ส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ที่เป็นเหมือนหัวใจในการขับเคลื่อนของรถยนต์แต่หลาย ๆ คนมักมองข้ามคือ หม้อน้ำรถยนต์ และหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการดูแล ไปจนถึงเรื่องการเติม น้ำยาหล่อเย็นจะสามารถเติมน้ำเปล่าแทนได้หรือเปล่า วันนี้รู้ใจได้ลิสต์ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดูแลรถยนต์ที่ถูกต้อง มาให้คนรักรถทำความเข้าใจเพิ่มเติม อะไรบ้างที่คนใช้รถทุกคนต้องรู้ ตามไปดูกันในบทความนี้
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- หม้อน้ำรถยนต์คืออะไร สำคัญกับรถยนต์แค่ไหน?
- อาการโอเวอร์ฮีตของเครื่องยนต์คืออะไร?
- พัดลมหม้อน้ำคืออะไร เกี่ยวข้องกับหม้อน้ำรถยนต์ยังไง?
- เติมน้ำเปล่า-น้ำประปาลงหม้อน้ำรถยนต์ เสี่ยงรถพังจริงมั้ย?
- น้ำยาหล่อเย็นดีกับเครื่องยนต์ยังไง?
หม้อน้ำรถยนต์คืออะไร สำคัญกับรถยนต์แค่ไหน?
เมื่อความร้อนไม่ถูกกับการทำงานของเครื่องยนต์ และหม้อน้ำนี่แหละคือส่วนที่จะทำหน้าที่ไม่ให้เครื่องยนต์ “ร้อนเกินไป” ทำความเข้าใจกันก่อน ว่าหม้อน้ำรถยนต์ (Car Radiator) เป็นอุปกรณ์หลักที่สำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการทำงานของเครื่องยนต์รถโดยตรง หน้าที่หลัก ๆ ของมันคือ ช่วยระบายความร้อนส่วนเกินออกจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และทำหน้าที่หล่อเย็นให้กับเครื่องยนต์รถ เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนสูงเกินไปขณะทำงาน แถมยังช่วยให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
หม้อน้ำรถยนต์ มีกี่ประเภท?
เรื่องนี้อาจไม่สำคัญสำหรับรถใหม่ แต่รถที่มีอายุอานามมากแล้วต้องรู้หน่อย หากถึงวันที่ต้อง “เปลี่ยนหม้อน้ำ” มาทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือ ประเภทหม้อน้ำรถยนต์ แบ่งออกตามวัสดุที่ใช้ ดังนี้
- หม้อน้ำทองแดง ได้รับความนิยมมาก ๆ สมัยก่อน พบได้ในรถเก่าที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- ผลิตจากทองเหลืองผสมทองแดง ระบายความร้อนได้ดีมาก แม้จะมีความร้อนสะสมอยู่บ้างเล็กน้อย
- ผลิตจากทองแดงล้วน ๆ ระบายความร้อนได้ดีกว่า แต่ราคาค่อนข้างสูง และบางรุ่นต้องสั่งทำเท่านั้น
- หม้อน้ำอะลูมิเนียม มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาไม่แพง แถมยังใช้ทั่วไปในปัจจุบัน มีหน้าที่ในการระบายความร้อนได้ดี สามารถแบ่งแยกย่อยได้อีก 2 แบบคือ
- แบบที่ฝาเป็นพลาสติก
- แบบที่เป็นอะลูมิเนียมทั้งอัน ราคาแพงกว่า แถมยังหาซื้อได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จำเป็นต้องสั่งทำ
นอกจากนี้ยังแบ่งประเภทหม้อน้ำรถยนต์ได้จาก “ขนาดเครื่องยนต์” ได้อีกด้วย ขนาดเครื่องยนต์ที่ต่างกัน การใช้หม้อน้ำย่อมต่างกันออกไป รวมถึงยังมีเรื่อง “รูปแบบเกียร์” ไม่ว่าจะเป็นหม้อน้ำเกียร์ออโต้หรือหม้อน้ำเกียร์กระปุกยังใช้งานรูปแบบต่างกันอีก แนะนำว่าควรทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดี เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง
อาการโอเวอร์ฮีตของเครื่องยนต์คืออะไร?
