หลายคนอาจทำประกันหลายจากหลายบริษัท ทั้งกรมธรรม์รถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ จนอาจหลงลืมใบกรมธรรม์ไปบ้าง และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์กรมธรรม์หาย สิ่งที่ตามมาติด ๆ แน่นอนว่าต้องเป็น “ความเครียด” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเก็บมาเครียดหรือกังวลอะไรมากเลย แค่เตรียมเอกสารให้พร้อม และดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
- กรมธรรม์ คืออะไร?
- ข้อมูลสำคัญในกรมธรรม์มีอะไรบ้าง?
- กรมธรรม์หาย ต้องทำยังไง?
- กรมธรรม์หายจะมีผลอะไรตามมามั้ย?
- เช็คข้อมูลกรมธรรม์ประกันที่ทำไว้ จากที่ไหนได้บ้าง?
- เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับยื่นตรวจสอบประกันของคุณมีอะไรบ้าง?
- ข้อดีของการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย คืออะไร?
- รู้มั้ย? ข้อมูลในกรมธรรม์แจ้งเปลี่ยนแปลงได้
แต่ถ้าหากคุณยังพะว้าพะวัง กลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ รู้ใจจะพาไปทำความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำวิธีรับมือและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้คุณกลับมาได้รับความคุ้มครองตามเดิม
กรมธรรม์ คืออะไร?
“กรมธรรม์ (Policy)” คือ เอกสารทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัย โดยภายในเอกสารจะกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง ที่บริษัทประกันจะให้กับผู้เอาประกันภัย ตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ ตามปกติจะประกอบไปด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
ข้อมูลสำคัญในกรมธรรม์มีอะไรบ้าง?
- ข้อมูลส่วนบุคคล: รายละเอียดข้องผู้เอาประกันและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อ, ที่อยู่, วันเกิด และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ
- รายละเอียดความคุ้มครอง: เช่น ประเภทของประกัน, ระยะเวลาคุ้มครอง, จำนวนเบี้ยประกัน, ส่วนสูงที่คุ้มครอง และเงื่อนไขความคุ้มครองต่าง ๆ
- ค่าใช้จ่ายและเบี้ยประกัน: เช่น การชำระค่าเบี้ยประกัน, ระยะเวลาการชำระเบี้ย และวิธีการชำระเงิน
- เงื่อนไขและข้อจำกัด: เช่น รายละเอียดเงื่อนไขและข้อจำกัดของการคุ้มครอง รวมถึงข้อยกเว้นที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง
- สิ่งที่คุ้มครอง: รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่คุ้มครองในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเงื่อนไขการเรียกร้องความคุ้มครอง
- ข้อยกเว้นประกันภัย: รายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทประกันภัยไม่ให้ความคุ้มครอง และเงื่อนไขการยกเลิก
กรมธรรม์หาย ต้องทำยังไง?
1. แจ้งเจ้าหน้าที่ขอสำเนาไฟล์กรมธรรม์
หลังจากแจ้งเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งไฟล์เอกสารสำเนากรมธรรม์ตัวจริงมาให้คุณ โดยสามารถนำไปใช้ ‘แทน’ กรมธรรม์ตัวจริงได้ตามปกติ
2. ขอกรมธรรม์ตัวจริงฉบับใหม่
กรณีต้องการขอกรมธรรม์ตัวจริงฉบับใหม่ สามารถติดต่อบริษัทประกันภัยที่เป็นผู้ให้ความคุ้มครองในการยื่นเรื่องขอสำเนากรมธรรม์ใหม่ได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน) โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
- นำใบแจ้งความส่งให้เจ้าหน้าที่ พร้อมบัตรประชาชน
- ชำระค่าธรรมเนียมเพื่อขอกรมธรรม์ฉบับใหม่
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขอกรมธรรม์ฉบับใหม่ มีอะไรบ้าง ?
