สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยอยู่ที่ราว ๆ 4.8 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยและเมื่อนำตัวเลขผู้ป่วยโรคเบาหวานไปเทียบกับจำนวนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานในประเทศไทยที่มีจำนวนไม่ถึง 300 คน ทำให้จำนวนผู้ป่วยและจำนวนแพทย์ไม่สัมพันธ์กัน ผลกระทบที่เกิดคือ เมื่อจำนวนแพทย์น้อยกว่าจำนวนผู้ป่วย ทำให้การให้คำปรึกษาและการรักษาไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากต้องเกิดภาวะแทรกซ้อน และนำไปสู่การเสียชีวิต
ทางที่เราจะป้องกันการสูญเสียชีวิตได้ เราต้องรู้จักโรคเบาหวาน เข้าใจถึงสาเหตุของโรคและวิธีป้องกันที่จะทำให้เราไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคนเป็นโรคเบาหวาน
สาเหตุของโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิด เกิดจากอะไร?
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 – เกิดจากตัวเบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลาย ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และอาจมีผลมาจากพันธุกรรม, สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของแต่ละคนด้วย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 – ร้อยละ 90 เกิดจากร่างกายดื้ออินซูลิน หมายความว่าร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อินซูลินที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
นอกจากนี้ ยังมีโรคเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ และเกิดจากกลุ่มโรค MODY, การใช้ยาบางชนิด, การติดเชื้อบางอย่าง และยังพบว่าความเครียดสามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน
รู้ไหม? ความเครียดเป็นสิ่งกระตุ้นเร้าที่โรคเบาหวานชอบ
ความเครียดเป็นสาเหตุของหลายโรค หนึ่งในนั้น คือ โรคเบาหวาน ความเครียดสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอาการแย่ลงได้ เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนหลายอย่างเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอาการแย่ลง การขจัดความเครียดออกจากร่างกายในผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ วิธีการกำจัดความเครียด เช่น
- ฝึกนั่งสมาธิอย่างน้อย 20 นาที/วัน
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะขั้นพื้นฐาน การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขหรือ “เอ็นโดรฟิน” ออกมา สารแห่งความสุขนี้สามารถตัดทอนความเครียดของผู้ป่วยลงได้
อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอย่างไร?
จากสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากที่สุด โดยสาเหตุหลักมาจากกรรมพันธุ์และไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน อาหารจำพวกแป้ง ของหวานที่มีรสหวานจัด ขนมต่าง ๆ ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน และไม่ออกกำลังกาย
โดยโรคเบาหวานชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่ใช่ว่าคนอายุน้อยกว่า 30 ปีจะไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงเช่นกัน ปัจจัยหลักคือ อาหาร และในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีอายุน้อย มีความเสี่ยงในการควบคุมโรคได้ยากกว่าคนที่มีอายุเยอะ และเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งมักจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
การควบคุมและใส่ใจในเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เกือบทุกโรคบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจาก “อาหาร” อาหารมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง ไม่ตามใจปาก ก็จะส่งผลที่ดีต่อร่างกาย แต่หากตามใจปากอาจจะลำบากร่างกายที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ฉะนั้น การควบคุมอาหารจึงเป็นปัจจัยหลัก หากอยากห่างไกลโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานทั้ง 2 ระยะ อันตรายอย่างไร?
- ระยะแรก คือ ระยะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงแบบเฉียบพลันและมีภาวะขาดน้ำ อาการนี้เรียก “ภาวะช็อกน้ำตาล” หรือ Insulin Shock ภาวะนี้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะมีอาการ เช่น ใจสั่น อ่อนเพลีย ซึม
- ระยะที่สอง คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาในระยะเวลานาน และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ส่งผลให้เส้นเลือดพัง เส้นเลือดมีความเเข็งกว่าปกติและตีบตันง่าย ซึ่งถ้าเส้นเลือดทั่วร่างกายตีบจะส่งผลให้เส้นเลือดในสมองตีบด้วยเข่นกัน อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องตัดขาทิ้ง เรียกว่าระยะที่สองนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายทุกส่วน
รักษาอาการเบาหวานชนิดต่าง ๆ อย่างไร?
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 – การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือ การฉีดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนถูกทำลาย ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงทำให้โรคเบาหวานชนิดนี้ยากต่อการควบคุม หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้การฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง โดยแพทย์จะทำการสาธิตวิธีการฉีดให้ผู้ป่วยเรียนรู้ก่อนและสามารถกลับไปปฏิบัติตามได้ด้วยตัวเองเมื่ออาการเบาหวานกำเริบ และผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดติดบ้านไว้ เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน และหากในกรณีพิเศษ แพทย์อาจต้องใช้ยาช่วยลดคลอเรสเตอรอลร่วมในการรักษาด้วย
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 – ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ สามารถจัดการได้โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย และอาจมีการใช้ยาเบาหวานบางชนิดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดร่วมด้วย เช่น ยากลุ่มเมตฟอร์มิน ตัวยานี้จะทำงานโดยการลดการผลิตกลูโคสในตับ และเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 คือจำเป็นต้องมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดติดบ้านไว้เพื่อวัดระดับน้ำตาลในทุก ๆ วัน และในบางกรณี ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิด 2 อาจต้องมีการฉีดอินซูลินร่วมด้วย
โรคเบาหวานสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ใดอธิบายถึงวิธีการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ 100% มีแต่เพียง “ระยะสงบ” ของโรคเท่านั้น คือ ระยะไม่แสดงอาการใด ๆ และมีค่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ ภาวะสงบนี้อาจอยู่ยาวเป็นเดือน เป็นปี หรือหลายสิบปี ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
โรคเบาหวานจัดเป็น 1 ในโรคร้ายแรงที่คนไทยป่วยเป็นอันดับต้น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นของบทความ สาเหตุหลักเกิดจากการกินอาหารและพฤติกรรมส่วนบุคคล การควบคุมและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยพาเราออกจากจุดเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ แต่หากยังไม่มั่นใจ ลองหาตัวช่วยเพิ่มเติม เช่น ทำประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงไว้สักเล่มเพื่อให้อุ่นใจในยามเจ็บป่วย
สามารถดูข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัย ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันมะเร็ง รวมถึงประกันรถยนต์และประกันมอเตอร์ไซค์บนเว็บไซต์รู้ใจได้ตลอด 24 ชม. ซื้อง่าย ราคาดี และเชื่อถือได้ รวมถึงติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai