บรรทุกจักรยานอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย
กลายเป็นการออกกีฬายอดฮิตไปแล้วยุคนี้ สำหรับการปั่นจักรยาน มีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น มีอีเวนท์ให้ไปร่วมปั่นมากขึ้น รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้เปิดเส้นทางการปั่นจักรยานกันหลากหลายรูปแบบ จึงมีหลายคนนอกจากปั่นจักรยานออกกำลังกายอยู่แถวๆ บ้านแล้ว อยากพาจักรยานคู่ใจไปหาประสบการณ์นอกพื้นที่กันบ้าง ปัญหาคือเจ้าพาหานะที่มีอยู่นั้นจะบรรทุกจักรยานไปด้วยอย่างไร
จักรยานที่นิยมกันในกลุ่มผู้เล่นแบบจริงจังนั้น ก็มีตั้งแต่ระดับหมื่นไปจนระดับแสนบาท ถอดประกอบได้อย่างง่ายดาย บ้างก็ว่าถอดล้อออกแล้วใส่เบาะหลังไปสำหรับรถเก๋ง หรือพับเบาะแล้วถอดล้อก็ใส่ได้สะดวก ยิ่งรถกระบะง่ายไปใหญ่ ถอดล้อเอาเชือกผูกใส่ได้หลายคันด้วย
มันไม่จบแค่ตรงนั้นสิครับ ระหว่างทางจะไปถึงต้องกระเด้งกระดอนกันหลากหลายรูปแบบเส้นทาง กว่าจะไปถึงจักรยานคันเก่งอาจเสียหายได้ รวมถึงรถคุณเองนั่นแหละที่จะได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเบาะขาดเป็นรู ภายในห้องโดยสารมีรอยขูดข่วน และอีกอย่างถ้าต้องไปหลายคนมีหลายคัน สัมภาระอีกมากมาย จะทำอย่างไรกันทีนี้
บรรดาผู้ผลิตออฟชั่นสำหรับจักรยานจึงได้คิดค้นตัวยึดสำหรับผู้ใช้รถจักรยานที่จะนำรถของท่านโดยสารไปกับยานพาหนะของท่าน ใช้ได้กับรถยนต์ทุกประเภท ที่เรียกกันว่า “แร็ค” (Rack) แร๊คจักรยานเป็นตัวยึดระหว่างรถของท่านกับรถจักรยาน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ห้าพันกว่าไปจนถึงหนึ่งหมื่นกว่าบาทแล้วแต่รูปแบบการใช้งาน
ในประเภทรถเก๋ง รวมถึงรถแวน จะมีแร๊คจักรยานด้วยกัน 2 แบบคือ ติดตั้งไว้บนหลังคา ถอดล้อหน้าแล้วยึดเข้ากับแร็ค กับติดตั้งไว้ที่ท้ายรถ โดยแร็คจะยึดติดกับฝากระโปรงท้าย จะได้ทั้งแบบยึดติดทั้งคัน (ไม่ต้องถอดล้อ) หรือแบบถอดล้อก็ได้ จะใส่ได้เต็มที่แค่ 2 คันเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับขนาด และประเภทของจักรยาน)
ส่วนพวกรถ SUV หรือ PPV นั้น จะบรรทุกจักรยานไปแบบรถเก๋งก็ได้ หรือจะใช้วิธีพับเบาะแถว 2 หรือแถว 3 แล้วติดตั้งชุดแร็คไว้ที่พื้นรถด้านพื้นที่เก็บสัมภาระ (หันหน้าจักรยานออกท้ายรถ) ถอดล้อแล้วใส่ได้เลย ได้เต็มที่ 2 คันเช่นกัน เพราะจะเหลือเนื้อที่โดยสารได้แค่คนขับ กับผู้โดยสารเท่านั้น
รถกระบะสบายสุด ทั้งแบบ 4 ประตู และแบบแค็บ ใช้แร๊คจักรยานแบบเป็นคานตรงยึดขวางกระบะ แล้วมีตัวยึดดุมล้อมาล็อคกับคานแร็คอีกที ใส่ได้หลายคันอยู่ ไป 4 คน จักรยาน 4 คันสบาย
คราวนี้มาดูเรื่องความปลอดภัยกันบ้าง ในแง่กฎหมายมีกำหนดไว้ว่า ห้ามบรรทุกของเกินกว่าตัวรถออกมา แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ใช้อะลุ่มอล่วยกันมา คือถ้าจำเป็นให้แสดงสัญลักษณ์ให้คันอื่นได้เห็น อย่างเช่นผูกผ้าสีแดงไว้เป็นสัญลักษณ์เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ขับขี่ต้องมั่นตรวจสอบจุดยึดเป็นระยะด้วยว่า ยังแน่นมั่นคงอยู่หรือไม่ และประเภทที่บรรทุกจักรยานไว้บนหลังคา ควรวัดความสูงของตัวรถที่เพิ่มขึ้นไปด้วย เส้นทางปกติไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่เจออยู่บ่อยๆ คือ ทางกลับรถใต้สะพานต่างจังหวัดนั้นเตี้ยมากๆ ให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินไปกับค่าแร๊คจักรยานเหล่านี้ ถ้าในกรณีต้องเอาจักรยานใส่รถไปจริงๆ นั้น สามารถทำได้ หาผ้าใบ หรือแผ่นพลาสติกมาลองที่เบาะ หรือที่พื้น หลีกเลี่ยงที่จะให้หัวน็อตจากตัวจักรยานทิ่มลงที่สีรถหรือเบาะ ขับรถด้วยความเร็วต่ำ โดยเฉพาะทางขรุขระ เพราะจะทำให้ตัวจักรยานนั้นเคลื่อนไหวออกจากจุดที่เราวางไว้
เพียงแค่นี้สิงห์นักปั่นก็มีความสุขกับการปั่นจักรยานออกกำลังกายกันได้แล้วครับ
เมื่อรถยนต์เกิดเหตุ ไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป รู้ใจพร้อมสำหรับคุณเสมอ ด้วยระบบออนไลน์ 24 ชั่วโมง คลิกเช็คเบี้ย!