ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นหนึ่งประเภทรถที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าอีกไม่นานอาจจะเพิ่มขึ้นจนทดแทนรถสันดาปได้ ทว่าน้อยคนนักจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วรถพลังงานไฟฟ้ามีจุดเริ่มต้นมาอย่างยาวนาน กินเวลามากกว่า 140 ปี หากคุณสนใจ รู้ใจได้ลิสต์ประเด็นประวัติรถยนต์มาให้เรียบร้อยแล้ว รถไฟฟ้า EV มาจากไหน ใครคิดค้น ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันได้เลย
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร?
- รถไฟฟ้าในไทยมีกี่ประเภท?
- เปิดประวัติรถยนต์ไฟฟ้า ใครเป็นผู้คิดค้นคนแรก?
- คนไทยรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกเมื่อไหร่?
รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร?
รถไฟฟ้า EV ย่อมาจากคำว่า Electric Vehicle หมายความว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบ 100% ทำงานในรูปแบบเก็บพลังงานเอาไว้ในแบตเตอรี่ และสามารถชาร์จได้เรื่อย ๆ เป็นระยะ หรือตามรอบการใช้งาน หลังจากนั้นจะแปลงพลังงานแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อนรถ
และสิ่งที่ทำให้รถไฟฟ้าแตกต่างจากรถเครื่องยนต์สันดาปคือ ไม่ต้องมีกลไกในการทำงานที่ซับซ้อน แถมเครื่องยนต์ก็เงียบ ไม่มีควันไอเสียที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ตอบโจทย์สำหรับคนที่รักษ์โลกแบบสุด ๆ
รถไฟฟ้าในไทยมีกี่ประเภท?
ในปัจจุบันรถ EV ในไทย แบ่งตามประเภทและระดับเทคโนโลยี หลัก ๆ มีทั้งหมด 3 ประเภท โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันดังนี้
1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV)
เป็นรถพลังงานไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยเป็นการผสมผสานระหว่างเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จแบตเตอรี่ที่มีส่วนช่วยในการประหยัดน้ำมันได้ดีมาก ๆ
2. รถไฟฟ้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV)
PHEV เป็นรถไฟฟ้า EV ที่มีระบบน้ำมันและระบบไฟฟ้าเหมือนกับรถยนต์ไฮบริด แต่มีความพิเศษเหนือกว่าตรงที่ “สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้จากภายนอก” เพิ่มความสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น แถมยังวิ่งได้ไกลกว่ารถไฮบริด รวมถึงสามารถชาร์จไฟเพิ่มได้ตามต้องการ
3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบเชื้อเพลิงเดียว (Plug-in Electric Vehicles : PEVs)
PEVs คล้ายกับ PHEV แต่มีขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่กว่า แถมยังเป็น “แหล่งพลังงานเพียงอย่างเดียว” หากแบตหมดสามารถเสียบปลั๊กชาร์จประจุใหม่ได้ โดยแยกตามการใช้งานได้อีก 3 ประเภท ดังนี้
- ประเภทวิ่งระยะสั้น หรือละแวกใกล้เคียง
เนื่องจากมีช่วงการขับขี่ต่ำ แถมยังทำงานที่ความเร็วต่ำด้วยเช่นกัน
- ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV)
ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% ทำให้มีขนาดแบตค่อนข้างใหญ่ ชาร์จ 1 ครั้งสามารถวิ่งได้ไกล มีข้อเสียคือระยะทางในการวิ่งค่อนข้างจำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
- ประเภทเซลล์เชื้อเพลิง
ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน จากการเติมเชื้อเพลิงภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์โดยตรง
แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีประวัติรถยนต์ยาวนาน แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่ ทั้งในเรื่องของแบตเตอรี่รถไฟฟ้า EV อะไหล่ที่ยังราคาแพง ไปจนถึงความรู้ในการแก้ไขปัญหารถ ดังนั้นการมีประกันรถยนต์ไฟฟ้าคุ้มครองแบตรถ คุ้มครองรถและคุณยิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ต้องเสียเงินไปกับค่าซ่อมรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุแล้วแบตเสียหาย บอกเลยว่าค่าเสียหายอาจมากเท่าการซื้อรถมือสองได้เลย
เปิดประวัติรถยนต์ไฟฟ้า ใครเป็นผู้คิดค้นคนแรก?
หากจะย้อนกลับไปยัง “จุดเริ่มต้น” ของรถไฟฟ้า EV หลายคนต้องไม่เชื่อแน่ ๆ ว่ามันเริ่มต้นมาตั้งแต่ 140 ปีที่แล้ว โดยรถคันแรกเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1881 ถูกคิดค้นโดย Gustave Trouve นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้นำเสนอรถพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบของรถ 3 ล้อ ภายในงานแสดงสินค้านานาชาติ International Electrical Exhibition ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ยังเป็นเพียงแค่ “การโชว์” เท่านั้น
ต่อมาในปี ค.ศ.1884 Thomas Parker วิศวกรไฟฟ้า และนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ได้รับการกล่าวขานนามว่า “The Edison of Europe” เขาเป็นผู้พัฒนาระบบไฟฟ้าของรถไฟใต้ดินของกรุงลอนดอน และสายไฟสำหรับรถรางไฟฟ้าในเมือง Liverpool และ Birmingham
นอกจากนี้ยังสร้างรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จจากแบตเตอรี่ ที่ออกแบบเองในเมือง Wolverhampton ประเทศอังกฤษ น่าเสียดายที่ในท้ายที่สุดมันกลายเป็นเพียง “รูปถ่าย” จากในปี ค.ศ.1895 เท่านั้น แต่ยังถือว่าเหตุการณ์ทั้งสองของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง จนข้ามฝั่งไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย
รถไฟฟ้าคันแรกของโลกชื่อว่าอะไร?
