คนใช้รถทั้งหลายเคยสงสัยไหมว่าจริง ๆ แล้วรถมอเตอร์ไซค์ควรขับเลนไหน ที่เขาบอกว่าขับไหล่ทางสิถึงจะถูกต้อง ปลอดภัย แต่อีกมุมหนึ่งโต้ว่า ขี่เร็วต้องอยู่เลนขวาสิ! ความจริงแล้ว “ถูกใจหรือถูกกฎหมาย” แบบไหนกันแน่ที่ถูกต้อง รู้ใจได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้วในเรื่องนี้ ไปเจาะลึกเรื่องกฎหมายการขับขี่รถจักรยานยนต์ แบบถูกต้องจริง ๆ ให้เข้าใจตรงกันทั้งคนใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ความปลอดภัยบนท้องถนนจะเพิ่มขึ้นได้ ตามไปดูกันเลย
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- กฎหมายจราจรเบื้องต้นที่คนขี่มอเตอร์ไซค์ควรรู้
- ขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องอยู่เลนไหนถึงจะถูก?
- ขับรถมอเตอร์ไซค์แทรกไปมาระหว่างเลนได้มั้ย?
- ประมาทร่วมคืออะไร ใครเป็นฝ่ายรับผิดชอบ?
กฎหมายจราจรเบื้องต้นที่คนขี่มอเตอร์ไซค์ควรรู้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ขับขี่ปลอดภัย” เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจมาก ๆ โดยเฉพาะกฎหมายการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่สิงห์นักบิดจำเป็นต้องรู้หน่อย ซึ่งกฎหมายจราจรเบื้องต้นที่ควรรู้ มีดังนี้
- ห้ามใช้ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เขตเทศบาล และนอกเขตไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในกรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดความเร็วไว้ ต้องห้ามขับขี่เกินอัตราความเร็วที่กำหนด
- ห้ามบรรทุกของเกิน 50 กิโลกรัม และนั่งซ้อนท้ายได้เพียง 1 คน ไม่ควรซ้อน 3 คน
- เมื่อต้องการให้คันอื่นแซงหรือผ่านขึ้นหน้า ต้องให้ไฟสัญญาณกะพริบที่ติดอยู่ท้ายรถ หรือทางด้านซ้ายของรถ
- ก่อนเลี้ยว, เปลี่ยนเลน, หยุด, จอดรถ, หรือลดความเร็ว ต้องให้สัญญาณด้วยมือหรือแขน หรือไฟสัญญาณเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร
- รถที่มีความเร็วช้า หรือมีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่น ๆ ที่ขับในทิศทางเดียวกัน ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางด้านซ้ายเท่าที่จะทำได้
- ระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้า ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น
ทำผิดกฎหมายจราจรมีโทษยังไง?
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกประกาศปรับเพิ่มบทลงโทษกฎหมายจราจรใหม่ สำหรับหลายกรณีความผิดสำหรับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2565 เป็นต้นมา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกนิรภัย อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต หรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย อัตราโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- จอดรถมอเตอร์ไซค์ในที่ห้ามจอด มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- เมาแล้วขับ กรณีทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เมาแล้วขับ กรณีทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท
การขับรถประมาท ไม่เคารพกฎหมายจราจร นอกจากจะมีโทษปรับตามกฎหมายจราจรใหม่แล้ว ยังก่อให้เกิด “ความเสียหาย” ตามมาไม่รู้จบ ยิ่งถ้าหากรถมอเตอร์ไซค์ของคุณเป็นบิ๊กไบค์ บอกเลยว่ามีปาดเหงื่อกับค่าใช้จ่ายที่มหาศาลและอาจต้องเจ็บตัวอีกด้วย แต่แทนที่เราจะเสียเงินก้อนโตไปกับการชดใช้ค่าเสียหายหรือซ่อมรถ สู้เก็บเงินไว้แล้วแบ่งส่วนเล็ก ๆ มาซื้อประกันรถมอเตอร์ไซค์ ที่รู้ใจลดสูงสุด 30% ปรับแผนได้ตามใจ แถมผ่อนสบาย 10 เดือน เช็คราคาออนไลน์ฟรีตลอด 24 ชม. ไม่ต้องใส่เบอร์โทรหรืออีเมล
ทำผิดกฎหมายจราจร ระวังถูกหักแต้มใบขับขี่เหลือ 0 ถูกพักใช้ใบขับขี่!
ระบบการตัดแต้มใบขับขี่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา โดยคนที่มีใบขับขี่ทุกคน จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎหมายจราจร จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยคะแนนที่ถูกตัดไปจะได้รับคืนต่อเมื่อผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก หรือรอให้ครบ 1 ปี จะได้รับคะแนนที่ตัดไปคืนอัตโนมัติ ยกเว้นหากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน และหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องอยู่เลนไหนถึงจะถูก?