อาการโอเวอร์ฮีตของเครื่องยนต์ เกิดจากหม้อน้ำรถยนต์มีปัญหา เช่น น้ำในหม้อน้ำแห้ง ซึ่งมาจากการใช้งานและไม่ได้ตรวจเช็คน้ำในหม้อน้ำเลย หรืออาจเกิดจากการชำรุดของหม้อน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตัวท่อ ฝาหม้อน้ำ หรือตัวหม้อน้ำรั่วซึม ทำให้น้ำยาหล่อเย็นไหลออก จนไม่สามารถระบายความร้อนออกจากเครื่องยนต์ได้ตามปกติ
ในกรณีที่พัดลมหม้อน้ำชำรุด จะทำให้เครื่องยนต์ร้อนจนโอเวอร์ฮีตได้เช่นกัน หากปล่อยไว้อาจทำให้เครื่องดับ ไม่สามารถขับต่อได้ ยิ่งถ้าร้อนจนทำให้เครื่องยนต์เจออาการ “ฝาสูบโก่ง” บอกเลยว่าเรื่องใหญ่ เสียเงินซ่อมเยอะแน่นอน เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังในเรื่องนี้ให้มาก ๆ อย่าได้ปล่อยปละละเลยการดูแลรถยนต์เด็ดขาด
หลังจากให้ความสำคัญในเรื่องของหม้อน้ำรถยนต์แล้ว “ประกันภัยรถยนต์” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากรถยนต์ของคุณเกิดปัญหา จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมา หรือเครื่องยนต์ร้อนจนต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ประกันรถที่รู้ใจ เลือกเพิ่มบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน 24 ชม. ได้ และยังเลือกปรับแต่งแผนได้ตามใจ ประหยัดสูงสุด 30% เช็คราคาไม่ต้องใส่เบอร์หรืออีเมล
พัดลมหม้อน้ำคืออะไร เกี่ยวข้องกับหม้อน้ำรถยนต์ยังไง?
อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ อย่าง “พัดลมหม้อน้ำ” ซึ่งทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับน้ำในหม้อน้ำรถยนต์ ในตอนที่น้ำในหม้อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเมื่ออุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำเย็นลง จะหยุดการทำงานไปเอง เนื่องจากมีเทอร์โมสวิตช์ในการจับอุณหภูมิ และปิด-เปิดพัดลมหม้อน้ำ เพื่อให้น้ำอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
แม้ว่าพัดลมหม้อน้ำจะไม่ใช่อุปกรณ์ที่พังหรือชำรุดได้ง่าย แต่การดูแลรถยนต์ที่เหมาะสมถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ แนะนำให้เช็คว่าใบพัดแตกหักหรือไม่ การใช้งานต่าง ๆ เช่น ระบบไฟยังดีอยู่หรือเปล่า
โดยวิธีดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง คือ ลองสตาร์ตรถยนต์แล้วสังเกตพัดลม และอุณหภูมิพร้อม ๆ กัน ในระหว่างที่สตาร์ตเครื่องยนต์พัดลมจะยังไม่หมุน ควรรอจนกว่าเครื่องยนต์ร้อนพัดลมถึงจะเริ่มทำงาน และหลังจากที่อุณหภูมิเย็นลงจะหยุดทำงานเองทัน หากมีการทำงานที่ผิดไปจากนี้ แนะนำให้นำรถเข้าไปตรวจเช็คโดยด่วน
เติมน้ำเปล่า-น้ำประปาลงหม้อน้ำรถยนต์ เสี่ยงรถพังจริงมั้ย?
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยไม่แพ้กัน คือ สามารถเติมน้ำเปล่าหรือน้ำประปาแทนน้ำยาหล่อเย็นได้มั้ย จะทำให้เครื่องพังหรือเปล่า? คำตอบคือสามารถเติมได้ แต่แนะนำให้เติมเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ไม่มีน้ำยาหล่อเย็นจะดีกว่า เนื่องจากน้ำเปล่าหรือน้ำประปาจะมีประสิทธิภาพที่น้อยกว่า ทั้งจุดเดือดเร็วกว่า แถมยังอาจทำให้หม้อน้ำรถยนต์เกิดคราบตะกรัน รั่วซึมได้ง่ายด้วยอีกต่างหาก
นอกจากนี้หากรถยนต์ของคุณติดตั้งระบบแก๊ส LPG/CNG อาจทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหาย เนื่องจากระบายความร้อนได้ไม่ดี รวมถึงอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาไม่รู้จบได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นหากไม่ได้ฉุกเฉินอะไร แนะนำให้ใช้น้ำยาหล่อเย็นจะดีกว่า
น้ำยาหล่อเย็นดีกับเครื่องยนต์ยังไง?
