ด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยที่มีอยู่มากมาย รวมถึงรูปทรงการดีไซน์ตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ค่อยคุ้น พยายามปรับเบาะรถยนต์ที่ตัวเองคิดว่ามองเห็นชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกลจนเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และบางครั้งจะเกิดบาดเจ็บมากขึ้นจากอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถนั่นเอง ในกรณีที่ท่านั่งไม่ถูกต้อง
อ่านเพิ่มเติม: เคล็ดลับการดูแลเบาะหนังให้ดูดีไปนานๆ
ดังนั้นการปรับเบาะรถยนต์และท่านั่งขับรถที่ถูกต้องจึง มีผลมากต่อความปลอดภัยในการขับรถ รวมถึงความปลอดภัยเมื่อเกิดการชนด้วย การปรับเบาะรถยนต์ที่ถูกต้องทำได้ไม่ยาก แค่ใช้ฝ่าเท้า ไม่ใช่ปลายเท้า เหยียบแป้นคลัตช์ให้สุด หรือถ้าเป็นเกียร์ออโต้ก็ใช้ฝ่าเท้าเหยียบแป้นเบรก แล้วเลื่อนตัวเบาะนั่งให้เข่างอเล็กน้อย นั่นเป็นตำแหน่งของเบาะนั่งที่เหมาะสม
ส่วนการปรับพนักพิงที่ถูกต้อง จะต้องไม่เอนไปข้างหลังหรือตั้งเกินไป ถ้าปรับพอดี จะเช็คได้โดย ใช้มือซ้ายจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 9 นาฬิกา มือขวา 3 นาฬิกา แล้วข้อศอกต้องงอเล็กน้อย แต่แผ่นหลังต้องแนบกับพนักพิงตลอดเวลา สำหรับผู้ขับขี่ที่มีรูปร่างค่อนข้างเตี้ย บางครั้งปรับได้พอดีแล้ว แต่รู้สึกว่าลำตัวช่วงหน้าอกอยู่ใกล้พวงมาลัยมากเกินไป ให้ปรับพนักพิงเอนไปด้านหลังเล็กน้อย ลดตำแหน่งพวงมาลัยให้ต่ำลง แล้วใช้เบาะลองนั่งเสริมอีกที จะทำให้การมองเห็นด้านหน้าตัวรถยนต์ดีขึ้น หรือใช้วิธีการวัดด้วยการเอามือไปวางไว้บนสุดของวงพวงมาลัย แถวๆ ข้อมือต้องแตะกับพวงมาลัยจึงจะถูกต้อง ถ้าวงพวงมาลัยอยู่เลยไปถึงกลางฝ่ามือหรือโคนนิ้ว แสดงว่าปรับพนักพิงเอนเกินไป ถ้าวงพวงมาลัยอยู่ชิดเลยข้อมือเข้ามาแสดงว่านั่งชิดเกินไป
หมอนรองศีรษะมีความสำคัญเช่นกัน ควรปรับให้พอดีโดยให้เอนศีรษะแล้วพิงช่วงกลางหมอนพอดี แต่ศีรษะไม่ต้องพยายามพิงหมอนเวลาขับ เพราะหมอนรองศีรษะมีไว้รองรับเมื่อเกิดการชนแล้วศีรษะจะได้สะบัดไปด้านหลังน้อย ไม่ใช่ไว้พิงตอนขับ เข็มขัดนิรภัยถ้าปรับสูง-ต่ำได้ ควรปรับต่อจากการปรับเบาะ จะได้พอดีกัน ที่ถูกต้องสายเข็มขัดนิรภัยต้องพาดจากไหปลาร้าเฉียงลงมาที่สะโพก ส่วนด้านล่างก็พาดอยู่แถวกระดูกเชิงกราน อย่าให้สายพาดคอ หรือห้อยเลยหัวไหล่ลงไป
อ่านเพิ่มเติม: 5 สิ่งที่ต้องระวัง เมื่อคุณมีเด็กอยู่ในรถ
พวงมาลัยของรถรุ่นใหม่ๆ มักปรับสูงต่ำได้ ก็ควรปรับให้พอดี คือ ไม่สูงเกินไปเพราะจะเมื่อยเมื่อขับนานๆ และไม่ต่ำเกินไปจนติดต้นขา กระจกมองข้างและกระจกมองหลังเปรียบเสมือนตาหลังของคนขับ กระจกมองข้างควรปรับไม่ก้มหรือเงยเกินไป และปรับให้เห็นด้านข้างของตัวรถเรานิดๆ อย่าให้เห็นแต่ทางด้านหลังล้วนๆ ส่วนกระจกมองหลังก็ปรับให้เห็นด้านหลังเป็นมุมกว้างที่สุด ไม่ใช่ปรับไว้ส่องหน้าตัวเองแบบที่หลายคนทำกัน
ซึ่งตามหลักจริงๆ แล้ว การปรับเบาะรถยนต์ให้ท่านั่งถูกต้องและปลอดภัยมีจุดหลักๆ เพียงไม่กี่จุด และสามารถปฏิบัติได้ง่าย เพียงทำให้เคยชิน เพราะยังมีผู้ขับขี่รถยนต์อีกหลายๆ คน นั่งขับรถด้วยท่าทางแปลกๆ กันอยู่มาก ซึ่งอาจเกิดจากการปลูกฝังมาผิดๆ ตั้งแต่หัดขับรถใหม่ๆ รวมถึงเน้นความสบายของตัวเองเป็นหลัก และคิดว่าขับแบบนี้ก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย เราจึงพบเห็นกันบ่อยว่าอุบัติเหตุที่ดูเพียงเล็กน้อย และผู้ขับขี่บาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิตก็มี แล้วไปโทษระบบความปลอดภัยในรถ คือถ้าใช้ไม่ถูกวิธีมันก็ไม่สามารถปกป้องอะไรได้เลย ยิ่งจะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำไป
อ่านเพิ่มเติม: รายละเอียดความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พรบ.)
ที่สำคัญการปรับเบาะรถยนต์และท่านั่ง จะต้องทำเมื่อจอดรถในที่ปลอดภัยเท่านั้น ไม่ควรปรับในขณะรถวิ่งอยู่ หรือจอดอยู่บนถนน เพราะบางครั้งเรายังปรับไม่เสร็จแล้วต้องเลื่อนรถอาจเกิดอุบัติเหตุได้
หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เรียกหา “รู้ใจ” การันตีถึงที่เกิดเหตุภายใน 30 นาที คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้ง พรบ.และ ประกันชั้น 1 แบ่งชำระเบาๆ ดอกเบี้ย 0% 10 เดือน เริ่มคุ้มครองทันที พร้อมบริการช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีรถเสีย ฟรี 1 ปี คลิกเช็คเบี้ย! และซื้อประกันชั้น 1 กับรู้ใจ.com เลยวันนี้