หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจและอยากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า มุ่งหน้าสู่ความประหยัดและฟีเจอร์การใช้งานที่ครบกว่า นอกจากจะเลือกสเปคที่ชอบยังมีหนึ่งสิ่งที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ คือ ปัญหารถไฟฟ้า EV ที่มักพบเจอได้บ่อย และมีแต่คนใช้จริงเท่านั้นที่รู้แล้วออกมารีวิวรถไฟฟ้า
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- จำนวนผู้ผลิตและทางเลือกการซ่อมน้อย อะไหล่ราคาแพง
- ต้องแย่งกันชาร์จพลังงานไฟฟ้าในช่วงเทศกาล
- เสียเวลาชาร์จนาน
- ระยะทางในการขับขี่ ‘สั้นกว่า’ ที่ผู้ผลิตระบุไว้
- ต้องวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ
1. จำนวนผู้ผลิตและทางเลือกการซ่อมน้อย อะไหล่ราคาแพง
ปัจจุบันตลาดรถไฟฟ้าในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในมือผู้ผลิตไม่กี่ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเกิดใหม่จากประเทศจีน ในขณะที่แบรนด์เก่าแก่จากญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงในด้านความทนทาน, คุณภาพ, บริการหลังการขาย ฯลฯ ยังไม่ลงมาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรามีตัวเลือกที่ค่อนข้างจำกัด
และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หลายคนไม่ได้เกิดจากระบบไฟฟ้าโดยตรง แต่หลายคนก็ไม่อยากให้เกิด คือ “อุบัติเหตุ” เนื่องจากค่าซ่อมอะไหล่ของรถไฟฟ้า EV ค่อนข้างสูง และจะสูงขึ้นอีก อ้างอิงจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของการซ่อมแซมตัวถัง EV และแบตเตอรี่อุบัติเหตุร้ายแรงจะเพิ่มขึ้น 30%
ดังนั้นหากได้รับความเสียหายขึ้นมา โดยเฉพาะส่วนแบตเตอรี่ EV อาจต้องควักเงินก้อนใหญ่ในการซ่อมแซม การมีประกันรถยนต์ไฟฟ้าติดเอาไว้จะช่วยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงประกันรถยนต์ไฟฟ้ามักมีศูนย์ซ่อมในเครือ เรามีตัวกลางในการติดต่อจัดซ่อมรถให้ด้วย เราก็ไม่ต้องวุ่นวายเอง
2. ต้องแย่งกันชาร์จพลังงานไฟฟ้าในช่วงเทศกาล
แม้ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ครอบคลุมไปยังพื้นที่หลายจังหวัดแล้วก็ตาม แต่จำนวนตู้ชาร์จยังมีค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่คนส่วนใหญ่เดินทางพร้อมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความลำบาก และวุ่นวายมากกว่าเดิมแน่นอน
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าปัจจุบัน มีมากพอจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง?
ในปัจจุบันสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในไทยเติบโตมากขึ้น ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% จดทะเบียนแล้ว 161,359 คัน และมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริดอีกประมาณ 57,000 คัน ขณะที่สถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 จุด และมีหัวจ่ายชาร์จทั้งหมดราว 6,000 – 7,000 หัวจ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นที่ชาร์จรถไฟฟ้าแบบ Normal Charge ที่ใช้เวลาชาร์จ 4 – 16 ชั่วโมง เมื่อแบ่งรายภาคจะพบว่า
- ภาคกลาง คิดเป็น 57.8% มากที่สุด โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนสูงสุด
- ภาคอีสาน 11.43% มากที่สุดที่จังหวัดนครราชสีมา
- ภาคใต้ 9.33% มากที่สุดที่ภูเก็ต
- ภาคตะวันออก 9.06% มากที่สุดที่ชลบุรี
- ภาคเหนือ 7.44% มากที่สุดที่เชียงใหม่
- ภาคตะวันตก 4.87% มากที่สุดที่ประจวบคีรีขันธ์
ดังนั้นสำหรับคนที่จะเดินทาง อย่าลืมเช็คสถานีชาร์จ ระยะเวลาในการชาร์จ ป้องกันแบตรถยนต์ไฟฟ้าหมด เครื่องดับระหว่างการเดินทาง
3. เสียเวลาชาร์จรถไฟฟ้านาน
อย่างที่เรารู้กันดีว่า การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องมีการชาร์จไฟ ส่วนหนึ่งอาจคิดว่าหมดห่วงได้สำหรับคนที่มีเครื่องชาร์จที่บ้าน แต่บอกเลยว่าการชาร์จไฟต้องใช้เวลา และหากวันไหนที่ลืม ก็อาจไม่สามารถใช้รถได้หรือใช้ได้ในระยะทางที่จำกัด
และแม้จะมีระบบชาร์จด่วน DC เป็นตัวเลือก ที่สามารถชาร์จไฟถึง 80% โดยใช้เวลา 30-40 นาที ไม่รวมเวลาที่ต่อคิวหรือต้องเจอปัญหาอื่น ๆ หน้าตู้ชาร์จ เช่น เจ้าของรถไฟฟ้าคันก่อนหน้าจอดทิ้งไว้ ซึ่งก็ถือว่าใช้เวลานานอยู่ดีเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมัน นอกจากนั้นในความเป็นจริงแล้ว ตู้ชาร์จ DC แต่ละตู้ปล่อยกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่ไม่เท่ากัน บางตู้ปล่อยไฟสูงสุดได้ 120 kW แต่แบ่งออกเป็น 2 หัว หากมีรถสองคันชาร์จพร้อมกัน ก็ปล่อยได้สูงสุด ‘หัวละ’ 60 kW และถ้าหากในวันนี้มีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว การปล่อยไฟยิ่งลดลง ทำให้การชาร์จช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้
4. ระยะทางในการขับขี่ ‘สั้นกว่า’ ที่ผู้ผลิตระบุไว้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ระยะทางขับขี่ที่วิ่งได้” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่หลายคนนำมาเป็นข้อพิจารณาก่อนเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถไฟฟ้าที่สามารถขับขี่ได้ไกลกว่า จะช่วยลดความกังวลเรื่องแบตหมดระหว่างทางได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ระยะทางขับขี่ในการใช้งานจริงมัก ‘น้อยกว่า’ ที่ผู้ผลิตเคลมไว้เสมอ โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศ, ความเร็วในการขับขี่, น้ำหนักบรรทุก ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหารถไฟฟ้า EV ที่ผู้ใช้งานจริง หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตไม่เคยบอกคุณ
5. ต้องวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ
ก่อนเดินทางไกลด้วยรถยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องวางแผนเส้นทางอย่างรอบคอบ มั่นใจว่าจะมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าระหว่างทางเสมอ เพื่อเลี่ยงปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางทาง ซึ่งแตกต่างจากรถน้ำมันที่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันที ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม ขอเพียงแค่รถยนต์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเท่านั้น
การตัดสินใจเลือกซื้อรถไฟฟ้า EV โดยพิจารณาจากปัญหารถไฟฟ้า EV พร้อมเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของรถไฟฟ้า ถือเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากจะช่วยตอบคำถามว่ารถไฟฟ้าดีไหม ตอบโจทย์ความต้องการได้หรือไม่แล้ว ยังช่วยให้การตัดสินใจของคุณมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความรู้สึกไม่พึงประสงค์หลังซื้อได้เป็นอย่างดี
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ตู้ชาร์จ DC | เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยไฟฟ้ากระแสตรงโดยตรงเข้าสู่แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า ช่วยร่นระยะเวลาการชาร์จแบตรถ EV สามารถชาร์จแบตเตอรี่จาก 10% ถึง 80% ได้ในเวลาเพียง 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง |
มลพิษทางเสียง | เสียงที่มีระดับความดังมากกว่า 65 เดซิเบลขึ้นไป |