- ใบแจ้งความกรณีทำกรมธรรม์หาย โดยจะต้องระบุชื่อบริษัทและเลขที่กรมธรรม์ ที่สำคัญ “ผู้เอาประกันจะต้องเป็นผู้แจ้งความด้วยตัวเอง”
- แบบฟอร์มในการแจ้งกรมธรรม์หายหรือใบแทนกรมธรรม์จากบริษัทประกัน
- กรณีกรมธรรม์ชำรุด ต้องแสดงฉบับที่ชำรุดที่ต้องการขอออกกรมธรรม์ฉบับใบแทน
- ชำระเงินในการยื่นขอกรมธรรม์ใหม่ (ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกัน)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่น ๆ โดยผู้เอาประกันจะต้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
รู้มั้ย? ข้อมูลในกรมธรรม์ผิดแจ้งเปลี่ยนแปลงได้
ผู้เอาประกันสามารถทำเรื่องเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่าง ๆ ในกรมธรรม์ได้ เช่น ที่อยู่, ชื่อ-สกุล, ผู้รับผลประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการใกล้เคียงกับกรณีกรมธรรม์หายที่ต้องขอเอกสารใหม่ มีการกรอกแบบฟอร์มเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมธรรม์ แนบเอกสารประกอบ แตกต่างเพียงไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความ สามารถทำเรื่องโดยตรงกับทางบริษัทประกันได้เลย
กรมธรรม์หายจะมีผลอะไรตามมามั้ย?
สิ่งที่ผู้เอาประกันควรรู้และทำความเข้าใจเอาไว้เมื่อกรมธรรม์หาย คือ “ผลที่ตามมา” เพราะทันทีที่กรมธรรม์หาย ไม่ว่าจะเป็น กรมธรรม์รถยนต์, สุขภาพ หรือใด ๆ ก็ตาม มักมีผลต่อ “ความคุ้มครอง” และความสามารถในการทำรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทำประกันภัยของคุณ ซึ่งผลที่ตามมาต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์ของกรมธรรม์นั้น ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การต่ออายุกรมธรรม์
กรณีที่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์ แต่ปรากฏว่ากรมธรรม์หาย อาจต้องใช้เวลาในการขอเปิดเผยข้อมูลและการขอต่ออายุใหม่ หมายความผู้เอาประกันจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูล และพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากกรมธรรม์เดิมที่ใช้เป็นหลักฐานได้หายไปแล้ว นอกจากนี้ยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือมีเงื่อนไขใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย (ขึ้นอยู่กับบริษัท)
2. การเรียกร้องความคุ้มครอง
กรณีที่ต้องการเรียกร้องความคุ้มครอง แต่ไม่มีหลักฐานสำคัญอย่างกรมธรรม์เดิม ผู้เอาประกันจะต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบ พร้อมกับขอสร้างเอกสารแทนที่ ส่งผลให้กระบวนการเรียกร้องความคุ้มครองเกิดความล่าช้า
3. การยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
อีกหนึ่งกรณีที่ได้รับผลกระทบ หรือทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้า คือ การยกเลิกกรมธรรม์ หมายความว่าผู้เอาประกันจะยังคงสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ตามต้องการ แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในข้อตกลง
เช็คกรมธรรม์ประกันที่ทำไว้ จากที่ไหนได้บ้าง?
สำหรับผู้เอาประกันที่ถือกรมธรรม์หลายฉบับ และต้องการตรวจสอบว่าตัวเองทำประกันอะไร และกับบริษัทไหนไว้บ้าง ทั้งกรมธรรม์รถยนต์ สุขภาพ รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต และกรณีทำกรมธรรม์หายนั้นสามารถเช็คและตรวจสอบข้อมูลได้อย่างสะดวกสบาย ผ่าน 3 ช่องทางดังนี้
1. ช่องทางออนไลน์
ช่องทางออนไลน์ถือเป็นช่องทางที่สะดวกสบายมากที่สุด ซึ่งผู้เอาประกันสามารถตรวจสอบได้จาก “ฟังก์ชันกรมธรรม์ของฉัน หรือ My Policy” ทำได้ง่าย ๆ ผ่าน Line Official Account ของ “คปภ.รอบรู้” โดยมีขั้นตอนดังนี้
- LINE Official Account @OICConnect เป็นเพื่อน
- ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน ด้วยการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมภาพของผู้เอาประกันคู่กับบัตร
- กรอกเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน เพื่อขอรับรหัส OTP ผ่านทาง SMS สำหรับยืนยันตัวตน
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย สามารถตรวจสอบกรมธรรม์ทั้งหมดได้ทันที
2. ยื่นเรื่องกับสำนักงานคปภ.
