เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จักดีท็อกซ์ หรือการกำจัดสารพิษในร่างกายซึ่งมักจะมีความเชื่อที่ว่าดีท็อกซ์เป็นการลดความอ้วนซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เราไปดูข้อเท็จจริงของการทำดีท็อกซ์กันว่า ประโยชน์ของการดีท็อกลำไส้ ใครบ้างที่ไม่ควรทำดีท็อกซ์ และความเชื่อผิด ๆ ที่มีต่อการทำดีท็อกซ์
- 7 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดีท็อกลำไส้
- ดีท็อกซ์ คืออะไร? ทำวิธีไหนได้บ้าง?
- ประโยชน์ของการดีท็อกลำไส้
- ใครบ้างที่ไม่ควรดีท็อกลำไส้
- ข้อควรระวังในการดีท็อกลำไส้
แม้ว่าจะมีบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องของการดีท็อกซ์ร่างกายออกมามากมาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อที่ผิดกันอยู่เกี่ยวกับผลของการทำดีท็อกซ์ ความเชื่อผิด ๆ ที่่ว่านี้มีอะไรบ้าง
7 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดีท็อกลำไส้
1. ดีท็อกซ์ช่วยลดไขมันและช่วยลดน้ำหนักได้จริงมั้ย?
การทำดีท็อกซ์นั้น หลัก ๆ คือการขับของเสียออกจากร่างกาย ออกมาในรูปแบบของอุจจาระ เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว ผู้ที่ทำดีท็อกซ์จะรู้สึกตัวเบา สบายท้อง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า ดีท็อกซ์แล้วจะผอม จริง ๆ แล้วการขับถ่ายอุจจาระจะมีเพียงของเสียและน้ำเท่านั้น แต่กระบวนการดีท็อกซ์ไม่ได้ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป ความเชื่อผิด ๆ นี้ ทำให้หลาย ๆ คนทำดีท็อกซ์บ่อยมากจนเกินไป ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
2. ดีท็อกซ์ด้วยน้ำหมักผัก ผลไม้ จะช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้จริงมั้ย?
จริง ๆ แล้วน้ำหมักที่เราเห็นคนแชร์กันตามสื่อโซเชียล ไม่สามารถล้างสารพิษ ออกจากร่างกายได้ และยังทำให้ผู้ที่ดื่มกินเข้าไป เพิ่มสารพิษตกค้างให้กับตัวเองอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่า การดื่มน้ำหมักพวกนี้ หากไม่ได้ผ่านกระบวนการทำอย่างถูกวิธีและถูกสุขอนามัย อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหารในระยะยาว
3. ดีท็อกซ์ด้วยน้ำผลไม้ดูดซึมสารอาหารในของเหลวได้มากกว่าของแข็งจริงมั้ย?
การดีท็อกซ์ด้วยวิธีการดื่มน้ำผลไม้เพราะเชื่อว่า สามารถดูดซึมสารอาหารจากของเหลวได้มากกว่า เป็นความเชื่อที่ไม่ได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานใดมาสนับสนุนเลย การดื่มแต่น้ำผลไม้ติดกันนาน ๆ โดยไม่ทานอะไรเลย นอกจากไม่มีหลักฐานว่าดูดซึมได้มาก หรือช่วยขับพิษได้ ยังไม่แน่นอนว่าจะช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย เพราะในน้ำผลไม้บางประเภทที่มีการแต่งรสด้วยน้ำตาล ก็ยิ่งทำให้อ้วน รวมถึงอาจหิวบ่อยเพราะไม่มีอะไรที่ช่วยให้อิ่มท้องเลย
4. ดีท็อกซ์ด้วยอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มดีท็อกซ์ จะช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้จริงมั้ย?
อาหารเสริม เครื่องดื่มดีท็อกซ์ หรือยาดีท็อกซ์ ที่เราเห็นในโฆษณา หรือวางขายกันตามร้านสะดวกซื้อ ตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ เครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่สามารถช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้
5. ดีท็อกซ์ด้วยการสวนล้างลำไส้ ทำเองที่บ้านก็ได้จริงมั้ย?
ดีท็อกซ์ลำไส้ด้วยการสวนล้างลำไส้ เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะเสี่ยงต่อเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน รวมถึงอาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการสวนล้างลำไส้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
6. การกินยาระบาย เป็นการดีท็อกซ์ชนิดหนึ่งจริงมั้ย?
