ใครจะเชื่อเพียงไม่กี่ปี รถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ได้เข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทย จนได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด รวมถึงมีการผลักดันให้ประเทศไทยกลายมาเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า EV ระดับภูมิภาค เนื่องจากพบว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ มีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้าง ตามรู้ใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- สถานการณ์ตลาดรถไฟฟ้าของไทยตอนนี้เป็นยังไง?
- คนไทยซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน?
- ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนของยานยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่?
- จุดแข็งของไทย หากก้าวเป็น HUB การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
- ความท้าทายที่ไทยเสียเปรียบ หากก้าวเป็น HUB การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
สถานการณ์ตลาดรถไฟฟ้าของไทยตอนนี้เป็นยังไง?
กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตอนนี้ ถือว่าน่าจับตามองมาก ๆ โดยเฉพาะการเปิดตัวรถไฟฟ้า EV ในเมืองไทยจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำ ที่เข้ามาบุกตลาดเพื่อแข่งขันกันอย่างดุเดือด เมื่อบวกกับมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้ประชาชน เริ่มหันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ของประเทศไทยคึกคักเป็นเท่าตัว ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ความเชื่อมั่นต่อรถยนต์ไฟฟ้า
เหตุผลหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อรถไฟฟ้า รวมถึงตัวค่ายรถยนต์ การใช้งาน เทคโนโลยี และการรับประกันหลังการขาย ที่ช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคในระยะยาว จึงทำให้ตลาดรถไฟฟ้า EV เติบโตอย่างเห็นได้ชัด
กฤษฎา อุตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ตลาดรถยนต์ EV เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และจากการคาดการณ์นั้น คาดว่าในปี 2025 หรือปี 2568 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอาจจะพุ่งถึง 225,000 คัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเช่นกัน”
คนไทยซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน?
รถ EV ในไทยเป็นที่นิยมมากแค่ไหน คำถามนี้ต้องอ้างอิงจากสถิติยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV สูงถึง 76,538 คัน เพิ่มขึ้นถึง 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2565 หรือคิดเป็น 11.6% ของยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าทุกประเภท กระแสความนิยมของรถพลังงานไฟฟ้ายังต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2567 โดยภายใน 6 เดือนก็มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า EV ที่ 36,501 คัน ซึ่งหากเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 สูงขึ้น 15.82% เลยทีเดียว นั่นแปลว่ามีแนวโน้มที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% จะมีโอกาสเติบโตในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า รวมไปถึงความนิยมและจำนวนสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
2. มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับรถ
หนึ่งในข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าคือการใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับตัวรถ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้เลยคือรถไฟฟ้าหลาย ๆ รุ่นมักมีโหมดขับขี่ให้ผู้ใช้งานได้เลือกตามพฤติกรรมการขับขี่ ตามแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เมื่อบวกกับเสียงรบกวนที่น้อยกว่า ยิ่งทำให้ผู้ขับขี่สามารถใช้งานรถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากการใช้รถยนต์สันดาป จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ คนหันมาเลือกใช้รถ EV ในไทย ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตมากยิ่งขึ้น
3. รถยนต์ไฟฟ้าช่วยลดค่าใช้จ่ายระยะยาว
ที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่จับต้องได้ยาก แต่ในปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เนื่องจากราคารถไฟฟ้า EV ถูกปรับลงพอสมควร ทำให้หลาย ๆ คนมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกใช้รถที่เหมาะสมต่อการใช้งาน และงบประมาณในกระเป๋า เพื่อนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว
จากผลสำรวจการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมกับ นิด้าโพล “จากการสำรวจความเห็นและพฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้หันมาซื้อรถยนต์ EV คือ ราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกมากกว่าราคาน้ำมัน”
ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทำให้หลาย ๆ คนหันมาเลือกใช้รถไฟฟ้า EV กันมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ “ประกันรถยนต์ไฟฟ้า” ที่จะช่วยคุ้มครองรถไฟฟ้าของคุณ แนะให้เลือกประกันที่มีความคุ้มครองแบตเตอรี่ รวมไปถึงเลือกคุ้มครองที่ชาร์จติดผนังได้ด้วย เพราะแบตเตอรี่เป็นส่วนที่มีราคาสูงและหัวใจของรถ EV หากพังหรือเสียหายขึ้นมาค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตราคาไม่น้อยเลย
ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนของยานยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า EV มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก หากไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ และดึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเทรนด์การลงทุน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งขับเคลื่อนโดยเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตลาดทั่วโลก จึงทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่จะเป็น HUB สำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งประเทศต่าง ๆ พยายามนำเสนอจุดแข็งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก
จุดแข็งของไทย หากก้าวเป็น HUB การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
คำถามที่ว่า “ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนของยานยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่” หรืออุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยจะจบไปพร้อมกับการค่อย ๆ หายไปของรถเครื่องยนต์สันดาป แต่จากความแข็งแกร่งของประเทศไทย ดังนี้
1. ที่ตั้ง
ประเทศไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา ทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ของการเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกรถไปยังกลุ่มประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงมีประสบการณ์ในการสร้างระบบการผลิต และส่งออกมาอย่างยาวนานในอุตสาหกรรมยานยนต์
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยมีท่าเรือแหลมฉบังซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับการขนส่งรถยนต์ได้ 2 ล้านคันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อไป ในปี พ.ศ.2568 เมื่อเฟส 3 เปิดดำเนินการ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงภูมิภาค
3. ปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศ
ปัจจุบันระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีหลังงานสำรองสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
4. ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
จากจุดแข็งของประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งในเรื่องของความพร้อมด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐานพลังงานทำเลที่ตั้ง ที่เอื้อต่อการส่งออก ซัพพลายเชนเดิมที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญคือความกระตือรือร้นของคนไทยที่ต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ ทั้งจีน ยุโรป และอเมริกา เลือกเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวนมาก นำโดยค่ายรถจากจีน ได้แก่ MG, BYD, GWM, NETA V, Foxconn เป็นต้น
ความท้าทายที่ไทยเสียเปรียบ หากก้าวเป็น HUB การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
KKP Research ระบุว่ามูลค่าเพิ่มหลักกว่า 30% ของรถยนต์ไฟฟ้า คือ Li-lon Battery หรือแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งไทยแทบไม่มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน และเสียเปรียบคู่แข่งในหลายมิติ ดังนี้
1. ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน
เนื่องจากการผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันจีนครอบครองการผลิตจำนวนมาก โดยบริษัท CALT ในจีนครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% สะท้อนข้อจำกัดในการเข้าตลาดสำหรับคู่แข่งรายใหม่
2. อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
ด้วยความที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นแหล่งนิกเกิล (Nickel) ที่สำคัญของโลกมากถึง 30% ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า และตลาดที่ใหญ่กว่า ทำให้เริ่มเห็นหลายบริษัท เช่น Hyundai Motor และ LG Energy Solution ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับสองของโลก เริ่มเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศไทย จะถูกกระทบต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่แค่เฉพาะบริษัทประกอบรถยนต์ แต่รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ที่ยังมีค่อนข้างจำกัดในประเทศไทยด้วย
จากข้อมูลคร่าว ๆ ที่เรารวบรวมมาให้ในวันนี้ ลึก ๆ แล้วประเทศไทยสามารถช่วงชิงฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนได้ เพราะเดิมทีก็มีการเติบโต และมีจุดแข็งที่เป็นต่ออยู่พอสมควร แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ว่าจะสามารถไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการ “กระตุ้นเตือน” ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งหาแนวทางขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ธรรมาภิบาล | การปกครอง การบริหาร การจัดการการ ควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม |
HUB | จุดศูนย์กลาง |
ยุทธศาสตร์ | มีความสำคัญด้านการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบ ทั้งในยามสงบ และยามสงคราม |
ซัพพลายเชน | เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคู่ค้าของบริษัทในการผลิตและส่งมอบสินค้า ที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนของการได้มาซึ่งสินค้าตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า |