สำหรับประเด็นที่หลายคนสงสัยกันมากที่สุด คือ รถมอเตอร์ไซค์ควรขับเลนไหน ถึงจะไม่ทำผิดกฎหมายจราจรเบื้องต้น? ในตอนที่ สอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ จริง ๆ มีข้อมูลนี้ระบุไว้อยู่ แต่ถ้าใครจำไม่ได้ตามไปดูกฎหมายการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องในพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กันเลยดีกว่า
มาตรา 33
ระบุว่า “ผู้ขับขี่ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และต้องไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ” เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
- ด้านซ้ายของทางเดินรถมีสิ่งกีดขวาง หรือถูกปิดการจราจร
- ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
- ทางเดินรถนั้นกว้างไม่ถึง 6 เมตร
มาตรา 34
ในข้อกฎหมายนี้ของการสอบใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ระบุว่า “ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุด หรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง” เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
- ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
- ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวาง หรือถูกปิดการจราจร
- จะต้องเข้าช่องให้ถูกต้อง เมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
- เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
- เมื่อผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ขับด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย
มาตรา 35(2)
ระบุว่า “รถที่มีความเร็วช้า หรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่น ที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะทำได้”
ขับรถมอเตอร์ไซค์แทรกไปมาระหว่างเลนได้มั้ย?
ด้วยความที่รถมอเตอร์ไซค์คันเล็ก สามารถแทรกไปมาระหว่างเลนได้ ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์แบบนั้นเป็นปกติ โดยที่ไม่รู้เลยว่าจริง ๆ “ผิดกฎหมาย” เนื่องจาก พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ได้กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่ขับรถในลักษณะดังต่อไปนี้
- ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
- ในขณะหย่อนความสามารถในการที่จะขับรถ
- ในลักษณะกีดขวางการจราจร
- ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ที่อาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เช่น ถึงทางแยกไม่ลดความเร็ว ขับปาดซ้าย ปาดขวา เป็นต้น
- ขับรถคร่อม ทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ ยกเว้นการเปลี่ยนช่อง การเลี้ยว หรือกลับรถ
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
- ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจมองเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง เช่น ขับเป๋ไปเป๋มา กระจกเป็นฝ้าจนมองไม่เห็นทางข้างหน้า
- ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีสาเหตุที่สมควร ยกเว้น รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วย
- ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ยกเว้นการใช้หูฟัง Speakerphone และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ
ซึ่งการขี่รถมอเตอร์ไซค์ทับเส้นแบ่งเลนไปเรื่อย ๆ (แทรกไปมาระหว่างเลน) มีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ตามมาตรา 157 นอกจากนี้ยังอาจเข้าข่ายความผิดฐานขับรถโดยไม่คำถึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 160 วรรค 3 ด้วยเช่นกัน
ประมาทร่วมคืออะไร ใครเป็นฝ่ายรับผิดชอบ?
คำว่าประมาทร่วม หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาแต่ไม่เข้าใจความหมายเชิงลึก จริง ๆ บริบทของมันคือ “ประมาทร่วมเป็นเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุที่เกิดจาก ‘ความประมาท’ ของทั้ง 2 ฝ่าย” ซึ่งในทางกฎหมายจะใช้คำว่า “ต่างฝ่ายต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”
โดยเหตุการณ์ขับรถโดยประมาท (คดีประมาทร่วม) ที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือ รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ขับคู่กันมา แล้วเบียดหรือปาดกัน ไม่มีใครยอมใคร ทำให้เกิดความเสียหายคาเส้นถนนด้วยกันทั้งคู่ แบบนี้จะเรียกว่าขับรถประมาททั้งคู่ และในท้ายที่สุดต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นร่วมกัน
แม้ว่ารถมอเตอร์ไซค์จะเป็นยานพาหนะคันเล็ก ๆ สามารถขับไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก แต่ไม่สามารถขับแทรกไปมาระหว่างเลนได้ตามใจชอบ รวมถึงยังควรขับรถในเส้นทางเดินรถที่กำหนดด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายจราจร ควรยึดหลักขับขี่ปลอดภัย มีสติ เพราะการขับรถประมาทนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหาย ความสูญเสียแล้ว ยังมีโทษทางกฎหมายตามมาอีกมากมาย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ช่องเดินรถ | ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องสำหรับการเดินรถ โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้ |
ยานพาหนะ | วัตถุหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายหรือขนส่งคนหรือสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ เช่น รถ เครื่องบิน เรือ เป็นต้น |
อุบัติเหตุ | เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด โดยเกิดขึ้นกระทันหัน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน |