoids ที่ออกฤทธิ์ช่วยในการปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยต้านอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าในผู้สูงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน และยังช่วยลดความกระวนกระวายใจให้ลดน้อยลง ช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวทางอารมณ์ได้มากขึ้น หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
4. ช่วยคลายกล้ามเนื้อ
ทั้งสาร THC และ CBD นั้นมีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ทั้งผ่อนคลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน ลดอาการอักเสบ
ใครบ้างที่ต้องระวังกัญชา?
สำหรับกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และคุณแม่ที่ให้นมบุตรเพราะจะส่งผลต่อทารกในครรภ์โดยผ่านทางการให้น้ำนม สำหรับในเด็กและเยาวชนมีโอกาสในการเสพติดกัญชา อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านสมองของเด็ก
วิธีสังเกตอาการแพ้หรือเมากัญชา
จริงอยู่ที่ว่าในกัญชามีสรรพคุณที่มีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคได้มากมาย แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดโทษได้ เพราะในกัญชามีสาร THC ที่ออกฤิทธ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อสมองและร่างกายทางด้านอารมณ์และจิตใจ ผู้ที่เพิ่งจะเริ่มทดลองบริโภคควรเริ่มบริโภคแค่ครึ่งใบถึงหนึ่งใบต่อวัน
การตอบสนองทางร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เราควรสังเกตอาการของตัวเองทุกครั้งที่ใช้ อาการปกติที่พบได้ในผู้ใช้กัญชา เช่น คอแห้ง ง่วงนอน ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติที่พบได้ แต่อาการที่ไม่ปกติ อย่างอาการแพ้กัญชา ควรรีบไปพบแพทย์
อาการผิดปกติจากการกินกัญชา
หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าคุณมีอาการแพ้กัญชาหรือเมากัญชา ควรไปพบแพทย์
- หัวใจเต้นเร็วและรัวจนผิดจังหวะ
- เป็นลมหรือหมดสติ
- เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน
- เหงื่อออก ตัวสั่น
- หายใจลำบาก อึดอัด
- เดินเซ
- พูดไม่ชัด
- สับสน
- กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดแระแวง
- หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว
หรือสามารถใช้วิธีแก้อาการเมากัญชาเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
- ให้ดื่มน้ำเพื่อลดอาการคอแห้ง ปากแห้ง
- ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย
- เคี้ยวเม็ดพริกไทย
- หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำขิง
แม้ว่าประโยชน์ของกัญชาจะมีอยู่มากก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียของกัญชาอยู่เช่นกัน การจะนำไปใช้ผู้ใช้ควรศึกษาถึงผลกระทบก่อน หรือควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดหรือเลี่ยงอาการแพ้กัญชาที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเรา
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)