Roojai

คนเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอะไรบ้าง? รู้ก่อนป้องกันได้

คนเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอะไรบ้าง | ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล | รู้ใจ

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมีมากมายทั้งจากความประมาทเลิ่นเลอของคนเอง หรือความขัดข้องของเครื่องจักร รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นที่มาของการบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี วันนี้รู้ใจ จะชวนคุณมาเจาะลึกถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากคน ว่าสามารถเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และจะมีวิธีการป้องกันอุบัติเหตุอย่างไร

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มีอะไรบ้าง?

อุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่รู้และการประมาท

การใช้เครื่องจักรในโรงงานโดยไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงได้ ดังนั้นควรศึกษาวิธีการใช้งานให้เข้าใจก่อนปฏิบัติ นอกจากนี้ การลืมและประมาทในเรื่องเล็ก ๆ เช่น การลืมถอดปลั๊กเตารีด หรือพัดลม ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ เช่น ไฟไหม้บ้าน ไฟดูด เป็นต้น

อุบัติเหตุที่เกิดจากอายุและวัย

ผู้สูงอายุและเด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุอาจไม่แข็งแรงเท่าวัยรุ่น และเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นสูง จึงมักทำสิ่งอันตรายโดยไม่รู้ตัว เช่น การเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ หรือเอานิ้วแหย่พัดลมขณะทำงาน เป็นต้น ดังนั้นควรดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา

อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือกีฬาที่ใช้ความเร็ว เช่น สเกตบอร์ด จักรยาน รวมไปถึงกีฬาที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก เช่น ยกน้ำหนัก และกีฬาที่เกี่ยวข้องกับความสูง เช่น ยิมนาสติก กระโดดสูง เป็นต้น อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจะสามารถป้องกันได้จากทักษะ ความแข็งแรงของร่างกาย การอบอุ่นร่างกาย รวมถึงอุปกรณ์เซฟตี้ในการเล่นกีฬา

อุบัติเหตุจากความมึนเมา

ความมึนเมาจะทำให้ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจลดลง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินตกคลอง หรือการขับรถในสภาพมึนเมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแล้วขับ

อุบัติเหตุบนท้องถนน

อุบัติเหตุทางถนนส่วนมากเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการชนรถเฉี่ยว หรือการขับรถอย่างรุนแรง แม้จะมีกฎจราจรเพื่อควบคุมการใช้รถ แต่หลายคนกลับลืมหรือละเลยที่จะทำตาม จึงอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือค่าชดเชย

เปิด! สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนปี 2567

ในปี 2567 นี้ก็ผ่านมาถึงเดือนที่ 7 (กรกฎาคม) แล้ว เชื่อหรือไม่ว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ 1 มกราคม – 16 กรกฎาคม 2567 มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,793 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 457,601 คน โดยเป็นเพศชายกว่า 75.78% และเพศหญิง 24.22% และรถที่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตใช้ ส่วนใหญ่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ (ที่มา: thairsc.com)อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุที่คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ทุกปี ดังนั้นควรขับขี่ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ อย่าละเลยกฎจราจร รวมถึงใส่ใจเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ให้เกิดความสูญเสียตามมา

อุบัติเหตุบนท้องถนน | ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล | รู้ใจ

8 อุบัติเหตุใกล้ตัวพร้อมวิธีป้องกัน

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครอยากให้เกิด แต่สุดท้ายต่อให้ระวังมากแค่ไหนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญพอ ๆ กับการระมัดระวัง คือ การรับมือค่าใช้จ่ายที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุไม่สามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้นการทำประกันภัยอุบัติเหตุจะมาช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้คุณ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่รู้ใจ สามารถปรับแผนความคุ้มครองได้ตามใจ เบี้ยเริ่มต้นแค่ 61 บาท/ปี และรู้ใจจะพาไปดู 8 อุบัติเหตุใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ พร้อมวิธีป้องกันการป้องกันอุบัติเหตุ

