สำหรับใครที่กำลังเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ ไม่ว่าจะประเภทไหน ๆ คงเคยได้ยินหรือเห็นคำว่า กรมธรรม์ ผ่านหูผ่านตามาพอสมควร แน่นอนว่าได้ยินบ่อยแต่มีน้อยคนที่จะเข้าใจความหมายของคำว่ากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์อย่างแท้จริง มาดูกันว่าเราควรอ่านส่วนไหนของกรมธรรม์บ้าง ลองหาเวลา แล้วทำตามวิธีตรวจสอบกรมธรรม์อย่างละเอียดไปด้วยกัน
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- กรมธรรม์ประกันภัย คืออะไร?
- เมื่อเช็คกรมธรรม์แล้วพบว่าข้อมูลผิด ทำยังไงได้บ้าง?
- 8 จุดสำคัญที่ควรเช็คในกรมธรรม์ มีอะไรบ้าง?
- หากต่อประกันรถยนต์กับบริษัทเดิม ต้องอ่านกรมธรรม์อีกมั้ย?
กรมธรรม์ประกันภัย คืออะไร?
กรมธรรม์ประกันภัย คือ เป็นเอกสารระหว่างบริษัทประกันภัยหรือผู้ให้บริการประกันภัย ที่มีให้กับบุคคลหรือธุรกิจ ในสัญญานี้ บริษัทประกันภัยจะมอบความรับผิดชอบทางการเงิน หากเกิดอุบัติเหตุที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองนี้ ตัวกรมธรรม์จะมีการระบุเงื่อนไขข้อตกลง ความเสี่ยง รายละเอียดความคุ้มครอง ค่าลดหย่อน (ถ้ามี) การยกเว้น จำนวนเงินเอาประกันภัย และค่าเบี้ยประกันภัยที่คุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับความคุ้มครอง
ในปัจจุบันสามารถขอรับเป็นเอกสารกรมธรรม์ส่งตรงถึงหน้าบ้าน หรือรับเป็น “กรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Policy” ผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เงื่อนไขต่าง ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ความคุ้มครองก็ด้วย สามารถนำหลักฐาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ยื่นเคลมประกันได้ ไม่มีปัญหา
โดยกรมธรรม์อยู่ในรูปแบบของหนังสือที่ใช้เป็นหลักฐานในการทำสัญญา ภายในกรมธรรม์ประกอบไปด้วยรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อระบุเงื่อนไขในความคุ้มครอง ดังนี้
- ความครอบคลุมของประกันรถยนต์
- การเพิ่มและลดค่าเบี้ยประกันรถ
- การจ่ายค่าสินไหมทดแทน
- ระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันต้องอ่าน และทำความเข้าใจเงื่อนไขกรมธรรม์ ให้ดี ทั้งความคุ้มครองที่ครอบคลุม หรือข้อเว้นในการรับประกัน ที่สำคัญควรเช็คกรมธรรม์ให้ดี ว่ามีข้อมูลส่วนไหนผิดพลาดหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา
เมื่อเช็คกรมธรรม์แล้วพบว่าข้อมูลผิด ทำยังไงได้บ้าง?
หากเช็คกรมธรรม์ดีแล้ว และพบว่าข้อมูลในกรมธรรม์ประกันภัยผิด เช่น ควรรีบติดต่อไปยังบริษัทประกันฯ หรือนายหน้าที่คุณติดต่อด้วยทันที เนื่องจากทางบริษัทประกันรถหรือนายหน้าจะต้องออกใบสลักหลังกรมธรรม์ใหม่ที่มีข้อมูลถูกต้องให้คุณอีกครั้ง จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เอาประกันทุกคนควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของคุณเอง
8 จุดสำคัญที่ควรเช็คในกรมธรรม์ มีอะไรบ้าง?