ผู้เอาประกันที่ต้องการเดินเรื่องด้วยตัวเอง สามารถยื่นเรื่องตรวจสอบที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(ค.ป.ภ.) ได้โดยตรง ด้วยการโทรไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือยื่นคำร้องตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอที่เว็บไซต์ ค.ป.ภ.
- กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อ พร้อมแนบหลักฐานประกอบการยื่นคำร้อง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำร้อง
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
- สำเนาทะเบียนรถ
- หลักฐานอื่น ๆ เช่น หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อ, ทะเบียนสมรส เป็นต้น
- นำแบบฟอร์มและเอกสารทั้งหมดส่งในอีเมล
3. ยื่นเรื่องกับฐานข้อมูลกลางประกันภัย
อีกหนึ่งช่องทางตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก คือ การยื่นเรื่องกับฐานข้อมูลกลางประกันภัย (TID) ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าแนท จำกัด โดย TID ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยทุกประเภทในประเทศไทยนั่นเอง
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับยื่นตรวจสอบประกันของคุณมีอะไรบ้าง?
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการยื่นขอตรวจสอบประกัน แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
- กรณีผู้ทำประกันต้องการยื่นคำร้อง
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำร้อง
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้อง
- กรณีผู้รับผลประโยชน์ไม่ทราบว่าคนใกล้ชิดทำประกันชีวิตไว้หรือไม่
- ใบมรณบัตรของผู้เสียชีวิตที่ต้องการตรวจสอบ
- สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำร้อง
ข้อดีของการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย คืออะไร?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการตรวจสอบหรือการเข้าถึงข้อมูลการทำประกันได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันแล้ว ยังช่วยให้ผู้ที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยหลายฉบับ สามารถวางแผนการต่ออายุหรือการซื้อประกันเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ยังช่วยวางแผนการเงินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในส่วนของ “การชำระค่าเบี้ยประกัน” รวมถึงผู้เอาประกันหรือคนใกล้ตัวที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ประกันสามารถตรวจสอบ ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย
เมื่อคุณเจอเหตุการณ์นี้ จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เนื่องจากสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอกรมธรรม์ฉบับใหม่แทนที่กรมธรรม์หายได้ แต่อาจจะเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความคุ้มครองแม้แต่นิดเดียว แถมขั้นตอนก็ไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อน ขอย้ำอีกครั้งว่า “กรมธรรม์หาย แต่ความคุ้มครองยังคงอยู่”
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ข้อมูลกรมธรรม์ | ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักในการอ้างอิงหรือคำนวณที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ |
ฐานข้อมูลกลางประกันภัย | บริษัทที่ทำหน้าที่รวมฐานข้อมูลกลางด้านการรับประกันของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศ ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จำกัด หรือ Thai Insurers Datanet Co.,Ltd. คำย่อ TID |
ค.ป.ภ. | ย่อมาจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หน่วยงานของภาครัฐที่อยู่ในฐานะนิติบุคคลที่ดำเนินดูแล ตรวจสอบ ช่วยเหลือผู้ทำประกันภัยในด้านสิทธิประโยชน์ให้ครบคลุมครบถ้วนในเงื่อนไขของกรมธรรม์ |
ชำรุด | ลักษณะการเสียหายจากสภาพเดิมที่เป็น จนเปลี่ยนแปลงไปสู่การบกพร่อง เสื่อมสภาพ ตัวอย่างเช่น กรมธรรม์ชำรุด เอกสารชำรุด |