1. น้ำร้อนลวก

น้ำร้อนลวก ทั้งจากการทำอาหาร ชงชา กาแฟ หรืออะไรก็ตามที่ต้องใช้น้ำร้อน มีโอกาสเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในบ้านได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยง

วิธีป้องกันน้ำร้อนลวก

  • ควรมีสติทุกครั้ง และไม่ควรทำอะไรหลายอย่างอื่นพร้อม ๆ กัน
  • ควรวางภาชนะที่มีน้ำร้อนให้พ้นมือเด็กเล็ก หรือวางอย่างปลอดภัยที่ไม่เสี่ยงต่อการเดินชน

2. ไฟดูด ไฟช็อต

เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากไฟฟ้า การโดนไฟดูดเกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายของคนสู่พื้นดิน และเมื่อเกิดไฟดูดนั้นจะมีประกายไฟเกิดขึ้นภายในอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ ข้าวของเสียหาย หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ไฟดูด-ไฟช็อตถือว่าเป็นอุบัติเหตุภายในบ้านที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจมาจากความประมาท ความอยากรู้ของเด็ก หรือจากเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน

วิธีป้องกันไฟดูด ไฟช็อต

  • ควรตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระบบป้องกันภัยไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เช็คเบรกเกอร์ว่ายังทำงานได้ตามปกติหรือไม่
  • เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด เสียหาย
  • ควรทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะหากมีฝุ่นเกาะเป็นจำนวนมากบริเวณปลั๊กไฟอาจทำให้เกิดไฟไหม้ขณะเสียบปลั๊กได้
  • ก่อนการเสียบปลั๊กทุกครั้ง เช็คดูว่ามือตนเองแห้งอยู่หรือไม่ และเช็คปลั๊กไฟว่าแห้งอยู่หรือไม่ เมื่อเช็คความเรียบร้อยถึงค่อยใช้งานได้

3. ของมีคม

การใช้ของมีคม เช่น มีดบาด โดนกรรไกร แก้วแตกบาดมือ เป็นอุบัติเหตุในบ้านที่พบได้บ่อย ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและมีสติในการใช้งาน ไม่ควรวางของมีคมไว้ในที่ที่เด็กสามารถหยิบได้ หรือไม่ถือของมีคมเดินไปเดินมา เพื่อความปลอดภัยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้

วิธีป้องกันของมีคมบาด

  • ควรเก็บของมีคมให้มิดชิด เช่น มีดควรมีที่เสียบมีด หรือนำไปใส่ไว้ในลิ้นชักในห้องครัว เพื่อป้องกันเด็กเล็กหยิบมาเล่น
  • ของใช้อื่น ๆ ในบ้านที่มีความแหลมหรือคม เช่น โต๊ะกระจก ควรใช้ยางกันคมหรือยางกันกระแทกมาติดเอาไว้ เพื่อป้องกันการเดินชน

4. การลื่นล้ม

การลื่นล้มในบ้าน หรือในห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุในบ้านที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะร่างกายเคลื่อนไหวได้ไม่สมบูรณ์เท่าคนหนุ่มสาว จึงมักเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย ๆ

วิธีป้องกันการลื่นล้ม

  • หากมีน้ำหกลงที่พื้น ควรรีบเช็ดทำความสะอาดทันที
  • ควรมีแผ่นกันลื่นในห้องน้ำ หรือมีราวเหล็กสำหรับให้ผู้สูงอายุได้จับ
  • หากพื้นภายในบ้านไม่เท่ากัน ควรมีการติดสติกเกอร์บอกความต่างระดับของพื้น
  • หากพื้นชำรุด ควรซ่อมให้เรียบร้อย เพื่อลดโอกาสในการเดินเตะหรือสะดุดหกล้ม
  • เก็บของให้เป็นระเบียบ ไม่วางของเกะกะตามทางเดิน
  • แสงสว่างในบ้านที่เพียงพอจะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประกันอุบัติเหตุคุ้มครองการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ | รู้ใจ