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังจะทำประกันรถยนต์ ที่ให้ความคุ้มครองอย่างครอบคลุม ตอบโจทย์ สิ่งที่ต้องพิจารณาในเงื่อนไขกรมธรรม์หลัก ๆ มีทั้งหมด 8 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
1. เลขกรมธรรม์
คือ เลขสำหรับนำไปอ้างอิงในการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับประกันภัย เช่น การขอเคลมประกันรถยนต์ หรือการยกเลิกสัญญา และเมื่อจำเป็นต้องแจ้งเลขที่กรมธรรม์ หากเราจำไม่ได้วิธีเช็คเลขกรมธรรม์ที่ง่ายที่สุดคือการตรวจสอบเลขกรมธรรม์จากในกรมธรรม์รถยนต์ที่ได้มา หรือหากทำประกันที่รู้ใจก็สามารถตรวจสอบผ่าน Roojai Mobile App ได้ด้วยเช่นกัน
2. ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย
เราควรตรวจสอบให้ดีทั้งชื่อ-นามสกุล อาชีพ ที่อยู่ปัจจุบัน หากเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ก็ควรตรวจสอบชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และอาชีพของผู้ขับขี่ด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ควรถูกต้องทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในตอนแจ้งเคลมประกัน
3. ข้อมูลรถคันที่ทำประกันรถยนต์
โดยข้อมูลในกรมธรรม์รถยนต์ควรระบุยี่ห้อ รุ่น ทะเบียน เลขตัวถัง ปี และรายละเอียดอื่น ๆ ที่ถูกต้อง เพราะถ้าหากรายละเอียดของรถไม่ตรงกัน ข้อมูลกรมธรรม์ผิด อาจทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอน การขอเคลมประกันรถได้
4. รายละเอียดความคุ้มครองและวงเงิน
รายละเอียดจะประกอบไปด้วย ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ตัวรถยนต์ และความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย โดยจะระบุรายละเอียดความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมถึงวงเงินสูงสุดที่จะคุ้มครองความเสียหายในแต่ละครั้ง ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบรายละเอียดตรงนี้อย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกัน
5. ค่าใช้จ่ายและเบี้ยประกันภัยรถยนต์
โดยระบุค่าเบี้ยประกันภัยตามความคุ้มครองหลัก การหักส่วนลดในกรณีระบุตัวผู้ขับขี่ เบี้ยประกันตามเอกสารแนบท้าย รวมถึงส่วนลดอื่น ๆ เช่น ส่วนลดกลุ่ม ลูกค้าประวัติดีไม่มีเคลม จากนั้นจะมีการสรุปเบี้ยประกันสุทธิ อากรแสตมป์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเบี้ยประกันรวมที่จะต้องจ่ายจริง
6. เงื่อนไขกรมธรรม์และข้อจำกัดต่าง ๆ
ภายในกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุเงื่อนไขกรมธรรม์ และความคุ้มครองแต่ละประเภทของแต่ละบริษัทอย่างละเอียด ซึ่งส่วนที่ควรศึกษาอย่างละเอียดคือข้อยกเว้น กรมธรรม์ เช่น ไม่คุ้มครองการใช้รถนอกราชอาณาจักร หรือการใช้รถในการทำผิดกฎหมาย เป็นต้น
7. นโยบายการเวนคืนกรมธรรม์
เงื่อนไขตรงนี้จะระบุรายละเอียดทั้งในกรณีที่บริษัทเป็นผู้บอกเลิกสัญญา และผู้เอาประกันเป็นผู้บอกเลิก รวมถึงระบุอัตราการคืนเบี้ยประกันภัยก่อนสิ้นสุดสัญญาอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญหากคุณต้องการเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อจะได้รู้ว่าจะได้รับเงินคืนเท่าไหร่
8. ความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย
เป็นรายละเอียดของความคุ้มครองเพิ่มเติมว่ามีอะไรบ้าง และสามารถเคลมประกันรถยนต์ได้ในกรณีใดบ้าง โดยจะมีความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ เช่น การประกันตัวผู้ขับขี่ การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นต้น
หากต่อประกันรถยนต์กับบริษัทเดิม ต้องอ่านกรมธรรม์อีกมั้ย?
หนึ่งในประเด็นที่ผู้เอาประกันหลายคนเกิดความสงสัย ว่าถ้าหากตัดสินใจต่อประกันรถยนต์กับบริษัทเดิม ไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 หรือชั้นไหน ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องทำความเข้าใจหรืออ่านเงื่อนไขกรมธรรม์หรือไม่? คำตอบคือ “จำเป็น” เพราะข้อมูลในกรมธรรม์ไม่เพียงแต่จะระบุรายละเอียดความคุ้มครอง ข้อยกเว้นเท่านั้น แต่การเช็คกรมธรรม์ให้ดีก่อนทุก ๆ ครั้ง จะช่วยป้องกันความผิดพลาดของข้อมูล ที่อาจทำให้คุณเสียประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อต้องการเคลมประกันรถในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอย้ำอีกครั้งว่ารายละเอียดกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เป็น “ข้อมูลสำคัญ” ที่ผู้เอาประกันทุกคนไม่ควรมองข้าม และควรทำความเข้าใจเงื่อนไขกรมธรรม์อย่างละเอียดตั้งแต่ “ก่อน” ทำประกัน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง และเมื่อทำประกันรถยนต์จนได้รับใบกรมธรรม์มาแล้ว ก็ควรรีเช็คอีกสักรอบเผื่อว่ามีข้อมูลตรงไหนผิดพลาด จะได้แก้ไขและขอใบสลักหลังกรมธรรม์ได้ทันที
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
สลักหลังกรมธรรม์ | เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ที่บริษัทประกันรถยนต์ออกให้กับผู้เอาประกันอีก 1 รอบ เพื่อให้ผู้เอาประกันเก็บเอาไว้ที่ตัวเอง 1 ฉบับ และบริษัทฯ เก็บเอาไว้อีก 1 ฉบับ ซึ่งข้อมูลในใบสลักหลังกรมธรรม์จะเป็นข้อมูลที่ถูกแก้ไขให้ถูกต้อง ตามที่ผู้เอาประกันแจ้งเรื่องมายังบริษัทฯ |
อากรแสตมป์ | ดวงตราที่ปิดทับ ดุน หรือพิมพ์บนกระดาษ เพื่อใช้เป็นค่าอากรตามประมวลรัษฎากร |
เวนคืนกรมธรรม์ | การที่ผู้เอาประกันภัยขอยกเลิกกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่กำหนดอยู่ในตารางกรมธรรม์ |