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าจริง ๆ แล้วรถคันแรกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอยู่จริงหรือไม่? คำตอบคือ “มีอยู่จริง และมีของจริงด้วย” ซึ่งก็คือ Flocken Elektrowagen ถูกคิดค้นและผลิตโดย Andreas Flocken นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ.1888 ตัวรถให้กำลัง 0.9 กิโลวัตต์ (1 แรงม้า) วิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักตัวรถ 400 กิโลกรัม
ยุคทองของรถไฟฟ้า เกิดขึ้นในช่วงไหน?
หลังจากที่ทราบแล้วว่า รถคันแรกมีอยู่จริง และเคยเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง หลายคนอดสงสัยต่อไม่ได้ว่ารถพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น ๆ มี “ยุคทอง” ของตัวเองในช่วงไหน คำตอบคือช่วงปี ค.ศ.1890 – ค.ศ.1900 เพราะมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งจากฝั่งยุโรปและฝั่งอเมริกา
แต่น่าเสียดายที่ในช่วงเวลาเดียวกัน “รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นเชื้อเพลิง” ได้มีการพัฒนาให้สามารถวิ่งได้เร็ว ไกล และสะดวกสบายในการใช้งานที่มากกว่า โดยเฉพาะ “มอเตอร์สตาร์ตเครื่องยนต์” ทำให้รถยนต์ประเภทนี้กลับมาได้รับความสนใจอีกระลอก แถมในเรื่องของราคายังห่างกันมากถึง 7 เท่า เมื่อผู้คนหันมาสนใจรถเครื่องยนต์สันดาปมากขึ้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันต้องทยอยปิดตัว หรือหันไปทำกิจการอย่างอื่นแทน
รถพลังงานไฟฟ้ากลับมาเฉิดฉายอีกครั้งเมื่อไหร่?
หลังจากที่กระแสรถไฟฟ้า EV เริ่มถดถอย แต่ใช่ว่ามันจะหายไปตลอดกาล เพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลับมาตีตลาดได้อีกครั้ง เช่น achikawa Aircraft Company ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นบริษัท Prince Motor ก่อนถูกรวบกิจการโดย Datsun และ Nissan ในปี ค.ศ.1966
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังได้นำ Renault Dauphine มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดย Henney Kilowatt ซึ่งเดิมที่คือบริษัท Henney Motor Company ร่วมกับทาง Eureka Williams จากนั้นได้เข้ามาเป็นบริษัทในเครือของ National Union Electric Co. ในปี ค.ศ.1953 ริเริ่มโครงการโดย C. Russell Feldmann ที่ได้นำเอาแบตเตอรี่มาใส่ใน Renault Dauphine จำหน่ายในปี ค.ศ.1959 – ค.ศ.1960
และในยุค 70-90 มีผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายเจ้า หันมาพัฒนารถไฟฟ้าในรูปแบบ “รถยนต์ต้นแบบ” หรือทดลองใช้งานจริง และล่าสุดทาง Tesla มาเป็นผู้จุดประกายความโด่งดังให้กับรถพลังงานไฟฟ้าจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนกระทั่งในปี ค.ศ.2000 ได้มีผู้ผลิตรถยนต์หน้าเก่าและหน้าใหม่ขึ้นมากมายจนกระทั่งปัจจุบัน
คนไทยรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกเมื่อไหร่?
คนไทยรู้จักรถไฟฟ้า EV ในปี 2551 โดยมิตซูบิชิ (Mitsubishi) ได้นำเอารถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Mitsubishi i-MiEV (ไอ-เมียฟ) มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Motor Expo 2008 ที่ไทย ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกที่เข้ามาสู่ตลาดรถยนต์ของประเทศไทย ทำให้ชาวไทยที่หลงใหลในเรื่องรถยนต์ได้มีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก
และสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแห่งแรกเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2555 โดยการไฟฟ้านครหลวงได้เปิดตัวสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ คลองเตย กรุงเทพมหานคร และยังให้บริการชาร์จฟรีเป็นเวลา 1 ปี มีต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ 600,000 บาท (ที่มา: autoinfo.co.th)
ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยล่ะ? ว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีประวัติรถยนต์ที่ยาวนานมาก ๆ แต่ไม่ว่าช่วงเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน “ราคารถยนต์ไฟฟ้า” ก็แซงหน้ารถเครื่องยนต์สันดาปอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดสำคัญ ที่หลาย ๆ คันยังคงเลือกรถใช้น้ำมันที่ราคาถูกกว่า แถมอะไหล่หาง่ายกว่า
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
เซลล์เชื้อเพลิง | อุปกรณ์ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านกระบวนการทางเคมีไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนโมเลกุลไฮโดรเจนและออกซิเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ผ่านปฏิกิริยาการเผาไหม้ |
ระลอก | คลื่นลูกเล็ก ๆ , การวน, การขึ้น ๆ ลง ๆ |
เครื่องยนต์สันดาป | เครื่องยนต์ที่มีการระเบิดหรือเผาไหม้ส่วนผสมของเชื้อเพลิง |