ความจริงคือ ยาระบายมีฤทธิ์ในการช่วยดึงน้ำออกจากผนังลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกมาได้ง่าย แต่ยาระบายไม่ได้มีคุณสมบัติในการล้างสารพิษที่สะสมตามผนังลำไส้ และการใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว
7. การอดอาหารหรือกินอาหารเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ
การทานอาหารอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน หรือการอดอาหารนาน ๆ อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร หมดพลังงาน หน้ามืด มึนหัว หมดพลังงาน และยิ่งอันตรายสำหรับคนที่เลือกทานอาหารที่มีฤทธิ์ช่วยการขับถ่าย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำจนช็อกได้เลย
ดีท็อกซ์ คืออะไร? ทำวิธีไหนได้บ้าง?
ดีท็อกซ์ หรือ Detoxification เป็นคำที่ใช้เรียกกระบวนการการกำจัดสารพิษ สิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในร่างกายออกมานั่นเอง โดยส่วนใหญ่จะนิยมทำการดีท็อกซ์ลำไส้ แต่การดีท็อกซ์นั้นก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ยิ่งในคนที่มีโรคประจำตัวทางที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์ก่อนทำ ซึ่งโดยทั่วไปวิธีการดีท็อกซ์ มีทั้งหมด 3 วิธี
- ดีท็อกซ์ด้วยการรับประทาน – เป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ เน้นอาหารที่เป็นวัตถุดิบธรรมชาติ ที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด
- ดีท็อกซ์ด้วยการสวนลำไส้ – จัดอยู่ในหมวดแพทย์ทางเลือก และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะช่วยกำจัดสารพิษตกค้างภายในลำไส้ และช่วยลดอาการท้องผูก แต่ต้องทำโดยผู้ชำนาญ เช่น แพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะวิธีสวนลำไส้นั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ดีท็อกซ์ด้วยการอดอาหาร – ใช่แล้ว การอดอาหารที่ถูกต้องถือเป็นการดีท็อกซ์ โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่เลียนแบบพฤติกรรมการจำศีลของสัตว์ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พัก ลดการสะสมของเสียภายในลำไส้ ปกติจะใช้เวลา 1-2 วัน โดยทั้ง 2 วันนี้ ดื่มได้แต่น้ำเปล่า หรือน้ำผักผลไม้เท่านั้น
ประโยชน์ของการดีท็อกลำไส้
- การดีท็อกซ์ลำไส้ช่วยแก้ปัญหาท้องผูก
- บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องเสียสลับกับท้องผูก
- การดีท็อกซ์ลำไส้มีส่วนทำให้น้ำหนักลดลงชั่วคราว แต่ไม่ใช่วิธีลดความอ้วน
- มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ เนื่องจากของเสียที่ตกค้างเป็นเวลานาน (ท้องผูก) ที่เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้
- มีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น เนื่องจากลำไส้ดูดซึมได้ดีขึ้น
ใครบ้างที่ไม่ควรดีท็อกลำไส้
สำหรับบางคนที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ไม่แนะนำให้ทำดีท็อกซ์ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพได้
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ, โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรัง, ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
- ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดลำไส้
- ผู้ที่เป็นโรคไต
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขข้างต้น หากทำดีท็อกซ์จะมีความเสี่ยงที่ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไตวาย ติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ข้อควรระวังในการดีท็อกลำไส้
- ระวังร่างกายขาดน้ำ สำหรับคนที่ทำดีท็อกซ์ลำไส้ด้วยตัวเอง เพราะต้องการที่จะลดน้ำหนัก อาจทำให้เสียน้ำในร่างกายมากจนเกินไปจนเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
- หากทำเอง โดยไม่ระวัง หรือทำผิดวิธี อาจเสี่ยงทำให้ลำไส้ทะลุได้ เนื่องจาก กะปริมาณน้ำไม่เป็น ทำให้ใช้น้ำเยอะเกินไป หรือใช้อุปกรณ์ผิดวิธีทำให้ลำไส้โป่งจนแตกจากแรงดันได้ ทีนี้แหละ เรื่องใหญ่เลยล่ะ
- อาจเกิดการติดเชื้อ และอาจล้างแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายออกไปด้วย
- อาจทำให้เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุล เพราะลำไส้เป็นอวัยวะที่ดูดซึมน้ำและสารอาหาร เมื่อทำการสวนล้างลำไส้จึงเกิดการแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย และของเหลวที่สวนเข้าไปในนั้น หากส่วนผสมเข้มจนเกินไป อาจทำให้เกลือเเร่ในร่างกายเสียสมดุลได้
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)