อันดับต่อมาเรามาทำความเข้าใจน้ำยาหม้อน้ำอย่าง “น้ำยาหล่อเย็น” กันบ้างดีกว่า น้ำยาหล่อเย็นหรือ Coolant แบ่งได้หลากหลายคุณภาพ และหลายราคา ประโยชน์ของมันคือจะช่วยขยับจุดเดือดของน้ำ ที่ไหลเวียนอยู่ในระบบระบายความร้อน
ส่งผลให้น้ำในระบบระบายความร้อนเดือดช้าลง แถมยังถ่ายเทความร้อนในระบบหล่อเย็นได้เร็วขึ้น ถือเป็นการยืดอายุการใช้งานเครื่องยนต์ และลดการสึกหรอได้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญยังช่วยป้องกันการเกิดตะกรันในหม้อน้ำรถยนต์ หรือสนิมที่อาจเกิดขึ้นในระบบหล่อเย็น
เติมน้ำยาหม้อน้ำ ขั้นตอนที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง?
สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่าเติมน้ำยาหม้อน้ำด้วยตัวเองได้มั้ย วิธีเติมน้ำยาหล่อเย็นมีอะไรบ้าง ทำยากหรือเปล่า? คำตอบคือ “ไม่ยาก สามารถทำเองได้” แต่ต้องใช้ความระมัดระวังกันสักหน่อย ดังนี้
- เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นกะละมังใบใหญ่, กรวย และผ้า สำหรับจับกันความร้อน
- แนะนำให้เลือกน้ำยาหล่อเย็นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อผลที่ดีในการระบายความร้อน
- เริ่มถ่ายน้ำออก ด้วยการเอากะละมังไปรองใต้รถ เปิดหางปลาออกเพื่อถ่ายน้ำมันเก่าที่อยู่ในหม้อน้ำรถยนต์
- ล้างทำความสะอาด โดยปิดหางปลา เติมน้ำเปล่าลงไปให้เต็มก่อน จากนั้นปิดฝาหม้อน้ำรถยนต์ แล้วสตาร์ตรถประมาณ 5-10 นาที
- หลังจากครบ 5-10 นาทีแล้ว ให้ปล่อยน้ำออก จากนั้นล้างอีกประมาณ 2-3 รอบ หรือจนกว่าน้ำที่ปล่อยออกมาจะใสสะอาด แล้วจึงค่อยปิดหางปลา
- เมื่อล้างจนสะอาดแล้ว ให้เติมน้ำยาหล่อเย็นจนถึงปากหม้อน้ำรถยนต์ ติดเครื่องทิ้งไว้ จากนั้นเร่งเครื่องเพื่อไล่อากาศ พร้อมกับเติมน้ำยาลงไปจนเต็ม เมื่อเต็มแล้วให้ปิดฝา เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว
จริง ๆ แล้วการเติมน้ำยาหม้อน้ำสามารถเติมได้ตลอด หากพบว่ามันค่อย ๆ ลด หรืออยู่ในปริมาณน้อยกว่าที่กำหนด แต่ถ้าหากถามว่าควร “เปลี่ยน” ตอนไหน บอกไว้ก่อนว่ารถยนต์แต่จะรุ่นจะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาหล่อเย็นแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากคู่มือการใช้รถเป็นหลัก หากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป ควรเปลี่ยนที่ระยะทาง 60,000-150,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 3-10 ปี
หากต้องการให้รถยนต์ของคุณ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น การดูแลรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในส่วนของหม้อน้ำรถยนต์ น้ำยาหม้อน้ำ และพัดลมหม้อน้ำ จะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ดีมาก ๆ นอกจากนี้ยังควรศึกษาวิธีดูแลรถยนต์อื่น ๆ ร่วมด้วย เพียงเท่านี้จะช่วยให้รถยนต์ของคุณไร้ปัญหากวนใจแล้วล่ะ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
จุดเดือด | อุณหภูมิขณะที่ของเหลวมีความดันไอเท่ากับความดันบรรยากาศ ณ อุณหภูมินี้ ของเหลวจะเปลี่ยนสถานะเป็นไอได้ทั่วทั้งหมด |
ตะกรัน | ขี้ตะกอนแข็ง ๆ เม็ดเล็ก ๆ ที่จับเกรอะกรังอยู่ตามก้นภาชนะ เช่น กาต้มน้ำ, กากโลหะที่เหลือติดก้นเบ้า |
น้ำประปา | น้ำที่จ่ายผ่านก๊อกน้ำ วาล์วจ่ายน้ำ |