Roojai

รู้ทัน “หัวใจวาย” ภัยเงียบต้องระวัง เริ่มเสี่ยงในคนอายุน้อย

ออกกําลังกาย | โรคหัวใจ | หัวใจวาย | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

ช่วงนี้ เราจะเห็นข่าวการเสียชีวิตระหว่างการวิ่งออกกำลังกายอยู่ไม่ใช่น้อย สาเหตุการเสียชีวิตระหว่างออกกำลังกายมีได้หลายสาเหตุ และหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือ อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือที่เรามักจะเรียกว่า “หัวใจวาย” ทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบกระทันหัน นับว่าเป็นภัยเงียบอีกอย่างที่ทุกคนควรต้องระวัง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอันตรายที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สาเหตุของการเกิดโรค ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและวิธีการป้องกัน

ใช่ว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวันจะอยู่รอดปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อโรคร้ายใด ๆ โรคหลอดเลือดหัวใจสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และนับว่าเป็นโรคสำคัญที่ติด 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตในประเทศไทย หากนับรวมกับทั่วโลกแล้ว อัตราการเสียชีวิตจาก “หัวใจวาย” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ หรือดูจากสถิติที่ผ่านมา จะมีคนเสียชีวิต 1 – 2 ราย ทุก ๆ 15 นาที ในประเทศไทยเลยทีเดียว 

หัวใจวายคืออะไร?

หัวใจวายหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน อาจเกิดจากลิ่มเลือดไปขัดขวางการไหลของเลือด จนทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นตาย หรือหัวใจบีบเลือดได้ไม่ดี ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลงและทำให้เสียชีวิตในที่สุด 

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ หรืออาจเกิดในคนไข้ที่นอนกรนหนัก ๆ มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย และรวมไปถึงภาวะที่ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน 

ตรวจโรคหัวใจ | หัวใจวาย | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

ใครเสี่ยงหัวใจวายบ้าง?

  • ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักเกิน
  • ผู้ป่วยโรคเครียดหรือมีความเครียดสูง
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
  • ในผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในวัยกำลังหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

อาการของหัวใจวาย

อาการที่พบ แน่นหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น มีอาการร้าวไปทางแขนฝั่งซ้ายหรือในบางคนจะมีความรู้สึกปวดแบบแน่น ๆ หรือหนัก ๆ บริเวณท้อง นอกจากจะพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ในผู้สูงอายุก็พบได้มาก เนื่องจากความแข็งแรงของเส้นเลือดไม่เท่าวัยหนุ่มสาว ทำให้เกิดการตีบตันได้ง่าย รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่เคยออกกำลังกาย และคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรือทางพันธุกรรมก็มีผลด้วยเช่นกัน 

สัญญาณเตือนว่าอันตรายกำลังจะมาถึง

สัญญาณเตือนจะเป็นการเจ็บแน่นหน้าอกที่มีลักษณะเฉพาะ

  • เจ็บตรงกลางหน้าอก เยื้องลงมาทางลิ้นปี่
  • จุกแน่น อึดอัด และมีอาการร้าวไปถึงคอหอย ไหล่ซ้าย ข้อศอกหรือท้องแขนด้านซ้าย กรามหรือคอด้านซ้าย
  • ในบางกรณี จะมีอาการใจหวิว ในสั่น หรือชีพจรเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ เหงื่อซึมและหมดสติ

อายุน้อยก็เสี่ยงหัวใจวาย

สมัยก่อนคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันการเกิดโรคนี้สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ตามสถิติมักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง กลุ่มเสี่ยงแน่นอนว่าเป็นกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวดังที่กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องดูแลและพบแพทย์อย่างเป็นประจำ 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยหัวใจวาย

  1. หากพบบุคคลที่มีอาการเข้าข่ายหัวใจวาย ให้ติดต่อกู้ภัย หรือ 1669 หรือโรงพยาบาลใกล้เคียงก่อนทันที
  2. กรณีที่ผู้ป่วยยังคงมีสติ ให้สังเกตอาการของผู้ป่วยว่าสามารถหายใจเองได้หรือไม่ ชีพจรยังเต้นเป็นปกติอยู่หรือเปล่า ถ้าผู้ป่วยยังคงหายใจได้เอง ให้จับผู้ป่วยนั่งหรือนอนราบกับพื้นในท่าที่สบายที่สุด และทำการปลดเสื้อผ้าให้คลายออก เพื่อให้หายใจได้สะดวก 
  3. กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ให้สังเกตบริเวณรอบ ๆ ก่อนการเข้าไปช่วย พร้อมกับทำการตรวจการรู้สึกตัวของผู้ป่วยว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ ให้ปลุกเรียกผู้ป่วยโดยการตบไหล่ทั้งสองข้างและเรียกเสียงดัง ๆ หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและหยุดหายใจ หรือหายใจผิดปกติ หายใจเฮือก ๆ ให้ทำการ CPR ทันที
  4. วิธีการทำ CPR โดยการจับให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้น (นอนหงาย) โดยที่เราคุกเข่าบริเวณข้างลำตัวของผู้ป่วยในระดับไหล่ ตรวจสอบการหายใจโดยการเอียงหูฟังที่จมูกของผู้ป่วย และให้ทำการ CPR โดยการวางสันมือข้างที่ถนัดลงบนกึ่งกลางกระดูกหน้าอกระดับเต้านม และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ และเริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึก 5 เซนติเมตร โดยแขนทั้งสองข้างต้องเหยียดตรง ห้ามงอแขน โดยใช้ความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหรือจนกว่า รถพยาบาลจะมาถึง
เลิกบุหรี่ | หัวใจวาย | ประกันโรคร้ายแรงรู้ใจ

ทำยังไงไม่ให้เสี่ยงหัวใจวาย?

รู้ใจรวบรวมวิธีต่าง ๆ ที่เราจะดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เราควรเริ่มดูแลตัวเองแต่เนิ่น ๆ เพราะโรคนี้ไม่ได้มีแค่ในผู้สูงอายุอีกต่อไปแล้ว ลองค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม การใช้ชีวิต ตามด้านล่างเลย

  1. ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่น ปรับเรื่องอาหารการกิน เลี่ยงอาหารไขมันสูง รสเค็ม รสจัด
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ควรเป็นการออกกำลังกายที่มีเหงื่อ เช่น คาร์ดิโอ 
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 
  4. เลิกสูบบุหรี่ หรืองดสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นที่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย สารเหล่านี้มีส่วนทำให้ผนังบุด้านในหลอดเลือดอ่อนแอลงและยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ 
  5. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและหญิงวัยหมดประจำเดือน ควรเลือกแพ็กเกจการตรวจโรคหัวใจอย่างละเอียด รู้ก่อนป้องกันได้ 

และทั้ง 5 วิธีนี้ เป็นเพียงคำแนะนำให้เราสามารถห่างไกลจากโรคได้ นอกจากนั้นการหาเวลาไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสุดท้ายการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราไม่ต้องลงทุนใด ๆ เลยก็ได้สุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการซื้อประกันโรคร้ายแรงเอาไว้ จะช่วยลดความเสี่ยงของครอบครัวต่อการสูญเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ แม้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ หากทุกคนเริ่มกลับมาใส่ใจและเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตัวเอง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)