5. การสำลักอาหาร

การสำลักอาหาร หรือสิ่งของส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก เพราะเด็ก ๆ มักจะหยิบทุกอย่างเข้าปาก หรืออาจเกิดจากการกินอาหารอย่างรวดเร็ว หรืออาหารคำใหญ่จนเกินไปทำให้เกิดอาการสำลักอาหาร หากบ้านไหนมีเด็กเล็ก ข้อนี้ควรระมัดระวังให้มากเพื่อความปลอดภัยเพราะอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการสำลักอาหาร

  • ป้อนอาหารพอดีคำ ไม่ใหญ่จนเกินไปและไม่ควรรีบป้อน
  • เก็บสิ่งของที่คิดว่าเด็กเล็กอาจจะหยิบเข้าปาก เช่น เลโก้ รถเด็กเล่นคันเล็ก ๆ ดินน้ำมัน เป็นต้น

6. ไฟไหม้

อีกหนึ่งอุบัติเหตุในบ้านที่ไม่มีบ้านไหนอยากให้เกิดนั่นก็คือ เรื่องไฟไหม้บ้าน ไม่ว่าจะมาจากความประมาท หรือจากไฟฟ้าลัดวงจร ถึงแม้ว่าไฟไหม้บ้านจะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เสียทรัพย์สินมากกว่าอุบัติเหตุอื่น ๆ

วิธีป้องกันไฟไหม้

  • ติดตั้งตัวตรวจจับไฟไหม้
  • หมั่นตรวจสอบระบบไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า
  • แยกพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ เช่น ห้องครัว หรือพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ออกจากตัวบ้าน เพื่อป้องกันการลุกลามทั่วบ้านหากเกิดไฟไหม้

7. จมน้ำ

แม้ว่าการจมน้ำจะเป็นอุบัติเหตุในบ้านที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย หากบ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือภายในบ้านมีสระน้ำ และมีเด็กเล็ก ไม่ควรปล่อยเด็กเล็กไว้คนเดียว แม้จะใส่ห่วงยางแล้วก็ตาม ควรมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คอยดูตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย เพราะคลาดสายตาเพียง 1 นาที อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียได้

วิธีป้องกันการจมน้ำ

  • ควรมีผู้ใหญ่หรือมีคนอื่นอยู่ด้วย หากมีกิจกรรมทางน้ำ เพื่อคอยช่วยเหลือกรณีจมน้ำ
  • ห้ามปล่อยเด็กเล็กอยู่ในสระเพียงลำพัง
  • ควรฝึกทักษะการว่ายน้ำ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

8. ตกจากที่สูง

เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ในขณะที่ต้องการหยิบของที่อยู่สูง โดยต้องอาศัยการปีนขึ้นไป หรือปีนบันได ซึ่งอาจจะพลัดตกลงมาได้ หรือการตกบันไดบ้านระหว่างเดินลง อุบัติเหตุนี้สามารถเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่

วิธีป้องกันการตกจากที่สูง

  • หากต้องปีนบันได ควรมีคนอื่นอยู่คอยจับบันไดให้มีความมั่นคงด้วย
  • หากต้องขึ้นไปที่สูง เช่น หลังคา ควรมีคนอยู่ด้วยเพื่อช่วยหยิบของ หรือคอยช่วยเหลือ

อุบัติเหตุเราอาจเลี่ยงไม่ได้ถ้ามันจะเกิด แต่การระวังสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ป้องกันตัว และใช้ชีวิตอย่างมีสติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลงได้เยอะมาก ที่สำคัญคือการทำประกันอุบัติเหตุมาปกป้องเราจากค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ทีนี้เราก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ เพราะในวันที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็ยังมีประกันคุ้มครองให้เราเข้าถึงการรักษาที่เราเลือกเองได้อีกด้วย

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ตัวตรวจจับไฟไหม้ เป็นอุปกรณ์ไว้สำหรับตรวจจับเปลวไฟ ทำหน้าที่จับวัตถุไวไฟสูง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ตัวตรวจจับจะไวต่อควันและเปลวไฟเป็นอย่างมาก
เบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในระบบ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสายไฟ