ไม่แปลกนักที่ความเชื่อในยุคก่อน มักมองว่ารถที่ดีต้องมีความแข็งแรงเป็นเลิศ และเมื่อชนรถต้องบุบหรือพังไม่มาก แต่ใครจะเข้าใจบ้างว่า เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนแล้วรถเสียหายเล็กน้อยนั้น บางทีผู้ขับขี่-ผู้โดยสารเองอาจมีการบาดเจ็บและหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้
บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้อย่างไรทั้งที่รถแข็งซะขนาดนั้น สิ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ชัดถึงอาการบาดเจ็บคือ ‘แรงกระแทก’ ที่ส่งมาโดยตรงถึงตัวผู้ขับหรือโดยสาร หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีอะไรมาช่วยซัพพอร์ตแรงนั่นเอง ซึ่งเมื่อมีแรงกระแทกมากเท่าไหร่คนในรถก็ยิ่งได้รับแรงกระแทกมากจากการถูกชนหนักไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตรถได้คิดค้นและติดตั้งสารพัดอุปกรณ์หลากระบบเพื่อความปลอดภัย เช่น ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย คานนิรภัยด้านข้าง เข้ามาช่วยบรรเทาหรือช่วยลดผลกระทบต่อคนมากที่สุด
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ารถรุ่นใหม่ ๆ เมื่อเกิดอุบัติเฉี่ยวชน แม้ไม่ใช่การชนหนักหรือถึงขั้นพลิกคว่ำ เราก็จะเห็นว่าหน้ารถ-ท้ายรถมักจะยู่ยับเยินจนคิดไปถึงว่าคนในรถไม่รอดแน่ ๆ แถมเชื่อสนิทไปเลยว่ารถรุ่นนี้รุ่นนั้นไม่ดีเหล็กบาง หรือไม่ก็เพราะต้องลดต้นทุนในการผลิตตัวถัง ชนแค่นิดเดียวทำไมพังเยอะขนาดนั้น
ทั้งที่ความจริงสภาพการยับยู่ที่เห็นจากภายนอกนั้น อาจมีส่วนจริงที่รถยนต์รุ่นใหม่ใช้เหล็กบางลงบางจุด แต่ไม่ใช่เพราะต้องการลดต้นทุน แต่เป็นเรื่องของการลดน้ำหนักมากกว่า ซึ่งมีการวิจัยมาแล้วว่า การใช้เหล็กหนา ๆ โดยไม่สนใจการออกแบบโครงสร้างที่ดี ก็ไม่ได้ช่วยซึมซับแรงกระแทกดีเท่ากับการใช้เหล็กบางกว่า แต่โครงสร้างดี น้ำหนักก็เบา ถึงเหล็กจะบางลง แต่ถ้าโครงสร้างดี ก็ไม่ได้ทำให้ความแข็งแรงลดลงไป
ส่วนเรื่องการยับยู่ ยุบมากหรือน้อยเมื่อเกิดการชน ก็เป็นเรื่องที่หลายคนมีความเข้าใจผิดอยู่ คนส่วนใหญ่รีบมองความยับยู่ยี่ว่ามาจากความบอบบาง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ย่นมากยู่มากอาจดีกว่าไม่ย่นเลยก็เป็นได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า ตัวถังรถยนต์ไม่ได้หนาแบบรถถัง เมื่อเกิดการชนย่อมต้องย่นยุบแน่ แต่การยุบนั้น ก็ควรจะยุบในส่วนที่ควรยุบ และคงสภาพในส่วนที่ไม่ควรยุบ
ให้นึกภาพหากมีการชนจากด้านท้าย ซึ่งตัวถังต้องเกิดการยุบตัวแน่ ๆ รถยนต์รุ่นหนึ่งซึมซับแรงกระแทกได้มากในส่วนเสาหลังจนถึงกันชน ยับยู่ยี่ตั้งแต่กันชนเข้ามาจนถึงล้อหลังหรือระจก ในขณะที่ห้องโดยสารยังคงรูป ประตูยังเปิดได้ โดยรวมแล้วดูยุบจนน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารถรุ่นนี้จะบอบบาง ตรงกันข้ามกลับเป็นรถยนต์ที่ออกแบบให้มีการซึมซับแรงกระแทกได้ดี ทั้งนี้เพื่อให้ห้องโดยสารคงรูปได้มากที่สุด ขณะเดียวกันกับรถยนต์อีกรุ่นหนึ่งถูกชนในลักษณะเดียวกัน แต่ตัวถังในส่วนเสาหลังจนถึงกันชนยุบเข้ามาน้อยมาก แรงกระแทกส่งเข้ามาสู่ห้องโดยสารจนเสียรูปถึงขั้นประตูเปิดไม่ออก หรือผู้โดยสารถูกแรงกระแทกอัดจนบาดเจ็บ ดังนั้นเมื่อพบเห็นหรือจะวิเคราะห์ถึงความปลอดภัยจากการยับย่นของตัวถัง ให้เน้นด้วยว่า ส่วนไหนที่ควรยุบไม่ควรยุบ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอะไรยุบเลย และห้องโดยสารเท่านั้นที่ควรได้รับแรงกระแทกและยุบตัวน้อยที่สุด
สรุปได้ว่ารถยุคใหม่ที่มีลักษณะด้านหน้า-ท้ายพังเยินยู่เมื่อเกิดการชน ไม่ได้หมายความรถรุ่นนั้น ๆ ไม่แข็งแรงหรือใช้วัสดุบางลง แต่เป็นเพราะตัวถังรถยนต์ช่วงด้านหน้า-ห้องเครื่องและด้านท้ายมีการออกแบบและคำนวณให้ยุบเพื่อช่วยซับแรง-กระจายแรงกระแทกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันห้องโดยสารก็ยังคงสภาพเดิมไว้มากที่สุด
สุดท้ายก็อย่าลืมให้ประกันจาก “รู้ใจ” อยู่เคียงข้างคุณหากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา จะได้ไม่ต้องกังวลใจด้วยประกันชั้น 1 การันตีราคาและความคุ้มครองดีที่สุดจากรู้ใจ